ความหมาย Lymphedema
Lymphedema หรือภาวะบวมน้ำเหลือง คือ อาการบวมที่เกิดจากการสะสมของน้ำเหลืองในชั้นใต้ผิวหนังเนื่องจากระบบน้ำเหลืองถูกอุดกั้น ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำเหลืองออกไปได้ โดยมักพบอาการบวมได้บ่อยบริเวณแขนและขา แต่อาจเกิดขึ้นได้ที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ใบหน้า ลำคอ หน้าท้อง หรืออวัยวะเพศ เป็นต้น
อาการบวมจากการคั่งของน้ำเหลืองอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองหรือเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยอาการบวมอาจเกิดอย่างฉับพลันหรือค่อย ๆ บวมขึ้นในช่วง 2-3 เดือน แม้จะยังไม่มีวิธีรักษาที่แน่ชัด แต่หากได้รับการวินิจฉัยเร็วและมีการดูแลที่เหมาะสมก็จะช่วยบรรเทาอาการและป้องกันอาการแย่ลงได้
อาการของ Lymphedema
Lymphedema อาจส่งผลให้เกิดอาการ ดังนี้
- เกิดการบวมบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของแขนหรือขา รวมทั้งนิ้วมือและนิ้วเท้า โดยอาจเกิดกับแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือแขนทั้งสองข้าง หรือบางกรณีอาจเกิดอาการบวมขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่นได้เช่นกัน
- รู้สึกอึดอัดหรือหนักบริเวณที่บวม
- เคลื่อนไหวแขนขาได้ลำบาก
- รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว
- รู้สึกตึงหรือแข็งที่ผิวหนัง บางครั้งอาจรู้สึกแสบผิวหรือผิวแดง
- เกิดการติดเชื้อซ้ำ ๆ ที่บริเวณเดิม
อาการบวมอาจเกิดขึ้นช้า ๆ และมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการบวมที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็งอาจเกิดขึ้นหลังได้รับการรักษาเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี
ทั้งนี้ หากมีอาการบวมต่อเนื่องโดยไม่หายไป หรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Lymphedema มาก่อนและพบว่าบริเวณที่บวมมีขนาดใหญ่ขึ้น ควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการเกิด Lymphedema ซ้ำ
สาเหตุของ Lymphedema
ระบบน้ำเหลืองเป็นระบบการทำงานที่สำคัญในร่างกายและเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภายในระบบน้ำเหลืองจะประกอบด้วย ต่อมน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลือง และอวัยวะต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ร่วมกันในการหมุนเวียนน้ำเหลืองในร่างกาย และมีเซลล์ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ที่อยู่ในระบบน้ำเหลืองช่วยทำลายและกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ออกจากร่างกาย
การอุดตันในระบบน้ำเหลืองจะทำให้ไม่สามารถระบายน้ำเหลืองออกไปในบางบริเวณได้ โดยภาวะบวมน้ำเหลืองมักพบที่บริเวณแขนหรือขา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือประเภทปฐมภูมิ (Primary Lymphedema) และประเภททุติยภูมิ (Secondary Lymphedema) ซึ่งพบได้บ่อยกว่าประเภทแรก
ภาวะบวมน้ำเหลืองแบบปฐมภูมิ (Primary Lymphedema)
Lymphedema แบบปฐมภูมิเป็นประเภทที่พบได้ยาก โดยเกิดจากความผิดปกติในระบบน้ำเหลืองเอง ไม่มีโรคหรือภาวะอื่น ๆ มาทำให้เกิดขึ้น มักได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมเกี่ยวกับความผิดปกติของพัฒนาการของท่อน้ำเหลือง แบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้ดังนี้
- โรค Milroy (Milroy’s Disease) เป็นความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่กำเนิด
- โรค Meige (Meige Disease) ที่ทำให้เกิด Lymphedema ในช่วงวัยรุ่นหรือระหว่างตั้งครรภ์ แต่ในบางกรณีอาจเกิดช่วงหลังอายุ 35 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- ภาวะบวมน้ำเหลืองในช่วงหลัง (Lymphedema Tarda) เป็นประเภทที่พบได้น้อยหลัง มักพบช่วงอายุ 35 ปีเป็นต้นไป
ภาวะบวมน้ำเหลืองแบบทุติยภูมิ (Secondary Lymphedema)
Lymphedema แบบทุติยภูมิเกิดจากความเสียหายของต่อมน้ำเหลืองหรือท่อน้ำเหลืองจากสภาวะของโรคอื่น หรือเกิดจากกระบวนการรักษาต่าง ๆ เช่น
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองหรือท่อน้ำเหลืองที่เสียหายออก เช่น การผ่าตัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม ทำให้ต่อมน้ำเหลืองและหลอดเลือดบริเวณแขนอาจได้รับความเสียหายจากการผ่าตัด
- การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี อาจทำให้เกิดรอยแผลและเกิดการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลืองหรือท่อน้ำเหลือง
- เซลล์มะเร็งปิดกั้นท่อน้ำเหลือง เช่น มีเนื้องอกโตขึ้นใกล้ต่อมน้ำเหลืองหรือท่อน้ำเหลือง ซึ่งอาจขยายใหญ่ขึ้นและปิดกั้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง
- การติดเชื้อปรสิตที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะโรคเท้าช้าง (Filariasis) ที่มียุงเป็นพาหะ มักพบในประเทศที่มีภูมิอากาศเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน
นอกจากนี้ Lymphedema ยังอาจเกิดในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น อายุที่มากขึ้น ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และโรคข้ออักเสบบางชนิด อย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือโรคสะเก็ดเงินข้ออักเสบ (Psoriatic Arthritis) เป็นต้น
การวินิจฉัย Lymphedema
แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัว เพื่อวินิจฉัยในกรณีที่มีอาการของ Lymphedema จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Lymphedema ออก อย่างอาการบวมน้ำ ที่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย ลิ่มเลือดอุดตัน หรือภาวะอื่น ๆ รวมถึงตรวจสอบประวัติการเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งที่อาจเกี่ยวข้องกับต่อมน้ำเหลืองตามอาการที่เกิดขึ้น
หากสาเหตุการเกิด Lymphedema ไม่แน่ชัด แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้
- การวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ เพื่อให้ได้ภาพสามมิติที่แสดงรายละเอียดของอาการได้ดียิ่งขึ้น
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นการเอกซเรย์แสดงภาพตัดขวางของโครงสร้างในร่างกาย จึงช่วยให้เห็นภาพของระบบน้ำเหลืองที่อุดตัน
- การทำ Doppler Ultrasound เป็นการอัลตราซาวด์รูปแบบหนึ่งที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจดูความดันและการไหลเวียนของเลือด นอกจากนี้ ยังใช้ตรวจหาการอุดตันที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิด Lymphedema
- การตรวจ Lymphoscintigraphy โดยการฉีดสีเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองและตรวจด้วยเครื่องสแกน เพื่อประเมินการไหลเวียนหรือการอุดกั้นของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย
การรักษา Lymphedema
Lymphedema เป็นภาวะที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงเน้นไปที่การลดอาการบวม ควบคุมอาการเจ็บปวด และป้องกันอาการแย่ลง ทั้งนี้ ภาวะบวมน้ำเหลืองมักเกิดจากโรคอื่นมาทำให้เกิดอาการ (Secondary Lymphedema) การรักษาอย่างตรงจุดจากโรคต้นกำเนิดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้
การดูแลตนเองที่บ้าน
ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ออกกำลังกาย เป็นการช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของระบบน้ำเหลือง และเป็นการเตรียมร่างกายก่อนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างการยกหรือถือสิ่งของ ทั้งนี้ ไม่ควรออกกำลังอย่างหักโหมเกินไป แต่ควรออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อยืดกล้ามเนื้อแขนและขา โดยอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- พันผ้ายืด (Elastic bandage) หรือถุงน่อง (Stocking) ที่บริเวณแขนหรือขาให้กระชับพอดี จะช่วยควบคุมอาการบวม และกระตุ้นให้น้ำเหลืองไหลเวียนกลับสู่ร่างกายได้ดี โดยผ้ายืดควรกระชับกับนิ้วมือหรือนิ้วเท้าและคลายออกให้พอดีกับแขนหรือขา
- ยกอวัยวะที่บวมให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้น้ำเหลืองที่คั่งอยู่สามารถไหลเวียนคืนสู่กระแสเลือด
- การควบคุมน้ำหนัก หากเป็นผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ การลดน้ำหนักอาจช่วยให้อาการของ Lymphedema ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมดีขึ้นได้
การรักษาด้วยการใช้ยา
ในกรณีที่ Lymphedema เกิดจากการติดเชื้อของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และแพทย์จะเฝ้าสังเกตการติดเชื้อในบริเวณที่มีอาการ ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อโรคเท้าช้าง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาไดเอทธิลคาร์บามาซีน (Diethylcarbamazine) เพื่อรักษาโรคเท้าช้างร่วมกับการรักษา Lymphedema
การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
วิธีการอื่นที่อาจใช้รักษา Lymphedema มีดังนี้
- การนวดเพื่อระบายน้ำเหลืองที่คั่งอยู่บริเวณแขนและขา ซึ่งอาจช่วยให้อาการของผู้ป่วยที่บวมน้ำเหลืองจากโรคมะเร็งดีขึ้น โดยการนวดควรอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนัง มีลิ่มเลือดอุดตัน หรือมีโรคที่เกี่ยวข้องกับบริเวณที่มีการระบายน้ำเหลือง ควรหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีนวด
- การสวมปลอกรัด (Compressive Garment) ที่มีลักษณะคล้ายถุงน่องขณะออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง ผู้ป่วยควรเลือกสวมปลอกรัดที่มีขนาดพอดี หรือในผู้ป่วยบางรายอาจปรึกษาแพทย์เพื่อสั่งทำปลอกรัดที่เหมาะสมสำหรับตนเอง
- การใช้เครื่องนวดอัดแรงลม (Pneumatic Compression) ผู้ป่วยจะสวมถุงน่องที่บริเวณแขนหรือขาที่มีอาการบวม โดยถุงน่องที่เชื่อมต่อกับตัวเครื่องจะใช้แรงดันลมไล่น้ำเหลืองที่คั่งอยู่จากบริเวณแขนหรือขาที่บวมออกไปตามปลายนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ทำให้น้ำเหลืองไหลเวียนกลับสู่ร่างกายได้ตามปกติ
- การรักษาด้วยวิธีการแบบผสมผสาน (Complex Decongestive Therapy) เป็นการบำบัดร่างกายร่วมกับการปรับพฤติกรรม แต่อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน อัมพาต หัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดอุดตัน หรือมีการติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เป็นการผ่าตัดเพื่อตัดเนื้อเยื่อส่วนเกินที่บริเวณแขนหรือขาส่วนที่บวมออก ในบางกรณีอาจใช้วิธีผ่าตัดเพื่อต่อท่อน้ำเหลืองเข้ากับหลอดเลือดดำ หรือการปลูกถ่ายต่อมน้ำเหลือง
ภาวะแทรกซ้อน Lymphedema
Lymphedema ที่บริเวณแขนหรือขา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงดังนี้
- การติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่ผิวหนังบริเวณแขนหรือขาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังอย่างรุนแรง หรือการติดเชื้อที่ท่อน้ำเหลือง (Lymphangitis) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก (Deep Vein Thrombosis)
- โรคมะเร็ง Lymphangiosarcoma เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ยาก แต่อาจพบในผู้ที่มีอาการ Lymphedema ขั้นรุนแรงและเรื้อรัง โดยในระยะแรกอาจพบรอยสีม่วงคล้ำบนผิวหนัง และสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเซลล์มะเร็งออก แต่โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมีค่อนข้างต่ำ
การป้องกัน Lymphedema
แม้ว่า Lymphedema ชนิดปฐมภูมิจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ Lymphadema ชนิดทุติยภูมิสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดอาการได้ เช่น ผู้ป่วยที่รับการรักษาโรคมะเร็งควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับกระบวนการรักษามะเร็งอย่างการฉายรังสี ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อต่อมน้ำเหลืองหรือท่อน้ำเหลือง รวมไปถึงยังสามารถป้องกันด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น
- ระมัดระวังอุบัติเหตุหรือการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณแขนและขา บาดแผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย รอยขีดข่วนหรือรอยไหม้ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงกระบวนการทางการแพทย์ในบริเวณที่มีรอยโรคอยู่เดิม อย่างการเจาะเลือดหรือการฉีดวัคซีนบริเวณแขนหรือขาที่มีอาการ
- ใช้ของมีคมหรือเครื่องมือต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง เช่น สวมถุงมือเมื่อใช้อุปกรณ์ทำสวนหรือทำครัว ใช้เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าด้วยความระวัง และสวมปลอกนิ้วสำหรับจับเข็มเย็บผ้า เป็นต้น
- รักษาความสะอาดของแขน ขา และเล็บเป็นประจำ และควรสวมรองเท้าเมื่อออกนอกบ้านเสมอ รวมถึงสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังหรือรอยแตกผิดปกติที่แขนและขาอยู่เสมอ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้
- พักการใช้แขนหรือขาขณะพักฟื้นจากการรักษามะเร็ง ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเบา ๆ เพื่อยืดกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง แต่ไม่ควรหักโหมหรือใช้แรงแขนและขาที่มีอาการบวมจนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวจากการผ่าตัดหรือการฉายรังสี
- หลีกเลี่ยงการประคบร้อนและเย็นเกินพอดี เช่น การใช้น้ำแข็งที่เย็นจัดหรือแผ่นประคบร้อนในบริเวณที่มีอาการบวม รวมถึงหลีกเลี่ยงการแช่น้ำร้อนหรืออบไอน้ำ
- ยกแขนหรือขาที่บวมให้สูงเหนือระดับของหัวใจ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่คับหรือแน่นเกินไป โดยเฉพาะบริเวณแขนหรือขา รวมถึงหลีกเลี่ยงการผ้าพันแขนวัดความดันโลหิตในบริเวณที่มีอาการบวม