ความหมาย Megaloblastic Anemia (ภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี)
Megaloblastic Anemia หรือภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี เป็นภาวะโลหิตจางประเภทหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือด ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ จึงไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ตัวซีด กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหน้ามืดง่าย
ไขกระดูกมีหน้าที่ผลิตเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดแดงทำให้หน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดงในผู้ป่วย Megaloblastic Anemia จะทำให้ลำเลียงออกซิเจนได้น้อยลง สาเหตุหลักของภาวะนี้คือการขาดวิตามินบี 12 และวิตามินบี 9 หรือโฟเลต ซึ่งจะรักษาด้วยการให้วิตามินบีทดแทนตามที่ผู้ป่วยขาด
สาเหตุของ Megaloblastic Anemia
สาเหตุหลักของ Megaloblastic Anemia คือการขาดวิตามินบี 12 และวิตามินบี 9 หรือโฟเลต ซึ่งเป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์แข็งแรง
การขาดวิตามินบีเหล่านี้จะทำให้เกิดความผิดปกติในกระบวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง คือทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ จนไม่สามารถออกจากไขกระดูกและเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยและไม่แข็งแรงและไม่สามารถขนส่งออกซิเจนไปสู่ร่างกายได้เพียงพอ จึงเรียกว่าภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
การขาดวิตามินบี 12
การขาดวิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin) ของผู้ป่วย Megaloblastic Anemia อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ ซึ่งพบในอาหารประเภทเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อปลา เช่น ซาร์ดีน ทูน่า รวมทั้งอาหารทะเล เช่น หอยตลับ ไข่ และนม ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดจึงเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 ได้ง่าย
นอกจากนี้ โรคและภาวะสุขภาพบางอย่างอาจทำให้ร่างกายได้รับหรือดูดซึมวิตามินบี 12 ได้น้อยลง และนำไปสู่ Megaloblastic Anemia เช่น
- โรคต่าง ๆ เช่น โรคโครห์น (Crohn's Disease) โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อพยาธิตัวแบน กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome)
- การรับประทานยาที่ยับยั้งการดูดซึมวิตามินบี 12 เช่น ยาลดการหลั่งกรดในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors และยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ที่ใช้รักษาเบาหวาน
- การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Gastrectomy) เช่น การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery)
- ภาวะโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12 (Pernicious Anemia) เป็นภาวะโลหิตจางประเภทหนึ่งที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 น้อยเกินไป หรือร่างกายขาดโปรตีนที่มีหน้าที่ดูดซึมวิตามินบี 12
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งพบได้น้อย
การขาดโฟเลต
โฟเลตพบในตับ ไข่ ข้าวกล้อง ผักใบเขียว และผลไม้ การขาดโฟเลตจากการรับประทานไม่เพียงพอเป็นสาเหตุที่พบได้น้อย โดยอาจพบในผู้ที่รับประทานผักปรุงสุกมากเกินไป ซึ่งโฟเลตจะสลายไปกับความร้อนในการปรุงอาหาร หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับประทานวิตามินโฟลิก (Folic Acid) เสริม และผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารรุนแรง
นอกจากนี้ การขาดโฟเลตในผู้ป่วย Megaloblastic Anemia อาจเกิดจากโรคและปัจจัยด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น
- โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น โรคโครห์น และโรคเซลิแอค (Celiac Disease)
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป ทำให้ร่างกายดูดซึมโฟเลตได้น้อยลง
- ผู้ป่วยภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic Anemia)
- การใช้ยา เช่น ยากันชัก ยารักษาโรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) ยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine) ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) และยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate)
- ผู้ที่ปัสสาวะบ่อย เช่น ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคไตเฉียบพลัน และผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตเป็นเวลานาน
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease) และภาวะการดูดซึมโฟเลตบกพร่องแต่กำเนิด (Congenital Folate Malabsorption Syndrome)
อาการ Megaloblastic Anemia
อาการของผู้ป่วย Megaloblastic Anemia จะคล้ายกับอาการของผู้ป่วยโรคโลหิตจางทั่วไป เช่น
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย เป็นอาการแรกที่มักเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วย Megaloblastic Anemia ไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่
- หายใจลำบาก หายใจถี่
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ตัวซีด หรือตัวเหลือง
- หน้ามืด เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเต้นเร็วผิดปกติ
- ลิ้มบวมแดง ลิ้นแตก มีแผลในปาก
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- คลื่นไส้ ท้องเสีย
- มือเท้าชา หรือรู้สึกเสียวแปลบ เสียการทรงตัว
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- มีอาการทางจิตประสาท เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล สับสน และความจำเสื่อม
อาการ Megaloblastic Anemia ที่ควรไปพบแพทย์
อาการของ Megaloblastic Anemia จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ผู้ป่วยไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรรีบไปพบแพทย์ ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย ตัวซีดผิดปกติ และหายใจลำบาก การไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการทางระบบประสาท และความผิดปกติในทารกจากการขาดวิตามินขณะตั้งครรภ์
การวินิจฉัย Megaloblastic Anemia
แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ เช่น โรคประจำตัว การรับประทานอาหาร การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ยาของผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้น และตรวจหา Megaloblastic Anemia ด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น
- การตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เป็นการตรวจปริมาณ ขนาด และลักษณะของเม็ดเลือดแดงว่าความสมบูรณ์หรือไม่ และตรวจวัดการดูดซึมของวิตามินบี 12 และโฟเลต
- การตรวจสเมียร์เลือด (Peripheral Blood Smear) เป็นการตรวจดูรูปร่างและจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดแดงผ่านกล้องกล้องจุลทรรศน์
- การตรวจนับปริมาณเม็ดเลือดแดงตัวอ่อน (Reticulocyte Count) เพื่อตรวจดูการสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูกว่ามีความสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้ป่วย Megaloblastic Anemia อาจได้รับการการตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12 หากตรวจพบว่าร่างกายผู้ป่วยขาดวิตามินบี 12
การรักษา Megaloblastic Anemia
การรักษา Megaloblastic Anemia จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความรุนแรงของอาการ อายุ ปัจจัยด้านสุขภาพ และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย โดยอาจใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน ดังนี้
การรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 และโฟเลต
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วย Megaloblastic Anemia รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 และโฟเลตมากขึ้น
- ผู้ป่วยที่ขาดวิตามินบี 12 ควรรับประทานเนื้อสัตว์ เครื่องใน ปลา อาหารทะเลที่มีเปลือก ไข่ นม หรือซีเรียลที่ผ่านกระบวนการเติมวิตามินบี 12 ให้มากขึ้น
- ผู้ป่วยที่ขาดโฟเลต ควรรับประทานผักใบเขียว ถั่ว และธัญพืช
การให้วิตามินบี 12 และโฟเลตเสริม
สำหรับผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ หรือได้รับวิตามินบี 12 และโฟเลตไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร หรือมีความผิดปกติที่ส่งผลต่อการดูดซึมวิตามิน แพทย์อาจให้วิตามินเสริมชนิดเม็ดให้ผู้ป่วยรับประทาน หรือชนิดฉีด โดยอาจต้องฉีดทุกเดือนตามดุลพินิจของแพทย์
โดยผู้ป่วย Megaloblastic Anemia ควรได้รับวิตามินบี 12 เสริมประมาณ 1,000 ไมโครกรัม/วัน และโฟเลตเสริม 1 มิลลิกรัม/วัน เพื่อรักษาอาการขาดวิตามินบี 12 และโฟเลต
สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิด Megaloblastic Anemia เช่น โรคโครห์น แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย และบางครั้งแพทย์อาจนัดหมายให้ผู้ป่วยมาตรวจเลือดเพื่อติดตามผลหลังการรักษา
ภาวะแทรกซ้อนของ Megaloblastic Anemia
Megaloblastic Anemia ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น
- โรคหัวใจและหลอดเลือดจากภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง ซึ่งปอดและหัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดมากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย
- ความผิดปกติของระบบประสาทจากการขาดวิตามินบี 12 เช่น การมองเห็นเปลี่ยนไป เซ พูดลำบาก มีอาการปลายประสาทอักเสบ มีอาการเจ็บแปลบ โดยเฉพาะบริเวณขา และเสียความทรงจำ
- มีบุตรยาก โดยอาจเกิดขึ้นชั่วคราว และจะอาการอาจดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษา
- ความผิดปกติในทารก เช่น ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defects) ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด และทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อย
- มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่
การป้องกัน Megaloblastic Anemia
Megaloblastic Anemia ที่เกิดจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 และโฟเลตสูง ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำในการรับประทานอาหารหรือวิตามินเสริม เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินบี 12 และโฟเลตอย่างเพียงพอ รวมทั้งจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินได้ดีขึ้น
ผู้มีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดปัญหาในการดูดซึมวิตามินเข้าสู่ร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม