Levodopa (เลโวโดปา)
Levodopa (เลโวโดปา) เป็นสารเคมีธรรมชาติที่เมื่อผ่านเข้าสู่สมองแล้วจะกลายเป็นสารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสัน โดยอาจใช้ร่วมกับยา Carbidopa หรือยา Benserazide ตามการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย ออกฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้ไม่ช่วยชะลออาการหรือรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดได้
เกี่ยวกับยา Levodopa
กลุ่มยา | ยาโดปามีนพรีเคอร์เซอร์ (Dopamine Precursor) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวร่างกาย |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ |
Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลอง ในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ |
คำเตือนในการใช้ยา Levodopa
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยา Levodopa หรือแพ้ส่วนประกอบของยาชนิดนี้และยาชนิดอื่น รวมทั้งอาการแพ้อื่น ๆ ด้วย
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพรใด ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาของตัวผู้ป่วยเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะหากเคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ต้อหิน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีลาโนมา โรคไต โรคตับ โรคลมชักหรืออาการชักอื่น ๆ มีแผลในกระเพาะอาหาร มีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนบางอย่าง หรือมีความผิดปกติทางจิตใจ
- แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาชนิดนี้ ก่อนเข้ารับการรักษาหรือการผ่าตัดใด ๆ
- สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากใช้ยา Levodopa อยู่ อาจทำให้ผลการตรวจระดับน้ำตาลหรือคีโตนจากการตรวจปัสสาวะผิดพลาดได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนรับการตรวจ
- ยาชนิดนี้อาจมีปฏิกิริยาบางอย่างกับอาหารที่มีโปรตีนสูง แอลกอฮอล์ และยาสูบ จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารในระหว่างที่ใช้ยา
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากยาอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมและทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ปริมาณการใช้ยา Levodopa
โรคพาร์กินสัน
ตัวอย่างการใช้ยา Levodopa เพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน
การรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยา Levodopa เพียงชนิดเดียว
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 125 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทุก 3-7 วัน ตามการตอบสนองของร่างกาย ปริมาณสูงสุด 8 กรัม/วัน
การรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยา Levodopa ร่วมกับยาชนิดอื่น
ผู้ใหญ่ เนื่องจากการใช้ยาชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงบางอย่างต่อร่างกาย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยานี้ร่วมกับยาชนิดอื่น อย่างคาร์บิโดปาและเบนเซอราไซด์ เพื่อลดอาการข้างเคียงนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ร่างกายของผู้ป่วยอาจมีการตอบสนองต่อยาและปริมาณยาที่แตกต่างกันตามแต่ละบุคคล ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับปริมาณการใช้ยาชนิดนี้ให้ดีก่อนเสมอ
การใช้ยา Levodopa
- ใช้ยาตามฉลากและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- ห้ามใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์สั่งหรือตามที่ฉลากระบุไว้
- ให้กลืนยาทั้งเม็ด โดยห้ามบดหรือเคี้ยว ยกเว้นได้รับคำสั่งจากแพทย์ และผู้ป่วยอาจแบ่งครึ่งเม็ดยาก่อนรับประทานได้
- ห้ามหยุดใช้ยาด้วยตนเองแม้ยาจะไม่แสดงผลการรักษาดีเท่าที่ควรก็ตาม เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยา Levodopa เป็นเวลาหลายสัปดาห์จึงจะเห็นผล
- ในช่วงเริ่มต้น ผู้ป่วยอาจรับประทานยาชนิดนี้ร่วมกับอาหาร เพื่อบรรเทาอาการของผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น อาการปวดท้องเป็นต้น แต่หากร่างกายมีการปรับสภาพจนคุ้นชินกับยาแล้ว ควรรับประทานยาในขณะที่ท้องว่าง เพื่อให้ยาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับเวลาที่เหมาะสมในการใช้ยาด้วย
- ผู้ที่ใช้ยา Levodopa รักษาเพียงตัวเดียว ไม่ควรรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Pyridoxine หรือวิตามินบี 6 เนื่องจากอาจมีผลทำให้ประสิทธิภาพของยา Levodopa ลดลงได้ ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่ง
- หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
- หลีกเลี่ยงการขับรถ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา จนกว่าจะแน่ใจว่ายานี้ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เนื่องจากยา Levodopa อาจส่งผลให้มีอาการเวียนศีรษะ มึนงง หรือเห็นภาพซ้อนได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงขณะใช้ยา และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่เหมาะสม
- เก็บรักษายา Levodopa ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้นและความร้อน โดยปิดฝาบรรจุภัณฑ์ทุกครั้งหลังใช้งาน และควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็ก
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Levodopa
การใช้ยา Levodopa อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ดังนี้
- เวียนศีรษะ
- เป็นลม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ไม่อยากอาหาร
- ปวดท้อง และผายลมบ่อย
- ปากแห้ง มีน้ำลายมากผิดปกติ กลืนลำบาก
- รู้สึกชา หรือไม่สบายตัว
- กัดฟัน
- ซุ่มซ่าม มือสั่น
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายผิดปกติ
- รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล
- มีความคิดที่ผิดไปจากปกติ เกิดความสับสน กระสับกระส่าย ประสาทหลอน หรือฝันร้าย
- มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติบริเวณใบหน้าหรืออวัยวะส่วนบนของร่างกายอย่างควบคุมไม่ได้
ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ อาจพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว มีผื่นขึ้นบนผิวหนัง ปัสสาวะลำบาก ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย ขยับปากลำบาก รู้สึกร้อนวูบวาบ ผิวหนังแดง สะอึก มีเหงื่อออกมาก มีปัญหาในการนอนหลับ เวียนศีรษะเมื่อลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอน กล้ามเนื้อกระตุก ตากระตุก กะพริบตาถี่ มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ ซึมเศร้า และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นต้น ในบางกรณี Levodopa อาจส่งผลให้ปัสสาวะ น้ำลาย หรือเหงื่อของผู้ป่วยมีสีคล้ำกว่าปกติด้วย และอาจทำให้มีอาการขมปากขมคอหรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การใช้ยา Levodopa อาจทำให้มีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้น้อยมาก เช่น ปวดหลัง ปวดขา มีไข้ รู้สึกหนาว มีอาการชัก ความดันโลหิตสูง อุจจาระมีสีดำหรือมีเลือดปน ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตาไม่ได้ เบื่ออาหาร ผิวซีด อาเจียนเป็นเลือดหรือมีลักษณะคล้ายเมล็ดกาแฟที่ถูกบดแล้ว มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ขาและเท้าบวม เจ็บคอ และอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายอาจแข็งตัวนานผิดปกติ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงบางอย่างอาจไม่รุนแรงและอาจไม่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ แต่หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้นที่อาจก่อให้เกิดความกังวลใจ ควรไปปรึกษาแพทย์ด้วยเช่นกัน