Lactulose (แล็กทูโลส)

Lactulose (แล็กทูโลส)

แล็กทูโลส (Lactulose) เป็นน้ำตาลสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เป็นยาระบาย เมื่อรับประทานเข้าไป ตัวยาจะแตกออกในลำไส้ใหญ่แล้วออกฤทธิ์ด้วยการดึงน้ำจากร่างกายมายังลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระนิ่มลงและขับออกมาได้ง่ายขึ้น 

แล็กทูโลสเป็นยาที่ช่วยรักษาอาการท้องผูกทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง อีกทั้งยังสามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคตับที่มีระดับแอมโมเนียในเลือดสูง โดยตัวยาจะช่วยดูดแอมโมเนียมาที่ลำไส้แล้วขับออกไปทางทวารหนัก โดยปริมาณการรับประทานยาอาจแตกต่างกันไปตามโรคนั้น ๆ ควรสอบ

Lactulose

เกี่ยวกับยาแล็กทูโลส

กลุ่มยา ยาระบาย
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เองจากร้านขายยา
สรรพคุณ รักษาอาการท้องผูก อาการผิดปกติทางสมองจากโรคตับ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์  Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่ายาแล็กทูโลสสามารถดูดซึมผ่านน้ำนมมารดาไปสู่ทารก ผู้ให้นมบุตรควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง และปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย
รูปแบบของยา ยาผง ยาน้ำ

คำเตือนการใช้ยาแล็กทูโลส

ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้ยาแล็กทูโลส ยาระบาย หรือยาชนิดใดก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาแล็กทูโลส นอกจากนี้ ควรระมัดระวังในการใช้ยาและปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงยา สมุนไพร วิตามิน หรืออาหารเสริมใด ๆ ที่กำลังใช้ โดยเฉพาะยาลดกรด ยาปฏิชีวนะ เช่น นีโอมัยซิน (Neomycin) รวมถึงยาระบายต่าง ๆ
  • ผู้ที่ต้องรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำไม่ควรใช้ยานี้ เนื่องจากแล็กทูโลสประกอบด้วยน้ำตาลแล็กโทสและกาแล็กโทส
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคชนิดใดก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่ต้องรับการผ่าตัดหรือตรวจลำไส้
  • ผู้ที่มีปัญหาในการย่อยน้ำตาลแล็กโทสควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยร่างกายอ่อนแอที่ได้รับแล็กทูโลสนานกว่า 6 เดือน ควรมีการตรวจวัดเกลือแร่ในเลือดเป็นระยะ
  • หากมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง ควรหยุดใช้ยานี้และไปพบแพทย์ทันที

ปริมาณการใช้ยาแล็กทูโลส

ปริมาณการใช้ยาแล็กทูโลสอาจแตกต่างกันไปตามโรคหรือปัญหาสุขภาพ เช่น

อาการท้องผูก

ตัวอย่างการใช้ยาแล็กทูโลสเพื่อรักษาอาการท้องผูก มีดังนี้ 

ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 15–30 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง

โรคสมองจากโรคตับ

ตัวอย่างการใช้ยาแล็กทูโลสเพื่อรักษาโรคสมองจากโรคตับ มีดังนี้ 

ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 3–4 ครั้ง ครั้งละ 30–45 มิลลิลิตร 

เด็กอายุ 0–17 ปี รับประทาน 2.5–10 มิลลิลิตร สามารถแบ่งรับประทานวันละ 3–4 ครั้ง ทั้งนี้ สำหรับเด็กโต แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 40–90 มิลลิลิตร และสามารถแบ่งรับประทานวันละ 3–4 ครั้ง

การใช้ยาแล็กทูโลส

ควรใช้ยาแล็กทูโลสตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดหรือตามคำแนะนำบนฉลากยา ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากกว่า น้อยกว่า หรือนานกว่าระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ การใช้ยาแล็กทูโลสอย่างปลอดภัย อาจปฏิบัติตามได้ดังนี้

  • ยาน้ำควรรับประทานโดยใช้ช้อนหรือถ้วยสำหรับวัดปริมาณเพื่อความแม่นยำ ไม่ควรใช้ช้อนธรรมดา หากไม่มีอุปกรณ์สำหรับวัดให้สอบถามจากเภสัชกร
  • หากลืมรับประทานยาให้รับประทานทันทีที่นึกได้ หรือข้ามไปรับประทานยาครั้งต่อไปหากใกล้ถึงเวลา ห้ามเพิ่มปริมาณยาทดแทน
  • หลังรับประทานยาอาจต้องรอนานถึง 48 ชั่วโมงจึงจะเห็นผลเต็มที่ แต่หากรับประทานหลายวันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์
  • ยาแล็กทูโลสชนิดผงควรใช้ผสมกับน้ำอย่างน้อยประมาณ 120 มิลลิลิตร และอาจผสมน้ำผลไม้หรือนมเพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น
  • ยาแล็กทูโลสในรูปแบบยาน้ำอาจมีสีเข้มขึ้นได้เอง ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่หากพบว่ายาเปลี่ยนสีเข้มขึ้นมาก หรือมีลักษณะเหนียวข้นหรือใสขึ้นก็ไม่ควรนำมาใช้
  • ยานี้ควรเก็บรักษาที่อุณภูมิห้อง ห่างไกลจากความชื้น ความร้อน และพ้นจากมือเด็ก

ปฏิกิริยาระหว่างยาแล็กทูโลสกับยาอื่น 

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแล็กทูโลสร่วมกับยาลดกรด ยาปฏิชีวนะ เช่น นีโอมัยซิน (Neomycin) และยาระบาย เนื่องจากอาจทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้ ทั้งนี้ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ หากกำลังใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ อยู่ 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแล็กทูโลส

การใช้ยาแล็กทูโลสอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น

นอกจากนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง อาเจียน รู้สึกปวดบีบที่ท้อง หรือมีอาการแพ้ยา เช่น หายใจลำบาก ลมพิษ มีอาการบวมที่ลิ้น ริมฝีปาก ใบหน้า หรือลำคอ