โรคเอ็มซีเอส (MCS)

ความหมาย โรคเอ็มซีเอส (MCS)

MCS (Multiple Chemical Sensitivity) หรือโรคเอ็มซีเอส เป็นภาวะตอบสนองไวต่อสารเคมีภายในสิ่งแวดล้อมหรือตึกอาคาร อาการที่เกิดขึ้นของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ คัน ผื่นขึ้น จาม เจ็บคอ เจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก ท้องอืด สับสน ไม่มีสมาธิ อารมณ์เปลี่ยนแปลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะยังนี้มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายคนไม่เห็นด้วยที่จะจัดภาวะ MCS เป็นอาการป่วย

1535 Resized MCS

อาการของโรคเอ็มซีเอส

อาการของภาวะ MCS นั้นค่อนข้างแตกต่างหลากหลาย แต่ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • มีผื่นขึ้น
  • มีปัญหาในการหายใจ
  • ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็งหรือเคลื่อนไหวลำบาก
  • สับสน มีปัญหาด้านความจำ

อาการอื่น ๆ ของ MCS ที่มีรายงานว่าพบในผู้ป่วยบางรายเช่นกัน ได้แก่

  • วิงเวียน
  • คลื่นไส้
  • ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะ
  • ท้องเสีย
  • คันตามผิวหนัง
  • ลมพิษ
  • เจ็บคอ
  • จาม คัดจมูก
  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ไม่สามารถทนต่อความเย็นหรือความร้อนได้
  • อาการทางสภาวะอารมณ์และจิตใจ เช่น หงุดหงิด สับสน อารมณ์เปลี่ยนแปลง ไม่มีสมาธิ เป็นต้น

ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นอาการของโรคอื่น ๆ ที่คล้ายกันได้ เมื่อมีอาการดังข้างต้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัย

สาเหตุของโรคเอ็มซีเอส

ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ MCS แต่มีข้อสันนิษฐานว่าสารเคมีในอากาศอาจเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและส่งผลต่อสมองระบบลิมบิก ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ ความจำ และพฤติกรรม และอาจทำให้ร่างกายไวต่อกลิ่นของสารเคมี แต่ก็ยังคงเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่าภาวะนี้เกิดจากกลไกการตอบสนองของภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับอาการแพ้ต่าง ๆ หรืออาจเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและโรควิตกกังวลด้วย

ภาวะ MCS จะเกิดขึ้นได้หลังจากการสัมผัสสารเคมีปริมาณมากที่หกหรือรั่วซึมออกมา หรือสารเคมีปริมาณน้อยที่ต้องเผชิญทุกวันเป็นเวลานานอย่างสารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น พรมที่ซื้อมาใหม่ ผ้าปูที่นอน ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หมึกหนังสือพิมพ์ น้ำหอม น้ำยาล้างเล็บ สเปรย์ฉีดผม สี ทินเนอร์ สีผสมอาหาร สารให้ความหวานในอาหาร สารกันบูด ยาฆ่าแมลง สารคลอรีนในสระน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ หากมีการระบายอากาศที่ไม่ดีภายในตึกหรือในห้องทำงานก็อาจทำให้มีอาการนี้ได้เช่นกัน

การวินิจฉัยโรคเอ็มซีเอส

ภาวะ MCS ไม่มีวิธีวินิจฉัยอย่างเฉพาะเจาะจง หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการใด ๆ ดังข้างต้น แพทย์จะซักถามรายละเอียดอาการ ประวัติสุขภาพ และกิจวัตรประจำวันที่ผ่านมา เพื่อหาสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ หากเพิ่งเริ่มมีอาการหลังย้ายที่อยู่อาศัยหรือเผชิญสารบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ผู้ป่วยอาจต้องรับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ หรือการตรวจเลือด เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าอาการดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุมาจากการแพ้อาหาร สารต่าง ๆ หรือมีปัญหาสุขภาพทางจิตแต่อย่างใด โดยผู้ป่วยอาจถูกส่งตัวไปตรวจกับแพทย์เฉพาะทางบางด้านด้วย

การรักษาโรคเอ็มซีเอส

เนื่องจากในปัจจุบันยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะ MCS น้อยมาก ทั้งยังไม่มีการวินิจฉัยที่ยืนยันผลได้อย่างแน่ชัด การรักษาภาวะนี้จึงทำได้ยากตามไปด้วย ผู้ป่วยอาจได้รับยาแก้แพ้หากแพทย์วินิจฉัยว่าอาการเกิดจากการแพ้ หรือหากอาการที่เกิดขึ้นมีปัจจัยกระตุ้นเป็นโรคทางจิตอย่างภาวะซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล แพทย์อาจสั่งจ่ายยาคลายกังวล ยานอนหลับ หรือยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs เช่น ฟลูออกซิทีน ไซตาโลแพรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตและเรียนรู้ว่าปัจจัยใดกระตุ้นให้ตนป่วย หากเกิดอาการหลังจากสัมผัสสารเคมี ผลิตภัณฑ์บางชนิด หรือสารที่คาดว่าก่อให้เกิดภูมิแพ้ ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นเพื่อป้องกันอาการแย่ลงหรือเกิดขึ้นซ้ำ และอาจลองจัดที่อยู่อาศัยใหม่โดยกำจัดสิ่งของหรือเฟอร์นิเจอร์ที่คาดว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นออกไป

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเอ็มซีเอส

อาการที่เกิดขึ้นจาก MCS อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในกรณีที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน จนทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ หากมีอาการรุนแรงก็อาจถึงขั้นต้องแก้ปัญหาด้วยการย้ายที่ทำงาน

การป้องกันโรคเอ็มซีเอส

ภาวะ MCS นั้นไม่อาจป้องกันได้ เนื่องจากไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดและยังมีปัจจัยกระตุ้นที่หลากหลายด้วย แต่อาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ด้วยแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้หรือการเผชิญสารเคมีที่เสี่ยงก่อให้เกิดการระคายเคืองอย่างยาฆ่าแมลงและสารเคมีอันตรายอื่น ๆ
  • ดูแลรักษาสุขภาพจิตให้ดี ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตกกังวล เช่น ไปเที่ยว นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจ ฟังเพลง ปรึกษาคนรอบข้างเมื่อมีปัญหาในชีวิต เป็นต้น