Gastroschisis

ความหมาย Gastroschisis

Gastroschisis เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของผนังหน้าท้องในทารกแรกคลอดที่ปิดไม่สนิท ทำให้ลำไส้ของทารกออกมาอยู่นอกช่องท้อง และอาจมีอวัยวะภายในอื่น ๆ ออกมาด้วยในบางกรณี ซึ่งทารกที่มีภาวะนี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะกลับเข้าสู่ร่างกายโดยเร็วที่สุดเนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

โดยปกติแล้ว ระหว่างการพัฒนาส่วนต่าง ๆ ในร่างกายของทารกในครรภ์ ลำไส้และอวัยวะอื่น ๆ จะเติบโตด้านนอกร่างกายก่อนแล้วจึงสร้างผนังหน้าท้องคลุมขึ้น เพื่อให้อวัยวะกลับเข้าสู่ร่างกายในเวลาต่อมา แต่ทารกที่มีภาวะ Gastroschisis จะสร้างผนังหน้าท้องนี้ไม่สมบูรณ์ ทำให้มีลำไส้หรืออวัยวะอื่นไม่กลับเข้าไปเจริญเติบโตในร่างกาย มีช่องโหว่บนหน้าท้องและมีอวัยวะส่วนต่าง ๆ โผล่ออกมา

Gastroschisis

อาการของ Gastroschisis 

ทารกที่มีภาวะ Gastroschisis จะมีช่องโหว่บริเวณผนังหน้าท้องใกล้กับสะดือ ส่งผลให้ลำไส้โผล่ออกมา ส่วนมากจะเกิดช่องโหว่ทางด้านขวาของสะดือ มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยลำไส้ที่โผล่ออกมาจะไม่มีถุงหรือเยื่อหุ้มล้อมรอบ ส่งผลให้เกิดความระคายเคืองได้ง่ายจนอาจทำให้ลำไส้บวมหรือบิด รวมทั้งอาจส่งผลให้ทารกมีภาวะตัวเย็นเกินจากอุณภูมิของร่างกายที่ลดต่ำลงและมีภาวะขาดน้ำ

ในกรณีที่ช่องโหว่มีขนาดใหญ่อาจทำให้อวัยวะอื่น ๆ โผล่ออกมาด้วย เช่น กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี มดลูก รังไข่ ลูกอัณฑะ หรือกระเพาะปัสสาวะ ทั้งนี้ หากลำไส้ของทารกได้รับความเสียหายก็อาจมีปัญหาด้านการดูดซึมอาหารในเวลาต่อมาได้

สาเหตุของ Gastroschisis 

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดภาวะ Gastroschisis ได้อย่างชัดเจน แต่คาดว่าภาวะดังกล่าวอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การรับประทานอาหารหรือการใช้ยาขณะตั้งครรภ์ของมารดา

นอกจากนี้ แพทย์คาดว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงของมารดาที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะ Gastroschisis ในทารก เช่น การตั้งครรภ์ขณะมีอายุต่ำกว่า 20 ปี การสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ การขาดสารอาหาร หรือการใช้ยาเสพติด เป็นต้น

การวินิจฉัย Gastroschisis

โดยทั่วไปแล้ว อาการดังกล่าวจะไม่แสดงความผิดปกติผ่านทางสุขภาพร่างกายของมารดาขณะตั้งครรภ์ แต่แพทย์อาจตรวจพบได้จากการตรวจเลือด โดยวัดจากระดับของโปรตีนที่ชื่อว่า อัลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein, AFP) ในเลือดของมารดาในช่วงสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ หากมีระดับโปรตีนสูงกว่าปกติ ทารกมักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Gastroschisis หรือแพทย์อาจจะทำอัลตราซาวด์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของทารก 

แต่ในกรณีที่มารดาไม่ได้ตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ แพทย์อาจวินิจฉัยได้หลังการคลอดทันที เนื่องจากสามารถเห็นอาการได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม มารดาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อตัวมารดาและทารก

การรักษา Gastroschisis

หากพบว่าทารกมีภาวะ Gastroschisis ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ ทีมแพทย์จะจัดเตรียมวิธีการคลอดที่เหมาะสมก่อนจะนำทารกไปรักษาที่ห้องอภิบาลทารกแรกเกิด ในกรณีที่ช่องโหว่บริเวณหน้าท้องของทารกมีขนาดเล็กและลำไส้โผล่พ้นออกมาเพียงบางส่วน แพทย์จะผ่าตัดและนำอวัยวะกลับเข้าสู่ร่างกายของทารกทันทีหลังการคลอดและเย็บปิดช่องโหว่

หากช่องโหว่มีขนาดใหญ่และมีอวัยวะอื่น ๆ นอกจากลำไส้ออกนอกร่างกายของทารกด้วย การรักษาจะเป็นไปตามขั้นตอน โดยอวัยวะต่าง ๆ จะถูกหุ้มด้วยถุงที่ออกแบบมาเฉพาะชั่วคราว เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและความร้อนจากการระเหย รวมทั้งป้องกันการปนเปื้อนหรือติดเชื้อ ก่อนจะค่อย ๆ ดัน วัยวะกลับเข้าไปในร่างกายอย่างช้า ๆ เมื่ออวัยวะกลับเข้าไปสู่ช่องท้องของทารกครบทุกส่วนแล้ว แพทย์จะเย็บผนังท้องเพื่อปิดช่องโหว่

นอกจากนี้ ทารกที่มีภาวะ Gastroschisis จำเป็นจะต้องรับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การรับสารอาหารผ่านเส้นเลือดเนื่องจากอาจมีภาวะลำไส้บวม ไม่สามารถดูดซึมสารอาหาร ได้รับความเสียหายขณะอยู่ในครรภ์หรือขณะคลอด 
  • การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ 
  • การสังเกตและควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทารกอย่างใกล้ชิด

ภาวะแทรกซ้อนของ Gastroschisis

ทารกบางรายที่มีภาวะ Gastroschisis อาจพบลำไส้บางส่วนไม่เจริญเติบโตขณะอยู่ในครรภ์หลังการผ่าตัดนำอวัยวะกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ลำไส้บางส่วนอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ และอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ในช่องท้อง เช่น เลือดไหลเวียนไปยังลำไส้และไตได้น้อยลงเนื่องจากอวัยวะอยู่ผิดตำแหน่ง หรือทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณลำไส้จนส่งผลให้เกิดภาวะเนื้อเยื่อในลำไส้ตาย รวมไปถึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเนื่องจากปอดของทารกที่มีภาวะดังกล่าวไม่สามารถขยายได้อย่างเต็มที่

การป้องกัน Gastroschisis

Gastroschisis ไม่มีวิธีการป้องกันได้โดยตรง แต่มารดาที่ตั้งครรภ์สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการดูแลสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรง รับประทานวิตามินเสริมตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์และกรดโฟลิคเพื่อป้องกันความพิการของทารกโดยรวม ซึ่งอาหารที่มีกรดโฟลิคสูง เช่น ไข่แดง ตับ ผักคะน้า แครอท แคนตาลูป ฟักทอง เป็นต้น นอกจากนี้ หากตั้งครรภ์ขณะอายุต่ำกว่า 20 ควรเข้ารับการตรวจครรภ์กับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ในระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติดใด ๆ