ความหมาย ฮีแมงจิโอมา (Hemangioma)
Hemangioma (ฮีแมงจิโอมา) คือเนื้องอกหลอดเลือดซึ่งจัดเป็นปานชนิดหนึ่ง มีลักษณะบวมนูนและมีสีแดงใส มักเกิดในเด็กเล็ก โดยจะขึ้นตามใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก หรือหลัง และหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่อาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้ ทั้งนี้ เนื้องอกดังกล่าวอาจแตกออก ทำให้รู้สึกเจ็บและมีเลือดหรือหนองไหลออกมาได้ หรือบางรายอาจเกิดเนื้องอกชนิดนี้พร้อมกับมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลางหรือไขสันหลังด้วย
โดยทั่วไปแล้ว เนื้องอก Hemangioma แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- เนื้องอกที่ขึ้นภายนอก คือเนื้องอกหลอดเลือดที่ขึ้นบนชั้นผิวหนังส่วนนอก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปานแดง หากขึ้นบริเวณเปลือกตาหรือเบ้าตาอาจกระทบต่อพัฒนาการของดวงตาหรือนำไปสู่ปัญหาการมองเห็นอย่างโรคตาขี้เกียจและต้อหินได้
- เนื้องอกที่ขึ้นภายใน คือเนื้องอกหลอดเลือดที่ขึ้นในชั้นผิวหนังส่วนที่อยู่ลึกลงไปหรือบริเวณรอบดวงตา มีลักษณะบวมและมีสีออกเขียวเล็กน้อย
- เนื้องอกที่ขึ้นทั้งภายในและภายนอก คือเนื้องอกหลอดเลือดที่ขึ้นทั้งบริเวณชั้นผิวหนังส่วนนอกและชั้นผิวหนังที่อยู่ลึกลงไป
อาการของฮีแมงจิโอมา
เนื้องอก Hemangioma มักเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อทารกมีอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยจะเกิดจุดเล็ก ๆ สีแดงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย พบได้มากบริเวณใบหน้า หนังศีรษะ หลัง หรือหน้าอก และเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเนื้องอกที่มีลักษณะนูน สีแดงคล้ำ เนื้องอกชนิดนี้อาจเริ่มยุบลงเมื่อเด็กอายุ 5 ปี และมักหายไปเองเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 9-10 ปี โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะไม่มีอาการใด ๆ แต่บางรายอาจมีอาการผิดปกติแสดงให้เห็นได้หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณที่ไวต่อประสาทสัมผัส หรือมีเนื้องอกในร่างกายมากกว่าหนึ่งแห่ง ส่วนผู้ที่เกิดเนื้องอกหลอดเลือดภายในร่างกายนั้นอาจมีอาการบ่งบอก เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง แน่นท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงอย่างไม่มีสาเหตุ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
สาเหตุของฮีแมงจิโอมา
เนื้องอก Hemangioma ตามบริเวณผิวหนังนั้นเกิดจากการมีกลุ่มหลอดเลือดที่บริเวณดังกล่าวมากผิดปกติ ซึ่งก็ยังไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ร่างกายของมารดาผลิตโปรตีนบางชนิดที่อยู่ในรกออกมาเป็นจำนวนมากในขณะตั้งครรภ์ ส่วนผู้ที่มีเนื้องอกหลอดเลือดในตับนั้นอาจเกิดจากภาวะไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนชนิดนี้เพื่อบรรเทาอาการของภาวะวัยทองในปริมาณมากเกินไปอาจเกิดเนื้องอกหลอดเลือดขึ้นในตับได้ นอกจากนี้ การกินยาคุมกำเนิดหรือการตั้งครรภ์ก็อาจกระตุ้นให้เนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเนื้องอก Hemangioma ได้ ดังนี้
- เพศหญิง เด็กผู้หญิงเสี่ยงเกิดเนื้องอกหลอดเลือดมากกว่าเด็กผู้ชายถึง 3 เท่า
- คลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเสี่ยงเกิดเนื้องอกชนิดนี้ได้สูง
- ฝาแฝด ทารกแฝดเสี่ยงเกิดเนื้องอกหลอดเลือดหลายแห่ง
- ประวัติครอบครัว ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้มาก่อนมีโอกาสเกิดเนื้องอกหลอดเลือดได้
- อายุมาก สตรีที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มจะให้กำเนิดทารกที่เสี่ยงเกิดเนื้องอกหลอดเลือดได้สูง
การวินิจฉัยฮีแมงจิโอมา
แพทย์จะวินิจฉัยเนื้องอก Hemangioma บริเวณผิวหนังโดยพิจารณาจากลักษณะเนื้องอกดังกล่าวในระหว่างการตรวจร่างกาย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม ส่วนผู้ที่อาจมีเนื้องอกภายในร่างกายแต่ยังระบุไม่ได้ว่าเกิดเนื้องอกที่ใดจะต้องเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ รวมทั้งอาจให้ทำ MRI Scan หรือตรวจเอกซ์เรย์หลอดเลือด เพื่อวางแผนการรักษาให้ผู้ป่วย ทั้งนี้ เด็กเล็กที่เกิดเนื้องอกหลายแห่งจะได้รับการตรวจจากกุมารแพทย์ แพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์ จักษุแพทย์ และรังสีแพทย์
การรักษาฮีแมงจิโอมา
ส่วนใหญ่แล้ว โรค Hemangioma ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากเนื้องอกจะหายไปเอง อีกทั้งการรักษาบางอย่างนั้นเสี่ยงทำให้ได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในกรณีที่เนื้องอกแตกและกลายเป็นแผล ก่อให้เกิดปัญหาการมองเห็น การได้ยิน การหายใจ หรือการกินอาหาร เนื้องอกที่เจริญเติบโตขึ้นภายในร่างกายมีขนาดใหญ่ หรือเนื้องอกหนาและกว้างมากขึ้น โดยการรักษาแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การรักษาด้วยยา และการรักษาด้วยหัตถการทางการแพทย์ ดังนี้
- การรักษาด้วยยา
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นยาช่วยลดขนาดและบรรเทาอาการอักเสบของเนื้องอก แพทย์จะสั่งจ่ายยานี้ในกรณีที่ยาเบต้า บล็อกเกอร์ใช้กับผู้ป่วยไม่ได้ผลหรือไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวได้ ยานี้มีทั้งชนิดยารับประทาน ยาทา หรือยาฉีดเข้าเนื้องอก อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง ได้แก่ มีพัฒนาการด้านการเติบโตช้า และเกิดโรคต้อหินหรือต้อกระจกได้
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) เป็นกลุ่มยาที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย ยาที่นิยมนำมาใช้รักษาเนื้องอก Hemangioma ได้แก่ ยาทิโมลอลชนิดเจล มักใช้รักษาเนื้องอกที่มีขนาดเล็กหรือมีแผล โดยแพทย์จะให้ทายาวันละ 4-5 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 6-12 เดือน และยาโพรพาโนลอล ซึ่งเป็นยารับประทาน เหมาะสำหรับรักษาเนื้องอกที่มีขนาดเล็กและไม่หนา ตัวยาออกฤทธิ์โดยอาจช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ยาโพรพาโนลอลนั้นมีผลข้างเคียงน้อยกว่าสเตียรอยด์ แต่แพทย์ก็ต้องสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดในช่วงแรกที่ให้ยา เนื่องจากอาจส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นช้า ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจหรือมีภาวะความดันต่ำจึงไม่ควรใช้ยานี้
- ยาอื่น ๆ ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นใช้ไม่ได้ผล แพทย์อาจให้ยาวินคริสตินสำหรับกำจัดเซลล์เนื้องอก หรือให้ยาอินเตอร์เฟอรอนสำหรับลดการแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอก แต่ยาทั้ง 2 ชนิดนี้เสี่ยงก่อให้เกิดผลข้างเคียงสูง เช่น เกิดความผิดปกติของเส้นประสาท สมองพิการ เป็นต้น
- การรักษาด้วยหัตถการทางการแพทย์
- การทำเลเซอร์ แพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำเลเซอร์เพื่อกำจัดเนื้องอกออกไปหรือรักษาแผลที่เกิดจากเนื้องอก รวมทั้งอาจใช้ช่วยลดรอยแดงบริเวณแผลและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
- การผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกหลอดเลือดขนาดใหญ่ขึ้นที่ดวงตาหรือบริเวณที่ไวต่อประสาทสัมผัสจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด เช่นเดียวกับผู้ที่มีเนื้องอกขึ้นภายในร่างกาย เพื่อนำเอาเนื้องอกหรืออวัยวะที่ถูกเนื้องอกทำลายออกไป และจะมีการผ่าตัดปิดหลอดเลือดแดงที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกด้วย
ภาวะแทรกซ้อนจากฮีแมงจิโอมา
ผู้ที่มีเนื้องอก Hemangioma เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากเนื้องอกนั้นแตกออกและเป็นแผล โดยอาจทำให้รู้สึกเจ็บ มีเลือดออก ติดเชื้อ และเกิดแผลเป็นได้ ส่วนผู้ที่มีเนื้องอกบริเวณดวงตาอาจเกิดภาวะตาขี้เกียจ หรือต้อหิน ส่งผลให้มีปัญหาในการมองเห็น หรือหากเกิดเนื้องอกที่เบ้าตาก็อาจประสบภาวะขั้วประสาทตาฝ่อและสูญเสียการมองเห็นเนื่องจากเนื้องอกกดทับเส้นประสาทตา นอกจากนี้ บางรายอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดเนื้องอก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหายใจหรือการได้ยิน แต่กรณีนี้พบได้น้อย
การป้องกันฮีแมงจิโอมา
โรค Hemangioma จัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่วางแผนมีบุตรสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกหลอดเลือดในทารกได้ โดยดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ เช่น เข้ารับการตรวจครรภ์เป็นประจำ รับประทานอาหารให้เพียงพอและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ รวมทั้งงดการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติดอื่น ๆ
นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการคลอดก่อนกำหนด อาจได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้รับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว อีกทั้งควรเลี่ยงยกของหนักหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากในระหว่างตั้งครรภ์ และหากมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังใด ๆ ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง