ภาวะระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation)

ความหมาย ภาวะระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation)

Hyperventilation (ภาวะระบายลมหายใจเกิน) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยหายใจเร็วมากและลึกมากกว่าปกติ ทำให้เสียความสมดุลระหว่างการหายใจเข้าออกและการหายใจออก ซึ่งมักหายใจออกมากกว่าหายใจเข้า และทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเกิดการหดตัวของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่สมอง และมีการลดลงของระดับแคลเซียมในเลือดทำให้มีอาการต่าง ๆ ตามมา โดยก่อนที่จะมีอาการมักมีความเกี่ยวข้องกับภาวะวิตกกังวลหรือมีความกดดันทางจิตใจ และเป็นภาวะที่มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

Hyperventilation

อย่างไรก็ตาม อาการจะเกิดเพียงครั้งคราว และมักไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้มีสาเหตุจากทางด้านร่างกายอื่น ๆ

อาการของภาวะระบายลมหายใจเกิน

อาการของ Hyperventilation มักจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 20-30 นาที และอาการต่าง ๆ เกิดจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดลดลง โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • หายใจหอบเร็ว
  • รู้สึกหายใจลำบาก รู้สึกว่าหายใจเท่าไหร่ก็ไม่พอ หรือต้องนั่งลงเพื่อหายใจ
  • หัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ ใจสั่น
  • มีปัญหาในการทรงตัว รู้สึกหวิว หน้ามืดหรือเวียนศีรษะ
  • มีอาการเหน็บหรือชาที่มือ เท้า หรือรอบ ๆ ปาก
  • เกร็ง มือจีบ
  • แน่นหน้าอก แน่นท้อง มีอาการกดเจ็บหรือปวด
  • รู้สึกกังวล กระวนกระวาย หรือตึงเครียด

อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งพบได้น้อยและผู้ป่วยอาจไม่ทันสังเกตว่าเกี่ยวข้องกับ Hyperventilation โดยมีอาการ ได้แก่

  • ปวดศีรษะ
  • มีลมมาก เรอ ท้องอืด
  • มีอาการกระตุก
  • เหงื่อออก
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เช่น มองเห็นไม่ชัด หรือเห็นเฉพาะด้านหน้า
  • ไม่มีสมาธิหรือมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ
  • หมดสติชั่วคราว

สาเหตุของภาวะระบายลมหายใจเกิน

สาเหตุของ Hyperventilation ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากความวิตกกังวล ความตกใจกลัว ความประหม่า หรือความเครียด และมักจะเกิดขึ้นกับโรคแพนิค โดยหากเกิดจากสาเหตุทางจิตใจหรืออารมณ์เป็นหลักอาจเรียกว่าโรคหอบจากอารมณ์ (Hyperventilation Syndrome)

นอกจากนี้ ยังเกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ ที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีเลือดออก
  • มีไข้สูง
  • มีอาการเจ็บปวดรุนแรง
  • มีอาการในระหว่างที่ตั้งครรภ์
  • มีการติดเชื้อที่ปอด
  • โรคหืด
  • โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคปอด เช่น โรคปอดอุดกันเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary disease: COPD)
  • โรคหัวใจ
  • ภาวะเป็นกรดในเลือดจากเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis)
  • เกิดการบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะ
  • ใช้สารกระตุ้น
  • ใช้ยาเกินขนาด เช่น ยาแอสไพริน เป็นต้น
  • เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่มีความสูงมากกว่า 6,000 ฟุต

การวินิจฉัยภาวะระบายลมหายใจเกิน

การวินิจฉัย Hyperventilation นั้นแพทย์สามารถทราบได้ง่ายยิ่งขึ้น หากผู้ป่วยมีประวัติหรืออาการเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ก่อนเกิดอาการอาจพบว่า ผู้ป่วยมักมีปัญหากดดันจิตใจอย่างเห็นได้ชัด เช่น ทะเลาะกับคนใกล้ชิดหรือที่ทำงาน หรือมีปัญหาการเรียน ต้องสอบ
  • มีอาการหายใจหอบหรือหายใจไม่ออกในขณะที่กำลังพักผ่อนอยู่เฉย ๆ
  • มีอาการหายใจหอบหรือหายใจไม่ออก ร่วมกับรู้สึกหวิว และความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน (Paraesthesiae)
  • มีอาการแย่เมื่อต้องออกแรงมาก
  • เมื่อมีอาการทำให้รู้สึกมีความกลัวที่จะเสียชีวิต
  • มีประวัติเป็นโรคแพนิคหรืออาการกลัวที่โล่ง
  • เป็นโรคหืด
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้การหายใจติดขัด เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดที่กลับมาเป็นซ้ำ หรือภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ
  • เจ็บหน้าอก
  • โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) หรือเส้นประสาทถูกกดทับ
  • เวียนศีรษะจากไมเกรน

อาการดังกล่าว อาจคล้ายคลึงกับอาการหอบจากสาเหตุทางกายหลายประการ เช่น โรคหืด (Asthma) โรคลมชัก ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะเป็นกรดในเลือดจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis) และอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการดูแลที่ถูกต้องตามสาเหตุต่อไป

การทดสอบเพื่อคัดแยกโรคหรือภาวะอื่น ๆ ได้แก่

  • การตรวจวิเคราะห์ก๊าซในเลือด เพื่อตรวจสอบค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ช่วยคัดแยกโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การทดสอบการทำงานของปอดหรือการส่งผ่านของก๊าซในปอด ช่วยแยกแยะภาวะทางปอด เช่น โรคหืด หรือโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
  • ตรวจสารเคมีในร่างกาย
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram: EEG) อาจจำเป็นในกรณีที่เกิดภาวะ Hyperventilation ชนิดฉับพลัน เพื่อแยกจากโรคลมชัก

การรักษาภาวะระบายลมหายใจเกิน

การรักษา Hyperventilation มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายและทำให้การหายใจช้าลง ซึ่งมีวิธีการรักษาดังนี้

วิธีการดูแลตนเองเบื้องต้น

  • การหายใจทางปากโดยทำปากจู๋
  • หายใจช้า ๆ ในถุงกระดาษหรืออุ้งมือ เพื่อควบคุมการหายใจ โดยหายใจเพียง 6-12 ครั้ง อย่างช้า ๆ และเป็นธรรมชาติ แต่หากเป็นโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมีประวัติภาวะหลอดเลือดขาและปอดอุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด รวมไปถึงหากมีอาการหายใจเร็ว ซึ่งอยู่ในที่สูงประมาณ 6,000 ฟุต ขึ้นไป ห้ามหายใจในถุงกระดาษ
  • พยายามหายใจเข้าไปในท้องแทนที่จะใช้หน้าอก
  • เมื่อหายใจเข้าแล้วให้กลั้นหายใจเอาไว้ประมาณครั้งละ 10-15 วินาที

นอกจากนั้น อาจสลับมาใช้วิธีหายใจผ่านรูจมูกและปิดปากขณะที่หายใจ โดยปิดรูจมูกและหายใจสลับกันทีละข้าง ทำซ้ำจนกว่าการหายใจจะกลับมาสู่ภาวะปกติ

สำหรับบางคนอาจพบว่าการออกกำลังกายอย่างเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะ ๆ โดยหายใจเข้าและออกผ่านจมูก สามารช่วยอาการ Hyperventilation ได้

การลดความเครียด

ผู้ป่วย Hyperventilation ที่มีสาเหตุมาจากความเครียดหรือความวิตกกังวล อาจต้องพบนักจิตวิทยาเพื่อช่วยให้ผู้เข้าใจและทราบวิธีรักษาภาวะนี้ ซึ่งการเรียนรู้ที่จะลดความเครียดและวิธีการหายใจที่ถูกต้องจะสามารถช่วยควบคุมภาวะดังกล่าวได้

การฝังเข็ม

การฝังเข็มเป็นการรักษาทางเลือกของแพทย์แผนจีน ซึ่งจะใช้เข็มฝังไปตามบริเวณร่างกายที่ต้องการรักษา และจากการศึกษาเบื้องต้นได้พบว่า การฝังเข็มมีส่วนช่วยลดความวิตกกังวลและลดความรุนแรงของ Hyperventilation ลงได้

นอกจากนั้น แพทย์จะให้ใช้ยารักษา โดยจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งยาที่นำมาใช้รักษา Hyperventilation เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ยาด็อกเซปิน (Doxepin) และยาพาร็อกซีทีน (Paroxetine) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะระบายลมหายใจเกิน

ภาวะแทรกซ้อนของ Hyperventilation ได้แก่

  • ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต
  • พบว่ามีนัยสำคัญ ที่ Hyperventilation จะมีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติหรือโรคทางจิตใจ
  • ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจหรือการรักษาที่วินิจฉัยผิดพลาดโดยแพทย์
  • มีรายงานที่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก Hyperventilation แต่พบได้น้อยมาก

การป้องกันภาวะระบายลมหายใจเกิน

การป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด Hyperventilation ได้แก่

  • พยายามหายใจทางจมูก เพราะภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ยากในขณะที่ปากกำลังปิดอยู่ และเมื่อหายใจทางจมูกก็จะทำให้อากาศเข้าและออกได้น้อยกว่า
  • คลายเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายให้หลวม เช่น เข็มขัดที่รัดแน่น เสื้อชั้นใน หรือกางเกงรัดรูป เพราะจะทำให้หายใจลำบากหรือหายใจตื้น
  • ศึกษาวิธีการหายใจด้วยท้อง และฝึกเวลาที่ไม่มีอาการ เมื่อเกิดอาการก็สามารถนำมาใช้ช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งผู้ที่เป็น Hyperventilation มักจะมีอาการหายใจตื้นหรือหายใจเข้าเพียงช่วงอกส่วนบนเท่านั้น
  • พยายามหาวิธีผ่อนคลายและจัดการกับความเครียด โดยเลือกวิธีที่เหมาะหรือได้ผลกับตนเอง
  • พูดคุยปรึกษากับเพื่อน คนในครอบครัว หรือผู้ให้คำปรึกษา เพื่อช่วยลดความวิตกกังวล รวมไปถึงจดบันทึกประจำวันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ไขปัญหานั้น ๆ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดการดื่มการแฟ ชาและโซดา และไม่ควรรับประทานช็อคโกแลตมากเกินไป
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นการออกกำลังกายที่ช่วยในการหายใจ ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลที่อาจนำไปสู่ Hyperventilation
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในเวลากลางวันได้
  • ฝึกการคิดบวกหรือมองโลกในแง่บวก