เชื้อเอชพีวี (HPV)

ความหมาย เชื้อเอชพีวี (HPV)

HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้เกิดหูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ เชื้อ HPV บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก  มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น

HPV

อาการของโรคติดเชื้อเอชพีวี

ผู้ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ก่อนที่จะเกิดหูดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีหูดขึ้นอาจมีลักษณะของหูดที่ปรากฏแตกต่างกันตามสายพันธุ์ของไวรัส ดังนี้

  • หูดชนิดทั่วไป มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่สัมผัสแล้วรู้สึกขรุขระ อาจมีสีเนื้อ สีขาว สีชมพู หรือสีน้ำตาลอ่อน มักขึ้นตามมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจสร้างความเจ็บปวดได้ในบางครั้ง และผิวหนังบริเวณที่เกิดหูดอาจบาดเจ็บหรือมีเลือดออกได้ง่ายกว่าปกติ
  • หูดชนิดแบนราบ มีขนาดเล็ก พื้นผิวเรียบ สีของหูดเข้มกว่าสีผิวปกติและนูนขึ้นมาจากผิวหนังเล็กน้อย เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หากเป็นเด็กมักพบตามใบหน้า ในผู้หญิงมักเกิดบริเวณขา ส่วนผู้ชายจะพบได้บ่อยบริเวณเครา
  • หูดฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง สัมผัสแล้วรู้สึกหยาบ มักขึ้นบริเวณส้นเท้าหรือเนินปลายเท้า และทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน
  • หูดอวัยวะเพศ หรือเรียกว่าหูดหงอนไก่เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน

ทั้งนี้ การติดเชื้อ HPV ที่บริเวณปากมดลูกจากการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปรากฏเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว ทางที่ดีจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ เพื่อให้สามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

นอกจากนั้นการติดเชื้อ HPV ยังอาจก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน ได้แก่ มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก หรือมะเร็งช่องปากและลำคอส่วนบน ซึ่งล้วนไม่มีอาการบ่งบอก จนกว่าจะเข้าสู่ระยะลุกลาม บางรายอาจเกิดหูดหงอนไก่บริเวณทางเดินหายใจ หรือเกิดเยื่อบาง ๆ ภายในกล่องเสียงหลังจากติดเชื้อ 2-3 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีเสียงแหบ

สาเหตุของโรคติดเชื้อเอชพีวี

โรคติดเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน และสามารถแพร่ผ่านรอยแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หากมีการสัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย แม้กระทั่งในช่วงที่ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการก็ตาม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อสู่บุตรระหว่างการคลอดได้ แต่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ยิ่งขึ้น ได้แก่

  • เด็กและวัยรุ่น โดยหูดทั่วไปมักพบได้มากในวัยเด็ก ส่วนหูดหงอนไก่มักพบในเด็กวัยเจริญพันธ์ุมากกว่าคนช่วงอายุอื่น
  • หญิงและชายที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • มีแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง
  • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
  • สัมผัสหูดหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโดยไม่สวมถุงมือเพื่อป้องกัน
  • อยู่ในสถานที่ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อเอชพีวี

หากผู้ป่วยมีหูดขึ้นตามผิวหนังและสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แพทย์สามารถวินิจฉัยโดยการตรวจดูลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติได้ทันที แต่ในรายที่ไม่มีหูดขึ้นหรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แพทย์อาจใช้การวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Test) แพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์โดยใช้กล้องจุลทรรศ์
  • การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test) คือการนำตัวอย่างเซลล์บริเวณอวัยวะเพศไปตรวจหาเชื้อเอชพีวีโดยตรง วิธีนี้นำมาใช้วินิจฉัยสายพันธุ์ของเชื้อได้เช่นกัน
  • การตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy) แพทย์จะสอดกล้องคอลโปสโคปขนาดเล็กที่มีกำลังขยายสูงเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ
  • การทดสอบด้วยกรดอะซิติก (Acetic Acid Solution Test) สารละลายกรดอะซิติกจะทำปฏิกิริยากับเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติและเปลี่ยนบริเวณดังกล่าวให้เป็นสีขาว ซึ่งง่ายต่อการสังเกตเห็น

การรักษาโรคติดเชื้อเอชพีวี

ปัจจุบันการติดเชื้อ HPV ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดเชื้อออกไปเอง ส่วนการรักษาความผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น มะเร็งหรือหูด จะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการที่พบ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือฉายรังสี ซึ่งการตรวจพบและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลามจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่มีหูดขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยา ดังนี้

  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นยาสำหรับทาภายนอกที่ใช้รักษาหูดชนิดทั่วไป มีสรรพคุณช่วยให้ชั้นผิวหนังบริเวณที่เกิดหูดค่อย ๆ หลุดลอก แต่ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้รู้สึกระคายเคืองผิวและไม่ควรนำมาใช้กับใบหน้า
  • ยาโพโดฟิลอก (Podofilox) มีสรรพคุณช่วยทำลายเนื้อเยื่อของหูด มักใช้กับหูดบริเวณอวัยวะเพศ ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกเจ็บปวดและคันบริเวณผิวหนังที่ทายา
  • ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเร่งกำจัดเชื้อ HPV แต่อาจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่ทายาเกิดอาการบวมแดงได้
  • กรดไตรคลอโรอะซีติค (Trichloroacetic Acid) มักใช้สำหรับกำจัดหูดบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออวัยวะเพศ และอาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการระคายเคืองผิว

ทั้งนี้ หากการใช้ยาไม่ช่วยให้หูดยุบ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การผ่าตัดหูด การใช้เลเซอร์ การจี้ด้วยความเย็น การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการใช้ยาหรือกำจัดหูดด้วยวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัส HPV ให้หมดไป ผู้ป่วยจึงอาจกลับมาเป็นหูดซ้ำได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อเอชพีวี

นอกจากการติดเชื้อ HPV จะทำให้เกิดหูดหรือมะเร็งบางชนิด ผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดิมซ้ำจะเสี่ยงเกิดรอยโรคก่อนเกิดมะเร็ง ซึ่งสามารถกลายเป็นมะเร็งได้ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีหูดขนาดใหญ่บริเวณอวัยวะเพศจนไปปิดกั้นช่องคลอดอาจคลอดบุตรยาก นอกจากนี้ เชื้อ HPV ที่อยู่ในร่างกายของมารดาอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เสี่ยงเกิดเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงบริเวณกล่องเสียง ทว่าเกิดขึ้นได้น้อยมาก

การป้องกันโรคติดเชื้อเอชพีวี

แพทย์มักแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 9-26 ปี ฉีดวัคซีน HPV ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 4 ชนิด และแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 21-65 ปี ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพียงไม่กี่ข้อดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันการติดต่อและการแพร่กระจายของเชื้อได้

  • สวมรองเท้าเมื่ออยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น สระว่ายน้ำสาธารณะ ห้องอาบน้ำรวม เป็นต้น
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อบริเวณอวัยวะเพศโดยตรง แต่วิธีนี้ไม่สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเชื้อชนิดนี้ติดต่อผ่านการสัมผัสและอาจสะสมอยู่ตามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ผู้ป่วยที่มีหูดตามร่างกายให้หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาหูด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่น