Indomethacin (อินโดเมทาซิน)
Indomethacin (อินโดเมทาซิน) คือ ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSAIDs ซึ่งออกฤทธิ์โดยการลดฮอร์โมนที่เป็นสาเหตุของการอักเสบและอาการเจ็บปวดในร่างกาย ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โรคข้อเสื่อมระดับปานกลางจนถึงรุนแรง ลดอาการปวด บวม และข้อฝืดที่มีสาเหตุจากข้ออักเสบและเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ และอาจนำไปใช้ลดอาการปวดจากภาวะอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ลดการอักเสบจากการผ่าตัดดวงตา บรรเทาอาการปวดประจำเดือน เป็นต้น
ยา Indomethacin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Indomethacin
กลุ่มยา | ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ต้านการอักเสบ ลดอาการปวด บวม |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาเม็ด ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือด ยาหยอดตา ยาน้ำแขวนตะกอน |
คำเตือนในการใช้ยา Indomethacin
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ มีประวัติเป็นโรคหืด เคยมีอาการแพ้รุนแรงหลังใช้ยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่ม NSAIDs ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคหืด โรคไต โรคตับ มีภาวะคั่งน้ำ เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ หรือเคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตัน มีเลือดออกหรือมีแผลในกระเพาะอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- หากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ใช้ยาในปริมาณมาก หรือเป็นโรคหัวใจ อาจเพิ่มความเสี่ยงป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจที่ร้ายแรงขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ยานี้อาจทำให้ไตเกิดความผิดปกติได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยภาวะขาดน้ำ ภาวะหัวใจวาย เป็นโรคไต ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคบางชนิด ดังนั้น ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ นอกจากนั้น หากพบว่าปัสสาวะน้อยลง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ก่อนหรือหลังการผ่าตัดบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)
- ยานี้อาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้อย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนใด ๆ โดยความเสี่ยงเผชิญอาการนี้จะเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ เพราะการใช้ยาในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในช่วงที่กำลังให้นมบุตร เพราะตัวยาอาจซึมเข้าสู่น้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อเด็กได้
- ยังไม่มีการรับรองให้ใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี และการใช้ยานี้ในเด็กอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ง่าย เช่น ตับเกิดความผิดปกติอย่างรุนแรง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้เสมอ
- ผู้สูงอายุควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ง่าย เช่น ไตเกิดความผิดปกติ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- ในขณะที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยไม่ควรขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย เพราะยานี้อาจทำให้ง่วงซึมหรือเวียนศีรษะได้
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ รวมถึงยาอื่น ๆ ที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้เอง หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร
-
หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อื่น ๆ
ในขณะที่ใช้ยานี้ - ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันผิวจากแสงแดด และสวมใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกายขณะออกแดด เพราะตัวยาอาจทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น
ปริมาณการใช้ยา Indomethacin
เก๊าท์ระยะเฉียบพลัน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 150-200 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 2-3 ครั้ง/วัน จนกว่าอาการจะบรรเทา
อาการปวดและอักเสบจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ
ผู้ใหญ่
ยารับประทาน ปริมาณเริ่มต้น 25 มิลลิกรัม 2 หรือ 3 ครั้ง/วัน หากจำเป็นสามารถเพิ่มปริมาณยาครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม/สัปดาห์ ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 150-200 มิลลิกรัม/วัน
ยาเหน็บ เหน็บยาปริมาณ 100 มิลลิกรัม เข้าทางทวารหนักในช่วงเวลากลางคืน หรืออาจเหน็บซ้ำอีกครั้งในตอนเช้าหากจำเป็น
ป้องกันรูม่านตาหดในการผ่าตัด
ผู้ใหญ่ หยดยาหยอดตา 4 หยด 1 วันก่อนผ่าตัด และอีก 4 หยด 3 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
ป้องกันและลดการอักเสบของดวงตาหลังการผ่าตัด
ผู้ใหญ่ หยดยาหยอดตาครั้งละ 1 หยด 4-6 ครั้ง/วัน
บรรเทาอาการปวดหลังทำเลเซอร์รักษาสายตาผิดปกติ
ผู้ใหญ่ หยดยาหยอดตา 1 หยด 4 ครั้ง/วัน เป็นเวลาประมาณ 2-3 วันหลังการรักษา
บรรเทาอาการปวดประจำเดือน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 75 มิลลิกรัม/วัน
กระตุ้นการปิดของหลอดเลือดหัวใจในเด็ก ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
เด็กทารก ให้ยาทางหลอดเลือดดำทั้งหมด 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 12-24 ชั่วโมง โดยให้ยาซึมเข้าสู่กระแสเลือดช้า ๆ เป็นเวลาประมาณ 20-30 นาที
- สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 วัน ครั้งแรกให้ยาปริมาณ 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และตามด้วยยาปริมาณ 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม อีก 2 ครั้ง
- เด็กอายุ 2-7 วัน ให้ยาทั้งหมด 3 ครั้ง ปริมาณครั้งละ 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม
- เด็กอายุ 7 วันขึ้นไป ครั้งแรกให้ยาปริมาณ 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ตามด้วยปริมาณ 0.25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม อีก 2 ครั้ง
- หากยังคงพบความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ อาจจำเป็นต้องให้ยาซ้ำอีกครั้งหลังจากผ่านไป 48 ชั่วโมงของการให้ยาชุดแรก หากให้ยาอีกครั้งแล้วเด็กไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป
ทั้งนี้ ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยารักษาแต่ละอาการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาด้วย
การใช้ยา Indomethacin
- ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยในการใช้ยาควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ
- ไม่ควรบด หัก เคี้ยว หรือแกะยาชนิดแคปซูลออกมา ควรรับประทานด้วยการกลืนยาทั้งเม็ด
- สำหรับยาเหน็บ หากพบว่ายาอ่อนตัวเกินไปจนเหน็บยาไม่ได้ ให้นำไปแช่ในน้ำเย็นหรือแช่ตู้เย็นเป็นเวลาประมาณ 30 นาที แล้วจึงแกะห่อยาออกและให้ยาสัมผัสน้ำเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้ายและงอเข่าขวาแล้วนำยาเหน็บสอดเข้าทางทวารหนัก เมื่อเหน็บยาเรียบร้อยแล้วให้ผู้ป่วยนอนพักสักครู่ และควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวลำไส้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายดูดซึมยาได้อย่างเต็มที่
- ในกรณีที่ใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน แพทย์อาจจำเป็นต้องตรวจร่างกายหรือตรวจเลือดเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยไม่ได้รับอันตรายจากการใช้ยานี้
- หากอาการป่วยกลับแย่ลงหลังใช้ยา ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น และความร้อน หากยาหมดอายุให้ทิ้งยาทันที และไม่ควรแช่ยาน้ำ่ช่องแช่แข็ง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Indomethacin
ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการใช้ยาชนิดนี้ ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ง่วงซึม รู้สึกเหนื่อยหรือเครียด และมีเสียงดังอยู่ในหู
หากผู้ป่วยพบว่ามีอาการแพ้ยา เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดัง มีผื่นคัน ลมพิษ หน้าบวม ตาบวม ลิ้นบวม คอบวม และริมฝีปากบวม รวมถึงพบอาการของโรคหัวใจหรือโรคเส้นเลือดในสมอง เช่น รู้สึกชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าหรือแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง เจ็บหน้าอกลามไปถึงหัวไหล่หรือขากรรไกร หายใจไม่อิ่ม หรือพูดไม่ชัด ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบหรือขอความช่วยเหลือโดยเร็ว
นอกจากนั้นหากมีอาการไม่พึงประสงค์ดังต่อไปนี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
- ตัวบวม หรือน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด
- อุจจาระมีเลือดปน หรือมีสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- ปวดท้องส่วนบน คัน ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร รู้สึกเหนื่อย ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด และมีภาวะดีซ่าน ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าตับผิดปกติ
- ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะ ปัสสาวะลำบากหรือเจ็บขณะปัสสาวะ เท้าหรือข้อเท้าบวม ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าไตผิดปกติ
- ผิวซีด เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม รู้สึกหวิว หัวใจเต้นเร็ว ขาดสมาธิ ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะโลหิตจาง
- เจ็บคอ มีไข้ ลิ้นบวม หน้าบวม แสบตา เจ็บที่ผิวหนัง มีผื่นสีม่วงหรือสีแดง ผิวหนังเกิดเม็ดพุพอง และผิวลอก ซึ่งเป็นอาการของผื่นแพ้ที่ผิวหนังชนิดรุนแรง
หากผู้ป่วยพบอาการข้างเคียงอื่น ๆ หรือความผิดปกติใด ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้น ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที