HCG (ฮอร์โมนเอชซีจี)

HCG (ฮอร์โมนเอชซีจี)

HCG (Human Chorionic Gonadotropin) คือฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการตกไข่ของผู้หญิง แพทย์มักใช้ยานี้รักษาภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง เพิ่มจำนวนอสุจิของผู้ชาย หรือใช้รักษาภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุงที่เกิดขึ้นในเด็กผู้ชาย

HCG

เกี่ยวกับ HCG

กลุ่มยา ฮอร์โมน HCG
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ กระตุ้นการตกไข่และรักษาภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ HCG

  • สตรีมีครรภ์หรือผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตรไม่ควรใช้ยานี้ เนื่องจากฮอร์โมน HCG อาจทำให้เสี่ยงตั้งครรภ์แฝด หรือทารกพิการแต่กำเนิดได้
  • ผู้ที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ เนื่องจากยังไม่อาจรับรองได้ว่ายา HCG จะไหลผ่านน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่
  • ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมน HCG หากกำลังใช้ยารักษาโรคที่ส่งผลต่อระบบเลือด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดแดง ยารักษามะเร็งที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น
  • ผู้ที่เคยเกิดอาการแพ้ยา HCG ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ที่ปัญหาสุขภาพต่อไปนี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ HCG
    • เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าปกติ
    • มะเร็งหรือเนื้องอกที่เต้านม รังไข่ มดลูก ต่อมลูกหมาก สมองส่วนไฮโปทาลามัส หรือต่อมใต้สมอง
    • ซีสต์ในรังไข่
    • ปัญหาสุขภาพหัวใจ
    • ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง
    • ปัสสาวะเป็นเลือดโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • โรคไต
    • โรคลมชัก
    • โรคหืด
    • ไมเกรน

ปริมาณการใช้ HCG

กระตุ้นการตกไข่ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไข่ไม่ตกและไม่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ฉีดฮอร์โมน HCG เข้ากล้ามเนื้อวันละ 5,000-10,000 ยูนิต โดยเริ่มฉีดหลังจากวันสุดท้ายที่ได้รับยาเมลาโนโทรปิน (Menotropin) 1 วัน

รักษาภาวะฮอร์โมนเพศต่ำในผู้ชายที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง

  • ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 500-1,000 ยูนิต สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีดยาในปริมาณเดิมต่ออีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หรือ
  • ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 4,000 ยูนิต สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ใน เป็นเวลา 6-9 เดือน หลังจากนั้นฉีดยาปริมาณ 2,000 ยูนิต สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน

รักษาภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง มักใช้กับเด็กอายุระหว่าง 4-9 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ในกรณีที่ภาวะดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างทางร่างกาย

  • ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 4,000 ยูนิต สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หรือ
  • ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 5,000 ยูนิต จำนวน 4 เข็ม ทุก 2 วัน หรือ
  • ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 500-1,000 ยูนิต จำนวน 15 เข็ม เป็นเวลา 6 สัปดาห์ หรือ
  • ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 500 ยูนิต สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ และอาจต้องฉีดซ้ำปริมาณ 1,000 ยูนิต เป็นเวลาอีก 1 เดือน หากการรักษาครั้งแรกไม่ได้ผล

การใช้ HCG

แพทย์จะฉีดฮอร์โมน HCG เข้าใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อผู้ป่วย และอาจสอนให้ฉีดยาด้วยตัวเองที่บ้าน ในกรณีที่ฉีดยาเองผู้ป่วยควรอ่านวิธีใช้ในฉลากยาอย่างละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากกว่าหรือนานกว่าที่กำหนด เมื่อฉีดยาแล้วควรทิ้งเข็มที่ใช้ฉีดให้เรียบร้อย ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ และเข้ารับการตรวจกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ หากยามีสีเปลี่ยนไปหรือมีตะกอนไม่ควรนำมาใช้ ให้แจ้งแพทย์เพื่อขอรับยาขวดใหม่แทน ควรเก็บรักษายาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น ความร้อน และห่างไกลจากมือเด็ก ส่วนฮอร์โมน HCG แบบที่ต้องนำมาผสมสำหรับฉีดเองนั้นควรเก็บยาที่ผสมแล้วไว้ในตู้เย็น และทิ้งไปหากไม่ได้นำมาใช้ภายใน 30 วัน

ผลข้างเคียงจากการใช้ HCG

ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยฮอร์โมน HCG เสี่ยงเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนี้

  • ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป
    • รู้สึกปวดบริเวณที่ฉีดยา
    • เกิดอาการระคายเคือง
    • เมื่อยล้า
    • ปวดศีรษะ
    • รู้สึกกระวนกระวาย
    • มีอาการซึมเศร้า
    • บวมตามมือ ขา ข้อเท้า หรือเท้า
    • เด็กผู้ชายอาจมีนมตั้งเต้าคล้ายผู้หญิง
  • ผลข้างเคียงที่รุนแรง ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้
    • อาการแพ้ยา ได้แก่ ใบหน้า ปาก ลิ้น หรือคอบวม หายใจไม่สะดวก หรือเกิดผื่นลมพิษตามผิวหนัง
    • เกิดลิ่มเลือดในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการชา เป็นเหน็บ ปวดที่แขนหรือขา สับสนมึนงง ง่วงซึมมาก หรือปวดศีรษะรุนแรง
    • เด็กผู้ชายที่ใช้ยานี้อาจเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าปกติ สังเกตได้จากการมีเสียงแหบ ขนขึ้นในที่ลับ หรือมีสิวขึ้น

ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงแรกของการรักษา จึงควรหมั่นสังเกตตนเองและไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง บวมตามมือหรือขา หายใจไม่อิ่ม ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน หรือปัสสาวะน้อยกว่าปกติ เนื่องจากภาวะนี้อาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้