ความหมาย Growing Pain (ภาวะปวดขาจากการเจริญเติบโต)
Growing Pain (ภาวะปวดขาจากการเจริญเติบโต) คือภาวะที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดขาหน้าแข้ง น่องหรือหลังหัวเข่า มักเกิดขึ้นกับขาทั้ง 2 ข้าง โดยพบได้มากในเด็กเล็กหรือเด็กวัยเรียนและพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
สาเหตุของการเกิด Growing Pain นั้นยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่เดิมเชื่อว่าเกิดจากการเจริญเติบโต แต่ภายหลังพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเด็กแต่อย่างใด และภาวะดังกล่าวนี้ไม่เป็นอันตราย ไม่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงอื่น ๆ และจะหายไปเองในภายหลัง ทั้งนี้ เมื่อเด็กมีอาการปวด ผู้ปกครองสามารถบรรเทาอาการปวดด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างเหมาะสมตามอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
อาการของ Growing Pain
Growing Pain จะส่งผลให้รู้สึกปวดหรือปวดตุบ ๆ บริเวณขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบริเวณหน้าแข้ง น่อง หรือด้านหลังหัวเข่า โดยอาการปวดจะแย่ลงเมื่อขยับขา มักมีอาการปวดมากในช่วงก่อนนอนหรืออาจรู้สึกปวดมากจนทำให้ตื่นและอาการปวดมักจะหายไปในตอนเช้า บางรายอาจมีอาการปวดแขน ปวดท้องหรือปวดหัวร่วมด้วย ทั้งนี้ ความถี่ของอาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการปวดติดต่อกันเป็นเวลานาน รู้สึกปวดในตอนเช้าหรือรู้สึกปวดจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เหนื่อยหรืออ่อนแรง มีอาการบวมหรือแดงบริเวณที่ปวด ปวดหลังจากการได้รับบาดเจ็บ มีไข้ เดินกะเผลก มีผื่นขึ้น เบื่ออาหารหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรพาไปพบแพทย์เพื่อให้เด็กได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุของ Growing Pain
ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิด Growing Pain แต่อาการที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ขามากในระหว่างวัน อาทิ วิ่ง ปีน หรือกระโดด กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome: RLS) อีกทั้งยังพบได้มากในเด็กที่ท่าทางเดิน ยืน หรือนั่งผิดปกติ รวมถึงมีอาการเท้าแบน
การวินิจฉัย Growing Pain
แพทย์จะตรวจร่างกายร่วมกับสอบถามอาการต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดที่เกิดขึ้น และแพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างการเอกซเรย์หรือการทดสอบในห้องปฏิบัติการ หากพบว่าเด็กมักปวดขาข้างเดียวและข้างเดิมเป็นประจำ รู้สึกปวดหรือกล้ามเนื้อแข็งตึงในตอนเช้า เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นที่ซ่อนอยู่
การรักษา Growing Pain
เนื่องจากภาวะ Growing Pain เป็นภาวะที่ไม่มีอันตราย จึงไม่มีวิธีการรักษาใดเป็นพิเศษ อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นเองภายใน 1–2 ปี ทั้งนี้ ผู้ปกครองสามารถดูแลบุตรหลานได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- นวดเบา ๆ ในบริเวณที่ปวดและกอดเพื่อให้เด็กรู้สึกดีขึ้น
- อาบน้ำอุ่นก่อนเข้านอนหรือประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยประคบไว้ก่อนนอนและนำที่ประคบออกเมื่อหลับ หรือประคบเมื่อมีอาการปวด
- รับประทานยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพรินเพราะเด็กอาจเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการราย (Reye's Syndrome) ได้
- ยืดกล้ามเนื้อ (Stretching Exercises) บริเวณขาในระหว่างวันเพื่อป้องกันอาการเจ็บช่วงกลางคืน
ทั้งนี้ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์หากพบว่าเท้าของเด็กมีความผิดปกติหรือสะดุดล้มบ่อยครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับขาและการทรงตัว และไม่ควรเชื่อมโยงว่าสาเหตุของ Growing Pain นั้นมาจากการทำกิจกรรมหรือเป็นเพราะการเจริญเติบโต เนื่องจากอาจสร้างความรู้สึกกลัวให้แก่เด็กได้
ภาวะแทรกซ้อนของ Growing Pain
โดยทั่วไปผู้ที่มีอาการของ Growing Pain จะไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่อาการปวดที่เกิดขึ้นอาจรบกวนการนอนหลับได้ในบางราย
การป้องกัน Growing Pain
ภาวะ Growing Pain เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผู้ปกครองสามารถดูแลบุตรหลานเมื่อมีอาการปวดได้ในเบื้องต้น โดยควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการปวดที่อาจเกิดได้จากโรคที่อาจเป็นอันตราย เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที