ความหมาย เนื้องอกไขมัน (Lipoma)
Lipoma หรือ เนื้องอกไขมัน เกิดจากเนื้อเยื่อไขมันเจริญเติบโตขึ้นบริเวณใต้ผิวหนังจนเกิดเป็นก้อนนูนที่มีลักษณะนิ่ม จัดเป็นเนื้องอกที่ไม่อันตราย แต่ผู้ป่วยควรสังเกตอาการและตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของเนื้องอกเป็นระยะ หากเนื้องอกดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มีอาการเจ็บปวด หรือมีขนาดขยายใหญ่ขึ้น อาจต้องผ่าตัดออกหรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
อาการของเนื้องอกไขมัน
อาการของ Lipoma ที่เห็นได้ชัดเจนคือมีก้อนกลมนูนบนผิวหนัง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2 นิ้ว พบได้บริเวณคอ หลัง ไหล่ ท้อง ต้นขา หรือแขน โดยเนื้องอกดังกล่าวอาจมีลักษณะดังนี้
- นิ่ม หยุ่น
- มีสีซีดหรือสีเดียวกับผิวหนัง
- กดแล้วไม่รู้สึกเจ็บ
- เคลื่อนไหวได้ตามแรงกด
- ขนาดของเนื้องอกค่อย ๆ โตขึ้นอย่างช้า ๆ
ทั้งนี้ เนื้องอกไขมันบางชนิด เช่น เนื้องอกไขมันชนิดมีเส้นเลือด (Angiolipoma) ที่เกิดขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือมีอาการกดเจ็บ นอกจากนี้ ตุ่มก้อนที่เกิดขึ้นอาจเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อไขมันซึ่งมีลักษณะคล้าย Lipoma ได้ โดยเนื้องอกชนิดนี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย แต่พบได้น้อยมาก ดังนั้น หากพบตุ่มหรือก้อนเนื้อที่มีอาการเจ็บหรือมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงควรปรึกษาแพทย์
สาเหตุของเนื้องอกไขมัน
ปัจจุบันทางการแพทย์ไม่ทราบสาเหตุของการเกิด Lipoma ที่แน่ชัด แต่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น
- โรคมาเดอลัง (Madelung’s Disease) ที่ทำให้เกิดเนื้องอกไขมันที่ผิวหนังบริเวณร่างกายส่วนบน
- กลุ่มอาการคาวเดน (Cowden Syndrome) ส่งผลให้เกิดเนื้องอกผิดปกติตามร่างกาย
- โรคอะดิโปซิส โดโลโรซา (Adiposis Dolorosa) เป็นความผิดปกติที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดเนื้องอกไขมันที่มีอาการเจ็บปวดร่วมกับอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น สับสน ความจำเสื่อม เป็นต้น แต่โรคนี้พบได้น้อย
- กลุ่มอาการการ์ดเนอร์ (Gardner Syndrome) เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อจำนวนมากในลำไส้ใหญ่ ซีสต์ที่ผิวหนัง และเนื้องอกกระดูก
Lipoma อาจเกิดขึ้นได้กับคนในทุกวัย แต่มักพบในกลุ่มคนช่วงอายุ 40-60 ปี และพบในเด็กได้น้อยมาก นอกจากนี้ ผู้ที่เกิดบาดแผลอาจเสี่ยงเกิดเนื้องอกชนิดนี้ตามมาได้
การวินิจฉัยเนื้องอกไขมัน
แพทย์จะวินิจฉัยอาการของ Lipoma จากการตรวจดูและคลำบริเวณที่เกิดตุ่มนูนเพื่อระบุชนิดของเนื้องอก รวมทั้งซักประวัติเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยหรือประวัติการรักษาอื่น ๆ และในบางกรณีอาจสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ได้แก่
- การตรวจด้วยการถ่ายภาพ เช่น การเอกซเรย์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจโดยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อดูลักษณะของก้อนเนื้อโดยละเอียดว่าเป็นเป็นเนื้องอกชนิดใด
- การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ วิธีนี้มักไม่ค่อยนำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย Lipoma แต่อาจต้องใช้ในการตรวจยืนยันผล โดยจะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณเนื้องอกและนำไปส่องกล้องเพื่อระบุชนิดของเนื้องอก หากเป็นเนื้องอกชนิดนี้จะพบเซลล์ไขมันจำนวนมากในเนื้อเยื่อดังกล่าว หรือบางครั้งอาจพบเซลล์ชนิดอื่น เช่น เซลล์กระดูกอ่อน หรือเซลล์กระดูก เล็กน้อย
การรักษาเนื้องอกไขมัน
Lipoma เป็นโรคที่ไม่อันตรายและไม่จำเป็นต้องรักษาเสมอไป แต่หากมีอาการเจ็บปวดหรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพื่อกำจัดเนื้องอก โดยวิธีที่อาจนำมาใช้ ได้แก่
- การผ่าตัด เป็นวิธีที่นิยมใช้ เพราะกำจัดเนื้องอกออกได้หมดและมักไม่กลับมาเป็นซ้ำ แต่อาจทำให้เกิดแผลเป็นหรือรอยฟกช้ำภายหลัง ซึ่งในปัจจุบันมีการผ่าตัดชนิดแผลเล็กที่ช่วยลดผลข้างเคียงนี้ได้
- การดูดไขมัน แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาเจาะลงไปบริเวณตุ่มไขมัน จากนั้นจึงค่อย ๆ ดูดไขมันออกมา วิธีนี้ช่วยให้เนื้องอกไขมันยุบลงแต่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้
- การฉีดสารสเตียรอยด์ ในกรณีที่ไม่ต้องผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยฉีดสารสเตียรอยด์เพื่่อช่วยให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลง ทว่าการใช้สเตียรอยด์อาจส่งผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียและความเสี่ยงก่อนรักษาด้วยวิธีนี้
ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกไขมัน
Lipoma มักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในบางรายเนื้องอกอาจไปกดทับกล้ามเนื้อหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งจนทำให้มีอาการเจ็บปวด แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อย
การป้องกันเนื้องอกไขมัน
Lipoma ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เนื้องอกชนิดนี้มักไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีเนื้องอกชนิดนี้ควรสังเกตผิวหนังบริเวณดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ หากพบก้อนนูนผิดปกติร่วมกับอาการเจ็บปวด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด