ความหมาย ไมโครเซบฟาลี (Microcephaly)
Microcephaly (ไมโครเซบฟาลี) หรือภาวะศีรษะเล็ก เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่ทำให้ศีรษะของเด็กมีขนาดเล็กกว่าปกติเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานของเด็กในวัยและเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากสมองหยุดพัฒนาหรือหยุดเจริญเติบโต อาจเกิดกับทารกในครรภ์หรือเกิดหลังเด็กคลอดช่วงแรก ๆ อาจมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยอื่น ๆ และโดยทั่วไป Microcephaly ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากได้รับการดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้น อาจช่วยเสริมพัฒนาการและช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
อาการของไมโครเซบฟาลี
อาการสำคัญที่บ่งบอกว่ามีภาวะ Microcephaly คือ เด็กมีขนาดเส้นรอบวงของศีรษะเล็กกว่าเด็กในวัยและเพศเดียวกัน แต่ไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ โดยศีรษะอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น แต่ก็ยังถือว่ามีขนาดเล็กกว่าขนาดปกติ บางรายอาจมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติ แต่บางรายอาจมีความผิดปกติในการเรียนรู้ ซึ่งอาการจะไม่แย่ลงเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงมากก็อาจพบว่ามีหน้าผากที่ลาดเอียงไปทางด้านหลังด้วย รวมไปถึงอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น
- มีความผิดปกติในการทรงตัวและการประสานงานกันของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย
- พัฒนาการล่าช้า เช่น ด้านการยืน การนั่ง และการเดิน เป็นต้น
- มีความผิดปกติในการกลืนและการรับประทานอาหาร
- สูญเสียการได้ยิน
- ซุกซนผิดปกติ หรือไม่มีสมาธิ
- มีปัญหาในการพูดและการมองเห็น
- สมองและระบบประสาทอื่น ๆ มีความผิดปกติ
- ตัวเตี้ยกว่าปกติ
- ชัก
สาเหตุของไมโครเซบฟาลี
ภาวะ Microcephaly ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการพัฒนาสมองที่ผิดปกติ ซึ่งมักเกิดขึ้นแต่กำเนิดหรือเกิดในช่วงวัยทารก โดยอาจเกิดจากพันธุกรรม และสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- กะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันเร็วกว่าปกติ ทำให้สมองหยุดเจริญเติบโต
- โครโมโซมผิดปกติ เช่น เกิดภาวะดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
- สมองขาดออกซิเจน ซึ่งอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือการคลอดที่ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
- ภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง อาจเกิดจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย
- การป่วยด้วยโรคฟีนิลคีโตนูเรียแล้วไม่ได้รับการรักษา ซึ่งเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้เกิดข้อบกพร่องของร่างกายในการขัดขวางกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน
- การติดเชื้อของมารดาในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทารกไปด้วย เช่น โรคทอกโซพลาสโมซิส โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส และไข้ซิกา เป็นต้น
- ผู้เป็นแม่ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาเสพติด และได้รับสารพิษ เช่น ตะกั่ว เป็นต้น ในขณะที่ตั้งครรภ์
การวินิจฉัยไมโครเซบฟาลี
โดยทั่วไปมีโอกาสที่แพทย์จะตรวจพบภาวะ Microcephaly ได้ตั้งแต่ตอนที่เด็กคลอด หรืออาจพบเมื่อตรวจการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก แต่หากสงสัยว่าบุตรหลานของตนมีศีรษะเล็กกว่าปกติหรือมีการเจริญเติบโตผิดปกติ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม
ในการวินิจฉัย Microcephaly แพทย์จะถามประวัติก่อนคลอดและขณะคลอดอย่างละเอียด รวมทั้งตรวจร่างกาย ตรวจวัดเส้นรอบวงของศีรษะเด็กเปรียบเทียบกับตารางการเจริญเติบโต จากนั้นจะวัดขนาดศีรษะของเด็กอีกครั้งในการนัดพบครั้งถัดไปเพื่อผลการวินิจฉัยที่ชัดเจน โดยแพทย์อาจซักประวัติและตรวจร่างกายสมาชิกในครอบครัวด้วย รวมไปถึงตรวจวัดขนาดเส้นรอบวงของพ่อและแม่เด็ก เพื่อประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า แพทย์อาจทดสอบเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด เช่น
- การนำตัวอย่างเลือดไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computed Tomography: CT Scan)
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอสแกน (MRI Scan)
การรักษาไมโครเซบฟาลี
โดยปกติภาวะ Microcephaly ไม่สามารถรักษาได้ ยกเว้นในกรณีที่เกิดจากกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันเร็วกว่าปกติ ซึ่งจะรักษาด้วยการผ่าตัด ส่วนการรักษาทั่วไปจะเป็นการดูแลเด็กด้วยการเสริมพัฒนาการต่าง ๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งอาจช่วยให้เด็กแข็งแรงและใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เช่น ด้านการพูด การทำกายภาพบำบัด และการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น โดยหัวใจสำคัญของการรักษาจะเป็นการช่วยให้เด็กอยู่ในภาวะที่ปลอดภัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ เด็กที่มีภาวะ Microcephaly ไม่รุนแรง แพทย์อาจนัดตรวจเป็นประจำ เพื่อดูการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ส่วนเด็กที่มีอาการอย่างรุนแรงหรือชัก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แพทย์อาจต้องรักษาไปตลอดชีวิตเพื่อควบคุมอาการ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยารักษาบางชนิด เช่น ยาต้านชัก และยาระงับอาการซนหรืออยู่ไม่นิ่ง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของไมโครเซบฟาลี
ภาวะแทรกซ้อนของ Microcephaly ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการด้วย เพราะเด็กบางรายยังคงมีสติปัญญาและมีพัฒนาการตามปกติแม้มีขนาดศีรษะเล็กเมื่อเทียบกับเด็กในวัยและเพศเดียวกัน
ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
- พัฒนาการล่าช้า เช่น ด้านการเคลื่อนไหว และการพูด เป็นต้น
- การประสานงานกันของร่างกายและสมดุลร่างกายเป็นไปอย่างยากลำบาก
- รูปหน้าไม่สมส่วน
- มีภาวะแคระ หรือโครงสร้างร่างกายที่ค่อนข้างเตี้ย
- อยู่ไม่นิ่ง
- ภาวะปัญญาอ่อนหรือบกพร่องทางสติปัญญา
- ชัก
การป้องกันไมโครเซบฟาลี
ผู้ที่ตั้งครรภ์สามารถป้องกันความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Microcephaly ได้ในเบื้องต้น ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และรับประทานวิตามินเตรียมตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้ยาเสพติด
- พยายามอยู่ให้ห่างจากสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
- ระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อ ควรล้างมือบ่อย ๆ และหากเจ็บป่วยด้วยโรคใด ๆ ควรรับการรักษาในทันที
- หากเลี้ยงแมว ควรให้ผู้อื่นเปลี่ยนกระบะทรายแทน เพราะอุจจาระแมวอาจทำให้ติดเชื้อที่ก่อโรคทอกโซพลาสโมซิส ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะ Microcephaly ได้
- ใช้สารป้องกันแมลงเมื่อต้องไปพื้นที่ที่มียุงชุกชุม เพราะการถูกยุงที่มีเชื้อโรคบางชนิดกัดขณะตั้งครรภ์ก็อาจเป็นสาเหตุของภาวะ Microcephaly ในทารกได้เช่นกัน
- หากกังวลว่าอาจเกิดภาวะ Microcephaly จากสาเหตุทางพันธุกรรม ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าวประกอบการวางแผนมีบุตรในอนาคต