Lurasidone (ลูราซิโดน)
Lurasidone (ลูราซิโดน) เป็นยารักษาโรคจิตเภทและโรคไบโพลาร์ ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ปรับความสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยปรับอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด บรรเทาอาการวิตกกังวล ลดอาการประสาทหลอน ช่วยให้นอนหลับ และรู้สึกอยากอาหาร ทั้งนี้ Lurasidone อาจนำมาใช้รักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ได้
เกี่ยวกับยา Lurasidone
กลุ่มยา | ยารักษาอาการทางจิต (Antipsychotic) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคจิตเภทและโรคไบโพลาร์ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการระบุ หมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ แต่หากกำลัง ตั้งครรภ์ในขณะที่ใช้ยานี้ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เนื่องจากการใช้รักษาอาการทางจิตในช่วงไตรมาสสุดท้าย ของการตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ทั้งนี้ ไม่ควร หยุดใช้ยาด้วยตนเอง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ ในการหยุดใช้ยาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด สำหรับผู้ที่ให้นมบุตรขณะใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ถึง ความเสี่ยงต่อทารกก่อนเสมอ |
คำเตือนในการใช้ยา Lurasidone
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังใช้ยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิด เพราะตัวยาอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนเกิดผลข้างเคียงหรือมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งตัวยาบางชนิดก็ไม่ควรรับประทานร่วมกับยานี้ แพทย์จึงอาจต้องเปลี่ยนแผนการรักษาให้เหมาะสม เช่น ยาต้านเชื้อราอย่างยาคีโตโคนาโซลหรือยาวอริโคนาโซล ยาปฏิชีวนะอย่างยาคลาริโทรมัยซินหรือยาไรแฟมพิซิน ยาต้านไวรัสอย่างยาริโทนาเวียร์ ยากันชักอย่างยาคาร์บามาซีปีนหรือยาเฟนิโทอิน เป็นต้น
- หากผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวมีประวัติทางการแพทย์ใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ คอเลสเตอรอลสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง โรคอ้วน โรคสมองเสื่อม มีปัญหาในการกลืน มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ชัก โรคตับ โรคไต มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ต่อมไทรอยด์หรือต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ โรคมะเร็งเต้านม มีความคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น
- การเริ่มใช้ยาครั้งแรกอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีความคิดฆ่าตัวตายโดยเฉพาะผู้ป่วยวัยรุ่น แพทย์จึงจะตรวจดูอาการของผู้ป่วยเป็นระยะตั้งแต่เริ่มใช้ยา จึงควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
- ยาอาจทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะและง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายจนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือนอนอย่างช้า ๆ และระมัดระวังในการขึ้นลงบันไดขณะใช้ยา เพราะอาจเป็นสาเหตุของการหกล้ม อุบัติเหตุ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเกรปฟรุต การดื่มน้ำเกรปฟรุต หรือการใช้ผลิตภัณฑ์จากเกรปฟรุต เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยาลูราซิโดนและเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
- การใช้ยานี้อาจส่งผลให้ร่างกายไวต่ออุณหภูมิอย่างภาวะร้อนจัด ผู้ป่วยจึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อนหรือในระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำหรือร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป
- ผู้ป่วยสูงอายุอาจไวต่อการเกิดผลข้างเคียงของยานี้ได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาการง่วงซึม เวียนศีรษะ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการหกล้มสูงกว่าคนทั่วไป
- ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดบ่อยครั้งในขณะที่ใช้ยานี้
- ไม่อนุญาตให้ใช้ยาลูราซิโดนรักษาโรคจิตเภทในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี หรือใช้รักษาโรคไบโพลาร์ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี
ปริมาณการใช้ยา Lurasidone
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาอาจแตกต่างกันไปตามโรคของผู้ป่วย โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
รักษาโรคจิตเภท
ตัวอย่างการใช้ยา Lurasidone เพื่อรักษาโรคจิตเภท
ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องปริมาณ 40-160 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 160 มิลลิกรัม/วัน
เด็กอายุ 13-17 ปี เริ่มรับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องปริมาณ 40-80 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
รักษาโรคไบโพลาร์
ตัวอย่างการใช้ยา Lurasidone เพื่อรักษาโรคไบโพลาร์
ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องปริมาณ 20-120 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน
เด็กอายุ 10-17 ปี เริ่มรับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องปริมาณ 20-80 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
การใช้ยา Lurasidone
วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- ควรรับประทานยาพร้อมกับมื้ออาหาร โดยผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่ให้พลังงานอย่างน้อย 350 แคลอรี่
- ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยานี้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- หากยาใกล้จะหมด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับยามาเพิ่ม ไม่ควรรอให้ยาหมดก่อนแล้วจึงไปรับยา
- ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยานี้กะทันหัน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย
- หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกรด้วย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Lurasidone
ยาลูราซิโดนมักก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีอาการสั่น กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มีปัญหาในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ รู้สึกกระสับกระส่ายหรืออยู่ไม่สุข คลื่นไส้ อาเจียน น้ำมูกไหล หรือมีปัญหาในการนอนหลับ เป็นต้น
กรณีที่ใช้ยาในปริมาณสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างรุนแรง หรือไม่อาจควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ดวงตา ใบหน้า แขน หรือขาได้ โดยบางรายอาจมีอาการถาวร รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้สูงอายุเพศหญิงอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการดังกล่าวมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากผู้ป่วยรับประทานยาแล้วเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้
- มีสัญญาณอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
- มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้
- มีปัญหาในการกลืน น้ำลายไหล
- เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ
- ชัก
- ในเพศหญิงมีประจำเดือนผิดปกติ มีน้ำนมไหล
- ในเพศชายอาจหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เต้านมขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ หรืออวัยวะเพศแข็งตัวผิดปกติ
- มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอหรือปาก เหงือกบวม รู้สึกเจ็บขณะกลืน มีแผลที่ผิวหนัง มีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ไอ หรือหายใจลำบาก
- มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น กระหายน้ำมากขึ้น ปริมาณปัสสาวะมากขึ้น หิวง่าย ปากแห้ง ลมหายใจเป็นกลิ่นผลไม้ เป็นต้น
- มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อแข็งเกร็งมาก ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพลียมาก ปัสสาวะมีสีเข้ม ปริมาณของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป มีไข้สูง เหงื่อออก สับสน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ สั่น รู้สึกคล้ายจะหมดสติ เป็นต้น
- ระดับความดันโลหิตลดลงอย่างมากจนอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ และอาจเสี่ยงต่อการหกล้ม
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือมีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรม วิตกกังวล ตื่นตระหนก มีปัญหาในการนอนหลับ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย มีอาการต่อต้าน ก้าวร้าว กระสับกระส่าย คึกคักหรือซึมเศร้ามากกว่าปกติ และมีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง รวมถึงพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว