ความหมาย ภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า (Hyphema)
Hypema หรือ ภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า เป็นอาการเลือดออกบริเวณส่วนหน้าของดวงตาที่อยู่ระหว่างม่านตากับกระจกตา ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดความดันในลูกตาสูงได้ หากอาการไม่รุนแรงก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการพักสายตาหรือใช้ยาบรรเทาอาการจนกว่าเลือดภายในดวงตาจะหายไป แต่หากมีอาการรุนแรงอาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด
อาการของภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า
ผู้ป่วย Hyphema อาจมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- มีเลือดออกด้านหน้าของดวงตา แต่หากเลือดออกไม่มากก็อาจมองไม่เห็นเลือดภายในดวงตาได้ด้วยตาเปล่า และอาจต้องใช้กล้องตรวจตาเพื่อวินิจฉัยอาการ
- ปวดตา
- ตาแพ้แสง
- ตาพร่ามัว หรือการมองเห็นแคบลง เนื่องจากเลือดไปขัดขวางการมองเห็นบริเวณตาดำและม่านตา
สาเหตุของภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า
ภาวะ Hyphema เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการบาดเจ็บที่ดวงตาอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุหรือได้รับการกระทบกระเทือนระหว่างเล่นกีฬา และอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนี้
- ความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณด้านหน้าของม่านตา
- การติดเชื้อที่ดวงตา เช่น การติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ที่เป็นสาเหตุของโรคเริม
- อาการอักเสบอย่างรุนแรงบริเวณม่านตา
- ภาวะแทรกซ้อนจากการปลูกถ่ายเลนส์แก้วตา
- โรคเกี่ยวกับเลือด เช่น โรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคโลหิตจางชนิดซิกเกิลเซลล์ เป็นต้น
- ภาวะเบาหวานขึ้นตา
- โรคมะเร็งที่ดวงตา
การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า
จักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยภาวะ Hyphema เพื่อหาสาเหตุของการมีเลือดออกในตา โดยเบื้องต้นจะสอบถามอาการและประวัติการได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตาในช่วงที่ผ่านมา จากนั้นจึงตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจดูภายนอก การตรวจความดันภายในดวงตา เป็นต้น เพื่อประมาณว่าผู้ป่วยมีความสามารถในการมองเห็นมากน้อยเพียงใด และมีความดันภายในดวงตาเป็นปกติหรือไม่
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูความผิดปกติภายในดวงตา หรือตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูการแตกหักของกระดูกบริเวณกระบอกตาหรือใบหน้าที่อาจทำให้เกิด Hyphema ได้ โดยจะนำผลการวินิจฉัยไปพิจารณาเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษาภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า
ภาวะ Hyphema สามารถรักษาให้หายได้ หากอาการไม่รุนแรงมากนักก็จะสามารถหายได้เองภายในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากมีอาการปวดในระหว่างนี้ ผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินเพราะจะทำให้เลือดไม่แข็งตัวและทำให้เลือดไหลออกมาเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ประวัติการรักษาพยาบาล ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ หรือความทนทานต่อยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษา เป็นต้น โดยจะเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
โดยวิธีที่แพทย์มักแนะนำให้รักษาอาการนี้ ได้แก่
- ใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบที่เป็นสาเหตุของการมีเลือดออก หรือบรรเทาอาการปวด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาขยายม่านตา เป็นต้น
- ใช้ที่ปิดตา เพื่อช่วยป้องกันดวงตาบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
- นอนพักรักษาตัว เพื่อลดการเคลื่อนไหวไม่ให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยลดการใช้สายตาโดยงดอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์ และให้นอนหลับในท่าศีรษะเอียงขึ้นอย่างน้อย 40 องศา เพื่อให้ร่างกายดูดซึมเลือดกลับได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งอาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจวัดความดันดวงตาทุกวัน เพื่อติดตามผลการรักษาและเฝ้าระวังอาการ
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ แพทย์อาจไม่แนะนำให้รักษาด้วยตัวเองที่บ้าน เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย จึงอาจต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งอาจต้องใช้ยาเพื่อป้องกันอาการอาเจียน เพื่อไม่ให้เกิดแรงดันที่ดวงตามากเกินไป แต่หากผู้ป่วยมีความดันที่ดวงตามากเกินไป แพทย์จะพิจารณาใช้ยาเบต้าบล็อกเกอร์ เพื่ิอทำให้ความดันที่ดวงตาลดลง
อย่างไรก็ตาม หากเลือดที่อยู่ภายในดวงตาไม่หายไปหลังจากรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ หรือไม่สามารถควบคุมความดันในดวงตาให้เป็นปกติได้ แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อกำจัดเลือดที่คั่งอยู่ในดวงตาออกไปเพื่อความปลอดภัย
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า
Hyphema อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อดวงตาได้ เช่น ภาวะความดันในดวงตาสูง เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากการมีเลือดออกภายในดวงตา หากไม่รีบรักษาก็อาจนำไปสู่ภาวะต้อหิน ซึ่งอาจทำให้ดวงตาเสียหายจนสูญเสียการมองเห็น หรือมีเลือดออกซ้ำภายในดวงตาได้
การป้องกันภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า
มีแนวทางลดความเสี่ยงในการเกิด Hyphema ได้ โดยป้องกันการบาดเจ็บกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา เช่น ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการได้รับบาดเจ็บ ควรสวมใส่แว่นตาป้องกันดวงตาเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน เป็นต้น