อินดินาเวียร์ (Indinavir)

อินดินาเวียร์ (Indinavir)

Indinavir (อินดินาเวียร์) เป็นยาต้านไวรัสกลุ่มยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (Protease Inhibitors) ที่ช่วยลดจำนวนเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยทำงานได้ดีขึ้น รวมไปถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเอชไอวีอย่างการติดเชื้ออื่น ๆ หรือมะเร็ง

ยา Indinavir มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

1724 Indinavir resize

เกี่ยวกับยา Indinavir

กลุ่มยา ยาต้านไวรัส
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อเอชไอวี
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อน
ในครรภ์สัตว์แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษา
ทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่า
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์


คำเตือนในการใช้ยา Indinavir

ควรศึกษาคำเตือนต่อไปนี้ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาอินดินาเวียร์

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ โดยเฉพาะยาลดไขมันในเลือด ยาแก้ปวดไมเกรน หรือยารักษาความผิดปกติทางอารมณ์
  • ระหว่างที่ใช้ยา Indinavir ห้ามใช้ยาหรือสมุนไพรที่มีส่วนผสมของเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort) เพราะอาจลดประสิทธิภาพของยานี้ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวและประวัติการแพ้ต่าง ๆ ก่อนใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่งในระหว่างที่ใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยานี้ จนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  • ยานี้อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียบางรายอาจเสี่ยงมีเลือดออกเพิ่มขึ้นในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ยา Indinavir อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไตโดยเฉพาะในเด็ก ดังนั้น ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มากในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ยานี้อาจทำให้ตับผิดปกติ ซึ่งหากมีอาการ เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม เหนื่อย เบื่ออาหาร ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง อุจจาระมีสีซีด อาเจียน และตัวเหลืองตาเหลือง เป็นต้น ให้ไปพบแพทย์ทันที
  • ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic Anemia) ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการ เช่น เวียนศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ผิวซีด ปวดหลังหรือปวดท้องรุนแรง ปัสสาวะมีสีเข้ม ตัวเหลืองตาเหลือง เหนื่อยและเพลีย เป็นต้น
  • ยา Indinavir ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้ ดังนั้น ผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด
  • ยานี้ไม่สามารถหยุดการแพร่กระจายเชื้อจากโรคที่ติดต่อทางเลือดหรือจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคตับอักเสบ เป็นต้น ดังนั้น ห้ามมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน และห้ามใช้สิ่งของอย่างเข็มฉีดยา ที่โกนหนวด หรือแปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น
  • ระหว่างที่ใช้ยาให้คุมกำเนิดด้วยการสวมถุงยางอนามัยแทนการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดและชนิดอื่น ๆ เพราะยานี้อาจทำให้ยาคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพได้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Indinavir

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

การติดเชื้อเอชไอวี

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 800 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง ปริมาณยาอาจปรับลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยาดีลาเวอร์ดีน ยาอทราโคนาโซล ยาคีโตโคนาโซล และยาไรฟาบิวติน

เด็ก อายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 500 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว1 ตารางเมตร โดยรับประทานยาทุก 8 ชั่วโมง และต้องไม่เกินปริมาณยาสำหรับผู้ใหญ่

การใช้ยา Indinavir

ควรใช้ยาอินดินาเวียร์ตามวิธีใช้ดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ใช้ยา Indinavir ในขณะท้องว่างพร้อมกับดื่มน้ำเปล่าก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง โดยอาจรับประทานยาพร้อมกับน้ำผลไม้ นมขาดมันเนย กาแฟ ชา หรืออาหารว่างได้
  • กรณีที่ต้องใช้ยานี้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ ให้รับประทานยาพร้อมอาหาร
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • ห้ามใช้ยาไดดาโนซีนภายในเวลา 1 ชั่วโมงที่ใช้ยา Indinavir
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ไม่ลืมใช้ยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และใช้ยาในเวลาเดิมทุกวัน
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Indinavir

การใช้ยา Indinavir อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ปวดศีรษะ เหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน อาเจียน และปวดหลัง เป็นต้น แต่หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือมีอาการแพ้ยา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง มีเม็ดพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจมีอาการบางอย่าง เช่น ง่วง สับสน กระหายน้ำ หิว ปัสสาวะบ่อย ผิวหนังแดง หายใจเร็ว และหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ เป็นต้น
  • กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson Syndrome) อาจทำให้มีอาการบางอย่าง เช่น ผิวซีด แดง บวม พุพอง ตาแดงหรือระคายเคือง เป็นแผลในปาก คอ จมูก และตา เป็นต้น
  • มีการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มีไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม และไอ เป็นต้น
  • ปวดสีข้าง
  • ปัสสาวะมีสีชมพูหรือสีขุ่น
  • เจ็บกระเพาะปัสสาวะ เจ็บขณะปัสสาวะ ปัสสาวะในปริมาณที่ผิดปกติ
  • ปวดหลัง ปวดท้อง หรือปัสสาวะมีเลือดปน ซึ่งอาจเป็นอาการของการมีนิ่วในไต
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • เวียนศีรษะรุนแรง หรือหมดสติ
  • แสบ ชา หรือรู้สึกเหน็บชาผิดปกติ
  • มีอาการบวม ชา ขาแขนเปลี่ยนสี เจ็บ หรือมีลักษณะอุ่น ๆ
  • เจ็บกล้ามเนื้อรุนแรง หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดข้อหรือปวดกระดูก
  • การได้ยินเปลี่ยนแปลงไป มีเสียงดังในหู
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เจ็บตา ระคายเคืองตารุนแรง การมองเห็นในตอนกลางคืนแย่ลง
  • รู้สึกผิดปกติเมื่อใส่คอนแทคเลนส์
  • บวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • มีไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย
  • มีเลือดออกทางทวารหนัก หรือเจ็บทวารหนัก
  • ร่างกายไม่มีแรงครึ่งซีก มีปัญหาในการพูดหรือการคิด การทรงตัวเปลี่ยนแปลงไป มองเห็นไม่ชัดเจน หรือกล้ามเนื้อใบหน้าตกข้างใดข้างหนึ่ง
  • เผชิญภาวะซึมเศร้า
  • เวียนศีรษะรุนแรง หรือหมดสติ
  • ชาหรือรู้สึกคล้ายเข็มทิ่มในปาก
  • มีการเปลี่ยนแปลงของไขมันในร่างกาย
  • มีเหงื่อออกมาก
  • ท้องบวม
  • รู้สึกหิวมากหรือน้อยกว่าปกติ
  • มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือมีความคิดต่อสู้

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน