Losartan (ลอซาร์แทน)
Losartan (ลอซาร์แทน) คือ ยาลดความดันโลหิตประเภทหนึ่ง ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งมักใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตันในผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือลดความเสียหายของไตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
Losartan เป็นยาในกลุ่มแองจิโอเทนซิน 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนีสต์ (Angiotensin II Receptor Antagonists) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนแองจิโอเทนซิน 2 มีผลต่อการรักษาภาวะที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนของเลือด นอกจากอาการป่วยดังกล่าวข้างต้นแล้ว Losartan อาจใช้เพื่อรักษาภาวะอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ได้ด้วย
เกี่ยวกับยา Losartan
กลุ่มยา | แองจิโอเทนซิน 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนีสต์ |
ประเภทยา | ยาตามคำสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาความดันโลหิตสูง ช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ ผู้ที่กำลังใช้ยา ไม่ควรวางแผนตั้งครรภ์ ควรระมัดระวังและใช้วิธีการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และห้ามใช้ Losartan ในผู้ป่วยตั้งครรภ์เด็ดขาด เนื่องจากยาอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์จนเป็นเหตุให้ทารกจริญเติบโตผิดปกติหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีอายุครรภ์อยู่ในไตรมาสที่ 2–3 |
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร | ไม่แนะนำให้ผู้ให้นมบุตรใช้ยานี้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันได้ว่ายาจะถูกส่งผ่านทางน้ำนมจนเป็นอันตรายต่อเด็กหรือไม่ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยงดให้นมบุตรหรืองดรับประทานยานี้ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ด |
คำเตือนของการใช้ยา Losartan
เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้ใช้ยา Losartan ควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ห้ามใช้ยาในผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ในยา Losartan
- ในผู้ป่วยเบาหวาน ห้ามใช้ยา Losartan ร่วมกับยาตัวอื่นที่มีส่วนประกอบของยาอะลิสคิเรน (Aliskiren)
- ห้ามรับประทานอาหารเสริมที่มีโพแทสเซียม หรือสารทดแทนเกลือในขณะใช้ยา Losartan นอกจากแพทย์จะอนุญาต
- ประวัติทางการแพทย์และการรักษาก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะประวัติอาการป่วยที่สำคัญ เช่น โรคไต โรคตับ ภาวะหัวใจวาย ภาวะเกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล ภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะใช้ยา เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจส่งผลทำให้ความดันโลหิตต่ำ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยา Losartan
- ไม่ลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันอาการเวียนหัว
- Losartan อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ จนนำไปสู่ภาวะไตวายได้ ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาจึงควรเฝ้าระวังอาการ และไปพบแพทย์ทันทีหากพบสัญญาณของอาการป่วยที่เป็นอันตราย
ปริมาณการใช้ยา Losartan
ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา Losartan เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ เช่น
1. ภาวะความดันโลหิตสูง
ผู้ใหญ่ และเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัม รับประทานยาวันละครั้ง ครั้งละ 50 มิลลิกรัม หรือแพทย์อาจเพิ่มเป็น 100 มิลลิกรัม วันละครั้ง
เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวในช่วง 20–50 กิโลกรัม เริ่มให้ยาจาก 0.7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และให้ยาไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/วัน
2. ลดความเสียหายของไตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
ผู้ใหญ่ เริ่มจากรับประทานยาวันละครั้ง ครั้งละ 50 มิลลิกรัม หรือแพทย์อาจเพิ่มเป็น 100 มิลลิกรัม วันละครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของระดับความดันโลหิต
3. ภาวะหัวใจวาย
ผู้ใหญ่ เริ่มจากรับประทานยา วันละครั้ง ครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม ในระหว่างการรักษาอาจปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม วันละครั้ง ขึ้นอยู่กับการตอบสนองและการทนต่อยาของผู้ป่วย
การใช้ยา Losartan
ผู้ป่วยต้องใช้ยา Losartan ตามปริมาณและวิธีใช้ที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาน้อยกว่าหรือเกินกว่าปริมาณที่แพทย์สั่ง หากลืมรับประทานยาครั้งหนึ่ง ผู้ป่วยควรรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ควรข้ามยารอบนั้นไปหากใกล้เวลาในการรับประทานยาครั้งถัดไป และห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่าเด็ดขาด
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะรับประทานยาร่วมกับมื้ออาหารหรือไม่ก็ได้ ควรเก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด
การรักษาด้วยยา Losartan อาจใช้เวลายาวนาน 3–6 สัปดาห์ ในระหว่างที่ใช้ยา ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อตรวจวัดระดับความดันโลหิตอยู่เสมอ หากอาการป่วยต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาไปแล้วกว่า 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ แต่หากเป็นการใช้ยา Losartan รักษาภาวะความดันโลหิตสูง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
นอกจากนี้ การใช้ยา Losartan อาาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ง่าย ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือภาวะเกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล หากผู้ป่วยพบอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที เช่น มีเหงื่อออกมากผิดปกติ อาเจียน ท้องร่วง เป็นต้น
ปฏิกิริยาระหว่างยา Losartan กับยาอื่น
ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบประวัติทางการแพทย์ และยารักษาตัวอื่นที่กำลังใช้อยู่เสมอ เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับ Losartan จนส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายได้ โดยแพทย์จะแนะนำว่าควรเริ่มใช้ยาหรือควรหยุดใช้ยาชนิดใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังใช้ยารักษาดังต่อไปนี้
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretic)
- ยารักษาความดันโลหิตชนิดอื่น
- ยาลิเทียม (Lithium)
- ยาต้านอาการอักเสบในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เซเลโคซิบ (Celecoxib) อินโดเมทาซิน (Indomethacin) หรือ มีลอกซิแคม (Meloxicam) เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Losartan
บางครั้ง Losartan อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงแก่ร่างกายในผู้ป่วยบางรายได้ โดยผลข้างเคียงทั่วไปที่มักพบจากการใช้ยา Losartan ได้แก่
- มีอาการคล้ายหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ จาม เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ
- ปวดขา ปวดหลัง เป็นตะคริว
- ปวดท้อง หรือท้องร่วง
- ปวดหัว วิงเวียน
- รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง
- นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งชี้อาการการแพ้ยา เช่น มีผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีปัญหาการหายใจ หน้าบวม ลิ้นบวม ปากบวม หรือคอบวม
ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อย แต่อาจเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะที่กล้ามเนื้อได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย จนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน หากพบอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อแบบหาสาเหตุไม่ได้ กดแล้วเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ อ่อนเพลียร่วมกับมีไข้ เหนื่อยล้าหมดแรงผิดปกติ และปัสสาวะมีสีเข้ม
นอกจากนี้ ยังมีอาการที่เป็นผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายอื่น ๆ จากการใช้ยา Losartan ที่ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังสังเกตอาการ และไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนเช่นกัน หากพบตัวอย่างอาการดังต่อไปนี้
- เจ็บปวด หรือปวดแสบในขณะปัสสาวะ
- หน้าซีด ผิวซีด เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
- หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอก ใจเต้นแรง
- ง่วงซึม สับสนมึนงง
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง
- ไม่อยากอาหาร กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน
- ตัวบวม น้ำหนักเพิ่มขึ้น ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย
- มีโพแทสเซียมในร่างกายปริมาณมาก ทำให้มีอาการหัวใจเต้นช้าลง ชีพจรแผ่วเบา กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการเหน็บชา