Glibenclamide (ไกลเบนคลาไมด์)

Glibenclamide (ไกลเบนคลาไมด์)

Glibenclamide (ไกลเบนคลาไมด์) คือ ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) มีกลไกการออกฤทธิ์ด้วยการกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งสารอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยควบคุมและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยยาไกลเบนคลาไมด์นำมาใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2  ยาไกลเบนคลาไมด์มีข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงหลายประการ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

535 GlibenclamideRe

เกี่ยวกับยา Glibenclamide

กลุ่มยา ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes Mellitus Type 2)
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด

 

คำเตือนของการใช้ยา Glibenclamide

  • ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยานี้หรือมีอาการแพ้ยาอื่น ๆ เนื่องจากยาเบนคลาไมด์อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดการแพ้หรืออาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ต่อผู้ใช้ได้
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีหรือเคยมีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือไทรอยด์ หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีหรือเคยมีประวัติเป็นโรคโพรพีเรีย (Porphyria) หรือโรคพร่องเอนไซม์ (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase Deficiency: G6PD )
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีหรือเคยมีภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะติดเชื้อหรือบาดเจ็บขั้นรุนแรง
  • หากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือรักษาทางทันตกรรม ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบว่าเป็นโรคเบาหวานและแจ้งชื่อยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากเป็นผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ

ปริมาณการใช้ยา Glibenclamide
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 2.5-5 มิลลิกรัมต่อวัน อาจเพิ่มขนาดยาเป็น 2.5-15 มิลลิกรัมต่อวัน ในสัปดาห์ถัดไป และหากใช้ขนาดยามากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อวัน ควรแบ่งใช้ 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อวัน
ผู้สูงอายุ: รับประทานเริ่มต้น 1.25 มิลลกรัมต่อวัน

*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การใช้ยา Glibenclamide

ก่อนการใช้ยาควรอ่านฉลากวิธีการใช้ยาอย่างละเอียด และหากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจ

  • ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดและห้ามใช้ยาในขนาดที่มากหรือน้อยกว่าที่ระบุ โดยขนาดเริ่มต้นทั่วไป คือ 5 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานพร้อมอาหารหรือทันทีหลังอาหารมื้อแรกของวัน
  • ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองโดยที่แพทย์ไม่ได้แนะนำ
  • ผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสม ผู้ป่วยควรติดตามและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างรอบคอบ
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างรับประทานยานี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานในมื้อถัดไป ให้รับประทานยามื้อถัดไปได้เลย โดยที่ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
  • ตรวจสอบภาชนะบรรจุให้ปิดสนิททุกครั้งหลังจากใช้ยา และควรเก็บให้พ้นจากมือเด็ก
  • ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นจากความร้อน แสงแดด และความชื้น หากยาหมดอายุให้ทิ้งทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Glibenclamide

หากพบว่ามีอาการแพ้ยา เช่น คัน ผื่นแดง ลมพิษ ใบหน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม หายใจผิดปกติ ควรพบแพทย์โดยเร็ว

ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดจาการใช้ยา หากพบว่าเป็นต่อเนื่องหรือ รบกวนชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ โดยอาการมีดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ 
  • อาเจียน
  • แสบยอดอก
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย

ผลข้างเคียงหรืออาการอันไม่พึงประสงค์ที่ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยจะทำให้มีอาการต่อไปนี้
    • มือสั่น
    • หน้ามืด วิงเวียน
    • มีเหงื่อออก
    • ปวดศรีษะ
    • มีอาการชาหรือปวดเสียวคล้ายหนามแทงบริเวณริมฝีปาก
    • มีอาการอ่อนเพลีย
    • หน้าซีด ตัวซีด
    • รู้สึกหิว
    • ใจสั่น 
    • วิตกังวล หงุดหงิด กระวนกระวาย
    • อารมณ์แปรปรวน
  • รวมไปถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะสีเข้ม เลือดออกง่ายหรือฟกช้ำบ่อย ๆ ผิวหนังไวต่อแสงแดด มีไข้ ตัวสั่น เจ็บคอ ผิวหนังหรือตาเหลือง

นอกจากนั้น หากผู้ป่วยพบว่ามีผลข้างเคียงหรืออาการที่ผิดปกตินอกเหนือจากนี้ ควรรีบติดต่อพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น