ความหมาย ภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia)
Hypothermia หรือ ภาวะตัวเย็นเกิน คือภาวะที่ร่างกายสูญเสียความร้อนอย่างรวดเร็วจนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้ระบบหัวใจและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้
อาการของภาวะตัวเย็นเกิน
ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับระดับอุณหภูมิของร่างกายที่ลดต่ำลงและกลุ่มผู้ป่วย โดยแบ่งได้ดังนี้
อาการไม่รุนแรง หากมีอุณหภูมิร่างกายลดลงถึงระดับประมาณ 32-35 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- หนาวสั่น
- อ่อนเพลีย
- หายใจถี่
- คลื่นไส้
- มีอาการมึนงง พูดไม่ชัด
- มีปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
อาการรุนแรงปานกลาง ผู้ป่วยที่มีอุณภูมิร่างกายอยู่ที่ประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส มักมีอาการคล้ายกับอาการในขั้นไม่รุนแรง แต่จะมีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลให้ทำกิจวัตรง่าย ๆ ไม่ได้ และอาจพูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่อง
อาการรุนแรงมาก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส จะพบอาการดังต่อไปนี้
- อาการสั่นอาจหายไป
- เกิดอาการมึนงงอย่างรุนแรง สติสัมปชัญญะลดลง
- ชีพจรเต้นอ่อนหรือเต้นผิดปกติ
- หายใจตื้นและหายใจช้าลง
- มีภาวะโคม่าและอาจเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ เด็กทารกหรือเด็กเล็กที่มีภาวะนี้อาจไม่สามารถอธิบายอาการที่เกิดขึ้นกับตนเอง ผู้ปกครองจึงต้องคอยสังเกตความผิดปกติอย่างใกล้ชิด โดยเด็กอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- วัดอุณหภูมิบริเวณใต้รักแร้หรือทวารหนักแล้วพบว่ามีอุณภูมิร่างกายต่ำกว่า 36.4 องศาเซลเซียส
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ซึม
- ไม่ค่อยดูดนม
- ผิวหนังเย็นและแดง
- แขนขาและหน้าท้องเย็น
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ออกซิเจนในเลือดต่ำหรืออาจมีอาการหยุดหายใจเป็นระยะ
นอกจากนี้ ทารกและเด็กเล็กอาจมีอาการของ Hypothermia แบบเรื้อรังได้ ทำให้น้ำหนักลดหรือน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นตามที่ควรจะเป็น และส่งผลต่อการเจริญเติบโต
- ทั้งนี้หากพบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกับภาวะ Hypothermia ดังข้างต้น ควรรีบขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุของภาวะตัวเย็นเกิน
Hypothermia มีสาเหตุมาจากร่างกายสูญเสียความร้อนอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถสร้างความอบอุ่นได้เพียงพอ ทำให้อุณหภูมิร่างกายค่อย ๆ ลดลงจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย โดยร่างกายของคนเราสูญเสียความร้อนได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การสวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องป้องกันความหนาวเย็นอื่น ๆ ที่ไม่หนาพอ
- การสัมผัสกับความเย็นโดยตรง เช่น การตกลงไปในน้ำที่เย็นจัด เป็นต้น
- การสัมผัสกับลมที่มีอุณหภูมิต่ำมาก ๆ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน เพราะลมจะพัดเอาอากาศอุ่น ๆ ที่ปกคลุมบนผิวหนังออกไป
นอกจากนี้ ปัจจัยบางประการอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะ Hypothermia ได้เช่นกัน อาทิ
- เด็กสูญเสียความร้อนในร่างกายได้เร็วกว่าผู้ใหญ่
- ผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยและมีโภชนาการไม่ดีพอ
- ผู้ที่ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนเร็วกว่าปกติ
- มีมวลของร่างกายหรือปริมาณไขมันในร่างกายน้อย
- มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
- อยู่ในสภาพอากาศเย็นจัดเป็นเวลานาน
- การใช้ยาบางชนิด
- การบาดเจ็บรุนแรง
การวินิจฉัยภาวะตัวเย็นเกิน
เมื่อพบผู้ที่มีอาการเข้าข่ายภาวะ Hypothermia ควรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจดูอาการและประเมินความรุนแรงของอาการ รวมทั้งวางแผนการรักษาในเบื้องต้น นอกจากนี้ อาจมีการตรวจวัดอุณหภูมิด้วยอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำ เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการได้อย่างแน่ชัด ช่วยให้เริ่มต้นรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป เนื่องจากผู้ป่วย Hypothermia แต่ละรายอาจมีอุณหภูมิร่างกายลดลงแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกาย
การรักษาภาวะตัวเย็นเกิน
การรักษาผู้ป่วยภาวะ Hypothermia ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยอบอุ่นขึ้น เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายกลับมาทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งการรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเป็นดีที่สุด เพื่อป้องกันผู้ป่วยมีอาการทรุดลงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น หากพบว่ามีอาการเข้าข่าย ผู้ใกล้ชิดควรขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที และในขณะที่รอความช่วยเหลือควรดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- เคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างเบามือที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว และไม่ควรนวดหรือสัมผัสผู้ป่วยมากเกินไปโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้
- นำผู้ป่วยเข้าไปในที่อบอุ่น สภาพแวดล้อมที่อุ่นและแห้งจะช่วยลดความรุนแรงของอาการ หากไม่สามารถทำได้ควรหาเครื่องป้องกันความหนาว เช่น เสื้อกันหนาว ผ้าห่ม หรือผ้าขนหนูคลุมร่างกายของผู้ป่วย และควรให้ผู้ป่วยนอนลงในแนวราบ
- ถอดเสื้อผ้าที่เปียกชื้นออก หากถอดลำบากควรใช้กรรไกรตัด เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องเคลื่อนไหวมากเกินไป จากนั้นใช้ผ้าห่มหรือเสื้อหนา ๆ ห่มให้ทั่วร่างกายเพื่อเพิ่มความอบอุ่น
- ให้ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีและกลืนอาหารได้ ควรให้ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยได้
- สังเกตการหายใจ ผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำมากอาจหมดสติและหยุดหายใจหรือชีพจรหยุดเต้น ซึ่งภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการปั๊มหัวใจ (CPR) เพื่อช่วยชีวิต แต่หากยังมีสัญญาณชีพจรหรือยังหายใจอยู่ ไม่ควรปั๊มหัวใจ เพราะอาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการให้ผู้ป่วยสัมผัสกับความร้อนโดยตรง ห้ามใช้น้ำร้อนหรือแผ่นให้ความร้อนเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายผู้ป่วยโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผิวหนังเสียหาย ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติอย่างรุนแรงและหัวใจหยุดเต้นได้ในที่สุด
เมื่อนำตัวผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะตรวจประเมินความรุนแรงของอาการ หากอาการไม่รุนแรงมากและผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี แพทย์จะให้ห่มผ้าและดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ เพื่อเพิ่มความอุณหภูมิของร่างกาย แต่ผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงอาจต้องใช้วิธีรักษาดังต่อไปนี้
- เพิ่มอุณหภูมิให้เลือด เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิต่ำ เลือดในร่างกายจะมีอุณหภูมิต่ำลงตามไปด้วย แพทย์อาจต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น เครื่องฟอกเลือดหรือไตเทียมที่ใช้ในผู้ป่วยโรคไต หรือเครื่องสำหรับการบายพาสหัวใจ ช่วยทำให้เลือดอุ่นและไหลเวียนได้ดีขึ้น หรือในบางกรณีอาจใช้วิธีให้น้ำเกลืออุ่น ๆ ทางหลอดเลือดดำได้เช่นกัน
- เพิ่มอุณหภูมิในทางเดินหายใจ แพทย์จะให้ออกซิเจนที่มีความชื้นพอเหมาะผ่านทางหน้ากากช่วยหายใจหรือสอดท่อช่วยหายใจเข้าไปทางจมูก เพื่อช่วยให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
- การชะล้างด้วยน้ำเกลือ ในบางกรณีแพทย์อาจสอดท่อที่บริเวณเยื่อหุ้มปอดหรือช่องท้องและให้น้ำเกลืออุ่น ๆ ไหลผ่าน เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะตัวเย็นเกิน
นอกจากภาวะ Hypothermia ที่เกิดขึ้นได้แล้ว การอยู่ในสภาพอากาศเย็นหรือแช่ในน้ำที่เย็นมากเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอื่น ๆ ได้ เช่น เนื้อเยื่อเสียหายรุนแรงจากความเย็น และภาวะเนื้อตายเนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ต้องตัดอวัยวะทิ้ง นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยง เช่น ติดสุรา มีปัญหาทางจิต หรือเป็นผู้สูงอายุ หากอยู่ในสภาวะหนาวเย็นเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะ Hypothermia เพิ่มสูงขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์
การป้องกันภาวะตัวเย็นเกิน
วิธีป้องกันภาวะ Hypothermia ที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็นเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาและปิดมิดชิด และจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้อบอุ่นอยู่เสมอ
นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีอุณหภูมิอบอุ่นเป็นปกติ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะส่งผลให้หลอดเลือดในร่างกายขยายตัวจนเกิดการสูญเสียความร้อนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนที่กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ