โรคสมองจากโรคตับ (Hepatic Encephalopathy)

ความหมาย โรคสมองจากโรคตับ (Hepatic Encephalopathy)

Hepatic Encephalopathy หรือโรคสมองจากโรคตับ เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการที่ตับเสียหายจนไม่สามารถกำจัดสารพิษออกจากเลือดได้หมด ทำให้มีสารพิษสะสมในระบบไหลเวียนโลหิตและเข้าสู่สมองจนก่อให้เกิดความเสียหาย โรคสมองจากโรคตับอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจเข้าสู่ภาวะโคม่าและเสียชีวิตได้

Hepatic Encephalopathy

อาการของโรคสมองจากโรคตับ

โรค Hepatic Encephalopathy จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันไป บางรายอาจมีอาการไม่รุนแรงและหายดีได้ภายในเวลาไม่นาน ทว่าบางรายอาจค่อย ๆ มีอาการรุนแรงขึ้น หรือส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างเฉียบพลัน โดยอาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ได้ เช่น ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ภาวะถอนพิษสุรา ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ

อาการที่เป็นสัญญาณของ Hepatic Encephalopathy มีดังนี้

  • ลมหายใจมีกลิ่นหวานหรือเหม็นอับ เนื่องจากตับไม่สามารถกำจัดของเสียได้
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนหรือการเคลื่อนไหวของมือ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการคิดและการตัดสินใจ
  • ไม่มีสมาธิ
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง
  • มีอาการมึนงง
  • หลงลืม
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น ง่วงนอนในระหว่างวัน หรือนอนไม่หลับในเวลากลางคืน

หากความเสียหายของสมองรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • สับสน มึนงง
  • วิตกกังวล
  • ง่วงซึม อ่อนเพลีย
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
  • ชัก
  • มีปัญหาในการเรียบเรียงคำพูด
  • มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น มือสั่น เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง เป็นต้น
  • ชัก

ผู้ที่มีอาการข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพราะหากล่าช้าอาจทำให้เข้าสู่ภาวะโคม่าได้

สาเหตุของโรคสมองจากโรคตับ

โรค Hepatic Encephalopathy มีสาเหตุมาจากความเสียหายของตับ ส่งผลให้ตับไม่สามารถกำจัดสารพิษที่ได้รับจากภายนอก เช่น ยา สารเคมีต่าง ๆ  หรือแม้กระทั่งสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเองอย่างแอมโมเนีย ทำให้สารพิษเหล่านี้สะสมในกระแสเลือดและเข้าไปสู่ระบบประสาทและสมองจนเกิดความเสียหายในที่สุด สาเหตุที่มักทำให้ตับเสียหายและเสี่ยงต่อโรคสมองจากโรคตับ ได้แก่

  • ตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซี
  • โรคตับแข็ง
  • โรคไรน์ซินโดรม (Reye's Syndrome) หรืออาการแพ้ยาแอสไพรินที่เกิดขึ้นในเด็ก ส่งผลให้สมองและตับบวมอักเสบอย่างเฉียบพลัน
  • การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงตับ
  • ภาวะเป็นพิษต่อตับจากสารเคมี สารพิษ ยา หรือแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ตับมีความเสียหายอยู่แล้วอาจเสี่ยงเกิด Hepatic Encephalopathy  มากขึ้น หากมีปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น

  • ภาวะขาดน้ำ
  • การรับประทานโปรตีนมากเกินไป
  • ระดับโพแทสเซียมหรือโซเดียมในร่างกายต่ำ
  • ระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ
  • การใช้ยาระงับปวดชนิดเสพติดหรือยากล่อมประสาท
  • มีเลือดออกในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้
  • การติดเชื้อ เช่น ปอดบวม
  • ปัญหาเกี่ยวกับไต
  • การผ่าตัด
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการทำทางเชื่อมระหว่างโพรงสมองเพื่อรักษาภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ

การวินิจฉัยโรคสมองจากโรคตับ

โรคนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับที่สังเกตด้วยตัวเองค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นความผิดปกติที่ส่งผลต่อสมอง ในเบื้องต้นแพทย์จะให้คนใกล้ชิดของผู้ป่วยโรคตับหรือผู้ที่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับตับคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย หากพบความผิดปกติควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด

แพทย์จะวินิจฉัยผู้ป่วย Hepatic Encephalopathy โดยการตรวจร่างกายเบื้องต้นและสอบถามเกี่ยวกับอาการรวมทั้งประวัติการรักษา จากนั้นอาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับแร่ธาตุ การทำงานของตับ การทำงานของไต และค่าของเสียในร่างกาย
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำหรือภาวะโลหิตจางอาจบ่งบอกถึงการสูญเสียเลือดและการขาดออกซิเจนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ตับเกิดความเสียหายได้
  • การตรวจการทำงานของตับ ค่าระดับเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้นอาจบ่งบอกถึงความเสียหายของตับได้
  • การทำ CT Scan หรือ MRI Scan ที่สมอง เพื่อหาสาเหตุและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสมอง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นการตรวจดูการทำงานและความผิดปกติของสมอง

การรักษาโรคสมองจากโรคตับ

ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดโรค Hepatic Encephalopathy ในช่วงเวลาสั้น ๆ และสามารถรักษาให้หายได้ แต่บางรายอาจกลับมาเป็นซ้ำหรือเกิดขึ้นอย่างถาวรได้หากมีปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับตับ

ในการรักษา Hepatic Encephalopathy แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ลักษณะอาการของผู้ป่วย ความรุนแรงของอาการ ความรุนแรงของโรคตับที่เป็นอยู่ อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

แพทย์อาจเริ่มรักษาโดยแนะนำให้ใช้ยาเพื่อช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย ได้แก่

  • ยาแล็กทูโลส เป็นน้ำตาลสังเคราะห์ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ร่างกายขับสารพิษออกจากร่างกายผ่านการขับถ่ายได้
  • ยาปฏิชีวนะ เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการควบคุมจำนวนแบคทีเรียที่สร้างสารพิษออกมาในระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร

ผู้ป่วยอาจต้องจำกัดโปรตีนหากการรับประทานโปรตีนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ เนื่องจากอาหารชนิดนี้อาจทำให้ร่างกายสร้างแอมโมเนียมากเกินไปและกำจัดได้ไม่ทัน อาหารโปรตีนสูงที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ สัตว์ปีก เนื้อแดง ไข่ ปลา เป็นต้น โดยแพทย์หรือนักโภชนาการจะช่วยวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอโดยไม่กระทบกับโรค และต้องงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะการดื่มในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เสี่ยงเกิดความเสียหายต่อตับได้

นอกจากนี้ แพทย์จะให้การรักษาปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับของผู้ป่วยควบคู่กันไปด้วย เช่น การติดเชื้อ ภาวะท่อปัสสาวะอุดตัน รวมถึงอาการท้องผูกที่ทำให้ไม่สามารถขับถ่ายได้ตามปกติจนเกิดการสะสมของสารพิษในร่างกาย และอาจให้หยุดใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของตับด้วย

ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรหยุดใช้ยาใด ๆ เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ การรักษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้อาการค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ และบางรายอาจหายเป็นปกติได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคสมองจากโรคตับ

ผู้ป่วยโรค Hepatic Encephalopathy ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอาการดีขึ้นได้ แต่หากได้รับการรักษาล่าช้าอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อันตรายมากขึ้น เช่น ภาวะสมองเคลื่อนที่ ซึ่งมีสาเหตุจากความดันในกะโหลกศีรษะสูง สมองบวม หรือการทำงานของอวัยวะล้มเหลว นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าสู่ภาวะโคม่าและเสียชีวิตได้ โดยอัตราการรอดชีวิตนั้นจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน

การป้องกันโรคสมองจากโรคตับ

วิธีป้องกัน Hepatic Encephalopathy ที่ดีที่สุดคือการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตับที่เป็นสาเหตุให้ตับได้รับความเสียหาย ทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • ไม่ใช้ยาหรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลังจากเข้าห้องน้ำ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ