ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypocalcemia)

ความหมาย ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypocalcemia)

Hypocalcemia (ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ) คือ ภาวะที่ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อาจเกิดขึ้นได้หากร่างกายสูญเสียแคลเซียมปริมาณมาก หรือร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุนหรือภาวะกระดูกบาง เนื่องจากแคลเซียมจำเป็นต่อระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูก ฟัน และอวัยวะอื่น ๆ

1739 Hypocalcemia resize

อาการของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ หรือไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก แต่เมื่อมีความรุนแรงขึ้น อาจพบอาการดังต่อไปนี้

  • เวียนศีรษะ
  • เป็นตะคริว กล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อกระตุก 
  • เห็นภาพหลอน หรือมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น รู้สึกวิตกกังวล สับสน ซึมเศร้า หงุดหงิด เป็นต้น
  • มีอาการชา เสียวหรือปวดคล้ายถูกเข็มแทงตามใบหน้า ปาก มือ หรือเท้า
  • สั่น หรือทรงตัวลำบาก
  • กระดูกหักง่าย
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ
  • หัวใจเต้นช้า
  • ชัก

นอกจากนี้ การขาดแคลเซียมยังทำให้เกิดผลกระทบกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในระยะยาวด้วย เช่น เล็บเปราะบาง ผมยาวช้า ผิวหนังบางหรือแห้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการรุนแรงหรือพบความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น รู้สึกชา สูญเสียความทรงจำ ประสาทหลอน หรือมีอาการชัก เป็นต้น

สาเหตุของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ

Hypocalcemia นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อย คือ ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ เพราะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone) จะทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจเกิดจากพันธุกรรม เป็นผลมาจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือการป่วยเป็นมะเร็งบริเวณศีรษะและคอ

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิด Hypocalcemia มีดังนี้

  • การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในวัยเด็ก
  • การใช้ยาบางชนิดที่อาจลดการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย เช่น ยาเฟนิโทอิน ยาฟีโนบาร์บิทัล ยาไรแฟมพิซิน เป็นต้น
  • การขาดสารอาหารหรือร่างกายดูดซึมสารอาหารผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากอาหารที่รับประทานได้อย่างเพียงพอ
  • การแพ้อาหารที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ
  • พันธุกรรม
  • ระดับแมกนีเซียมหรือฟอสฟอรัสในร่างกายผิดปกติ
  • ระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ ทำให้ดูดซึมแคลเซียมได้ยากขึ้น
  • ภาวะเครียดหรือวิตกกังวล
  • โรคตับอ่อนอักเสบหรือโรคตับ
  • ไตวาย
  • อาการช็อคเหตุพิษติดเชื้อ
  • การถ่ายเลือดปริมาณมาก
  • การทำเคมีบำบัด
  • ฟอสเฟตในเลือดสูง
  • การขาดวิตามินซี
  • กลุ่มอาการกระดูกหิว (Hungry Bone Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายดึงแคลเซียมและฟอสเฟตจากกระแสเลือดไปยังกระดูก และมักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด ภาวะหัวใจวาย หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก

นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงเกิด Hypocalcemia ได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย เช่น ทารกแรกเกิด ผู้สูงอายุ ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ผู้หญิงที่ประจำเดือนขาด และคนที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ

แพทย์สามารถวินิจฉัย Hypocalcemia ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การตรวจทั่วไป เป็นการตรวจร่างกายในเบื้องต้นและตรวจหาอาการผิดปกติของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์อาจตรวจดูการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า สภาพผิวหนัง และเส้นผม ประกอบกับวิเคราะห์จากประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น ยาที่รับประทาน ประวัติของคนในครอบครัวที่เคยมีภาวะขาดแคลเซียมหรือเคยเป็นโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
  • การตรวจเลือด เป็นการนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจระดับแคลเซียมในเลือดเพื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน ซึ่งปกติแล้วระดับแคลเซียมในเลือดของผู้ใหญ่ คือ 8.8-10.4 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และตรวจระดับอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่จับกับแคลเซียมในเลือดร่วมด้วย
  • การประเมินสภาพจิต เป็นการตรวจสภาพจิตของผู้ป่วยในเบื้องต้น เพื่อหาอาการที่เป็นผลมาจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ เช่น สมองเสื่อม เห็นภาพหลอน หรือสับสน เป็นต้น
  • การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจต่อมพาราไทรอยด์ การตรวจประเมินระดับวิตามินดี แมกนีเซียม และฟอสเฟต เป็นต้น

การรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ

การรักษาอาการ Hypocalcemia นั้น จะเน้นที่การเพิ่มระดับแคลเซียมในร่างกายให้กลับไปเป็นปกติ หากอาการของผู้ป่วยไม่รุนแรงก็อาจไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และแพทย์อาจแนะนำให้ดูแลตนเองโดยปรับพฤติกรรมบางอย่างแทน เช่น

  • ปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน โดยเน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ชีส นมถั่วเหลือง โยเกิร์ต เนย ถั่วลิสง ผลไม้ ผัก เป็นต้น
  • รับประทานยาหรืออาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มระดับแคลเซียมให้อยู่ในภาวะปกติ เช่น แคลเซียมคาร์บอเนตที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมมากที่สุด แคลเซียมซิเตรทที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายที่สุด แคลเซียมฟอสเฟตที่ดูดซึมได้ง่ายและไม่ทำให้ท้องผูก รวมถึงวิตามินดีและแมกนีเซียม เป็นต้น
  • เดินรับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้า เพื่อช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีและส่งผลดีต่อการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย โดยแพทย์อาจให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงควบคู่ไปด้วย
  • ไม่สูบบุหรี่

ทั้งนี้ หากป่วยอย่างรุนแรงโดยมีอาการชัก แพทย์อาจฉีดแคลเซียมเข้าไปในหลอดเลือดดำ และให้รับประทานยาหรือวิตามินเพิ่มเติม รวมทั้งตรวจระดับแคลเซียมของผู้ป่วยในระหว่างการรักษา ส่วนผู้ที่มีอาการเรื้อรังก็อาจต้องรับประทานยาตลอดชีวิต ซึ่งการใช้อาหารเสริมหรือยาใด ๆ ควรอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์เสมอ

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ

ผู้ที่เป็น Hypocalcemia อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเเทรกซ้อนได้ เช่น

  • โรคกระดูกพรุน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยกระดูกหัก เดินลำบาก หรือเกิดภาวะทุพพลภาพ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น นิ่วในไต ไตวาย เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท

การป้องกันภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ

ภาวะ Hypocalcemia นั้น สามารถป้องกันได้โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการที่ร่างกายควรได้รับ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมและวิตามินดี เช่น

  • ผลิตภัณฑ์จากนม โดยควรเลือกชนิดที่มีไขมันต่ำ เพราะนมปกติอาจมีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์อยู่มาก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูงและโรคหัวใจ
  • ปลาทะเลที่มีกรดไขมันจำเป็น เช่น ปลาแซลมอน หรือปลาทูน่า เป็นต้น
  • ผักใบเขียวและผลไม้ เช่น บร็อคโคลี่ ส้ม มะเดื่อฝรั่งหรือลูกฟิก เป็นต้น
  • ไข่ และอาหารที่มีโปรตีน เช่น ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิต เพื่อรักษาสุขภาพและดูแลตนเองให้ห่างไกลจากภาวะนี้ เช่น

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตราฐาน
  • เดินรับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้า เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีในเลือด
  • หากมีความเสี่ยงทางสุขภาพที่อาจนำไปสู่ภาวะ Hypocalcemia ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันที่ได้ผล โดยเฉพาะผู้ที่ต้องรับการผ่าตัดขจัดต่อมพาราไทรอยด์ที่ผิดปกติ และผู้ป่วยที่มีการให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ