Heparin (เฮพาริน)
Heparin (เฮพาริน) คือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด มีฤทธิ์ช่วยรักษาและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง และปอด โดยแพทย์มักนำยานี้มาใช้กับผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงเกิดลิ่มเลือด
เกี่ยวกับยา Heparin
กลุ่มยา | ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ป้องกันการแข็งตัวของเลือดและละลายลิ่มเลือด |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยา Heparin
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาหากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยานี้หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู
- ผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดไม่ควรใช้ยานี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากผู้ป่วยมีประวัติติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ มีภาวะความดันโลหิตสูง และควบคุมอาการได้ไม่ดี มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะหรือลำไส้ เป็นโรคตับ หรือกำลังใช้ยาละลายลิ่มเลือดชนิดอื่น ๆ
- การใช้ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติในระหว่างการใช้ยาหรือหลังจากหยุดใช้ยาไปแล้ว ซึ่งเป็นอันตรายได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจการแข็งตัวของเลือดอย่างสม่ำเสมอ
- ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะมีแนวโน้มเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติในระหว่างการใช้ยา
- สตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
- สตรีมีครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยังไม่มีการรับรองว่ายานี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่
- สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรห้ามใช้ยานี้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะตัวยาอาจปนเปื้อนในน้ำนมและก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้
ปริมาณการใช้ Heparin
ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบซ้ำหลังจากการรักษาด้วยการละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- ผู้ใหญ่ ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 60 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 4,000 ยูนิต หรือฉีดครั้งเดียว 5,000 ยูนิต หากมีการใช้ยาสเตรปโตไคเนสร่วมด้วย จากนั้นให้ยา 12 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1,000 ยูนิต/ชั่วโมง โดยต้องเริ่มให้ยานี้ภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากใช้ยาละลายลิ่มเลือด
รักษาภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน อาการเจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่ และภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ
- ผู้ใหญ่ ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 75-80 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 5,000 ยูนิต หรือให้ยา 10,000 ยูนิต ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างรุนแรง จากนั้นให้ยา 18 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 1,000-2,000 ยูนิต/ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง หรือให้เป็นระยะ ๆ ในปริมาณ 5,000-10,000 ยูนิต ทุก 4-6 ชั่วโมง
- เด็ก เริ่มต้นให้ยาในปริมาณ 50 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นให้ยา 15-25 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง
- ผู้สูงอายุ อาจต้องปรับลดปริมาณยาตามที่แพทย์กำหนด
ป้องกันภาวะหลอดเลือดดำอุดตันหลังจากการผ่าตัด
-
ผู้ใหญ่ ให้ยาเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณ 5,000 ยูนิต ก่อนการผ่าตัด 2 ชั่วโมง หลังจากผ่าตัดแล้ว ให้ยาทุก 8-12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 7 วัน หรือจนกว่าผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวหรือลุกเดินได้
รักษาภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน
- ผู้ใหญ่ ให้ยาเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณ 15,000-20,000 ยูนิตทุก 12 ชั่วโมง หรือ 8,000-10,000 ยูนิต ทุก 8 ชั่วโมง
- เด็ก ให้ยา 250 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง
- ผู้สูงอายุ อาจต้องปรับลดปริมาณยาตามที่แพทย์กำหนด
การใช้ Heparin
- Heparin เป็นยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยฉีดยาได้เองที่บ้าน แต่ต้องเรียนรู้วิธีการใช้ยาและเข็มฉีดยา รวมทั้งการทิ้งเข็มฉีดยาอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัย
- ไม่ควรใช้ยาหากสีของยาเปลี่ยนไปหรือยาตกตะกอน และควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อขอเปลี่ยนยา
- แพทย์อาจให้ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดเปลี่ยนจากการใช้ยาฉีดเป็นยารับประทาน ในระหว่างที่เริ่มเปลี่ยนยา ผู้ป่วยไม่ควรเลิกใช้ยานี้ทันทีหากไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ในระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นต้น
- ระหว่างการใช้ยาผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าการรักษาได้ผลและยาชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อน และเก็บให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Heparin
การใช้ยา Heparin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่มักพบได้ ดังนี้
- บริเวณที่ฉีดยามีอาการปวด รู้สึกอุ่น ผิวหนังแดงหรือมีสีเปลี่ยนไปจากเดิม
- เลือดออกง่ายผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เกิดจ้ำเลือดตามร่างกาย เป็นต้น
- ผิวหนังมีรอยช้ำ
- มีอาการคันเล็กน้อยที่เท้า
ในกรณีที่มีอาการรุนแรงต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัน ลมพิษ เหงื่อออกมาก หายใจไม่ออก รู้สึกคล้ายจะหมดสติ มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ เป็นต้น
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออก มีอาการบ่งบอก เช่น เหนื่อยง่ายผิดปกติ ปวดบริเวณท้อง ขาหนีบ หรือหลังส่วนล่วงอย่างรุนแรง บวมหรือฟกช้ำบริเวณท้องส่วนล่างหรือขาหนีบ มีเลือดออกหรือรอยห้อเลือดเกิดขึ้นผิดปกติ มีเลือดไหลไม่หยุด ไอเป็นเลือด อาเจียนออกมาเป็นสีน้ำตาลคล้ำ อุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำคล้ายยางมะตอยและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เป็นต้น
- มีอาการชาหรืออ่อนแรงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด การมองเห็นผิดปกติ
- เจ็บหน้าอก มีอาการไออย่างเฉียบพลัน หายใจเสียงดังหวีด
- บวมหรือรู้สึกอุ่นที่ขาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง
- มีไข้ หนาวสั่น คัดจมูก ตาแฉะ
- ในทารกอาจเกิดอาการง่วงซึม อ่อนแรง หรือหายใจแบบอ้าปาก