Montelukast (มอนเทลูคาสท์)
Montelukast (มอนเทลูคาสท์) คือ ยารักษาโรคหอบหืด บรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ และป้องกันอาการหอบหืดจากการออกกำลังกาย เนื่องจาก Montelukast เป็นยาในกลุ่มยาลูโคไตรอีน รีเซพเตอร์ แอนทาโกนิสต์ ชนิดรับประทาน (Oral Leukotriene Receptor Antagonist) ซึ่งมีสารที่ออกฤทธิ์ช่วยต้านอาการภูมิแพ้
เกี่ยวกับยา Montelukast
กลุ่มยา | ลูโคไตรอีน รีเซพเตอร์ แอนทาโกนิสต์ |
ประเภทยา | ยาตามคำสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาและป้องกันอาการหอบหืด บรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก และผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
คำเตือนของการใช้ยา Montelukast
- ห้ามใช้ยาในผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ในยา Montelukast
- ห้ามใช้ยาผิดจุดประสงค์ ผิดวิธี หรือนอกเหนือจากคำสั่งแพทย์ และห้ามใช้ยาร่วมกับบุคคลอื่น
- ห้ามขับขี่ยานพาหนะหรือใช้เครื่องจักรในขณะใช้ยา เพราะการใช้ยา Montelukast อาจทำให้ง่วงนอนหรือวิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ยาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุได้
- Montelukast ไม่สามารถยับยั้งภาวะจับหืดเฉียบพลันได้ ผู้ป่วยโรคหอบหืดต้องพกยาหอบหืดอื่น ๆ ที่ใช้ระงับอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันติดตัวเสมอ
- ห้ามเพิ่ม ลดปริมาณยา หรือหยุดใช้ยาด้วยตนเอง โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ในกรณีที่มีอาการภูมิแพ้สัมพันธ์กับการใช้ยาแอสไพริน หรือ NSAID เช่น ไอบูโพรเฟน เพราะยาอาจส่งผลให้อาการหอบหืดแย่ลงได้ หรือปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ
- Montelukast อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และระบบประสาท ที่อาจนำไปสู่ความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายได้ ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยจึงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอหากเคยหรือกำลังเผชิญกับสภาวะทางจิตต่าง ๆ เช่น มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย มีท่าทีไม่เป็นมิตรก้าวร้าว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน นอนไม่หลับ ฝันแปลก ๆ ละเมอเดิน ตัวสั่น ประสาทหลอน เป็นต้น
- หากต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ จากแพทย์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยา Montelukast อยู่
- สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียและประโยชน์ทางการรักษาด้วยยา Montelukast เพื่อประกอบการตัดสินใจวางแผนรักษาด้วยยานี้
ปริมาณการใช้ยา Montelukast
การใช้ยา Montelukast เพื่อรักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง
ผู้ป่วยในทุกช่วงวัยต้องรับประทานยาในช่วงเวลาตอนเย็นเสมอ โดยมีปริมาณการใช้ยา ดังนี้
ผู้ใหญ่
รับประทานยาเม็ดเคลือบฟิล์ม วันละครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2 ปี
รับประทานยาแบบผง วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 2-5 ปี
รับประทานยาแบบผง หรือยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 6-14 ปี
รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 5 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป
รับประทานยาเม็ดเคลือบฟิล์ม วันละครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัม
การใช้ยา Montelukast เพื่อป้องกันอาการหอบหืดจากการออกกำลังกาย
ผู้ป่วยต้องรับประทานยาก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และห้ามรับประทานยาครั้งถัดไปหากเวลายังผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง โดยมีปริมาณการใช้ยา ดังนี้
ผู้ใหญ่
รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 2-5 ปี
รับประทานยาแบบผง หรือยาเม็ดแบบเคี้ยว ครั้งละ 4 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 6-14 ปี
รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว ครั้งละ 5 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป
รับประทานยาเม็ดเคลือบฟิล์ม ครั้งละ 10 มิลลิกรัม
การใช้ยา Montelukast เพื่อบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้
ผู้ใหญ่
รับประทานยา วันละครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 2-5 ปี
รับประทานยาแบบผง หรือยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 6-14 ปี
รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 5 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป
รับประทานยา วันละครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัม
การใช้ยา Montelukast เพื่อบรรเทาอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)
เด็กอายุ 6-23 เดือน
รับประทานยาแบบผง วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 2-5 ปี
รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม
เด็กอายุ 6-14 ปี
รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 5 มิลลิกรัม
การใช้ยา Montelukast
ก่อนใช้ยา Montelukast ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการใช้ยารักษา อาหารเสริม หรือสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้สารเหล่านั้นร่วมกับยา Montelukast เนื่องจากในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ปรับยา หยุดใช้ยา หรืออาหารเสริมบางชนิด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากปฏิกิริยาระหว่างกันของสารเหล่านั้นกับ Montelukast เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) เป็นต้น
นอกจากประวัติการใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ที่สำคัญ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหรือแพ้สารตัวใด แพ้น้ำตาลแล็คโทส เป็นโรคตับ หรือดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ภาวะอาการในปัจจุบัน อย่างการตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร และภาวะอาการทางจิต เช่น มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
ผู้ป่วยต้องใช้ยา Montelukast ตามปริมาณ และวิธีการใช้ยาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด รับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีคำสั่งอื่นใดจากแพทย์ โดยจะรับประทานยาพร้อมกับมื้ออาหารหรือไม่ก็ได้ แต่ห้ามใช้ยาร่วมกับบุคคลอื่น และห้ามใช้ยาน้อยกว่าหรือเกินกว่าปริมาณที่แพทย์สั่ง
หากลืมรับประทานยา ให้ข้ามยาในวันนั้นไป แล้วรับประทานยารอบใหม่ตามกำหนดเวลาเดิมในปริมาณเดิม ห้ามเพิ่มปริมาณรับประทานยาเป็น 2 เท่าเด็ดขาด และสอบถามแพทย์ให้ดีก่อนเสมอหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา โดยควรเก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นมือเด็กหรือสัตว์เลี้ยง ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด
ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาเกินขนาด ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังใช้ยาเกินขนาด ได้แก่ กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ปวดหัวไม่หาย หรือปวดหัวอย่างรุนแรง ปวดท้อง ง่วงนอนมากผิดปกติ กระหายน้ำมากผิดปกติ และอาเจียน เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Montelukast
แม้มีประสิทธิผลทางการรักษาหลายประการ แต่ในบางครั้ง Montelukast อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงแก่ร่างกายในผู้ป่วยบางรายได้เช่นกัน
ผลข้างเคียงทั่วไปที่มักพบได้จากการใช้ยา Montelukast หากอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องเรื้อรัง อาการไม่บรรเทาลง หรือมีอาการที่ทรุดหนักลงเรื่อย ๆ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เช่น
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ไอ เจ็บคอ
- ปวดหัว
- คลื่นไส้วิงเวียน
- อาหารไม่ย่อย รู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน
- ปวดท้อง ท้องร่วง
- รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง
ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงซึ่งอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยควรขอความช่วยเหลือและไปพบแพทย์ทันที หากพบตัวอย่างอาการต่อไปนี้
- อาการการแพ้ยา เช่น มีผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง เสียงแหบผิดปกติ กลืนลำบาก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีปัญหาการหายใจ หน้าบวม ลิ้นบวม ปากบวม หรือคอบวม
- กลุ่มอาการหลอดเลือดอักเสบจากการแพ้ยา (Churg-Strauss Syndrome) เช่น หอบหืด มีไข้ ไซนัสอักเสบ เมื่อยล้า ไอ เหงื่อออกตอนกลางคืน
- กลุ่มอาการโรคภูมิแพ้ตนเอง หรือออโตอิมมูน (Autoimmune) ทำให้ผู้ป่วยเมื่อยล้า มีไข้ รู้สึกไม่สบาย มีอาการเจ็บป่วยตามอวัยวะและระบบต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หลอดเลือด เนื้อเยื่อต่าง ๆ
- เจ็บหน้าอก ปวดหู สับสนมึนงง ปัสสาวะมีสีเข้ม มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ หัวใจเต้นผิดปกติ
- นิ้วชา มือชา เท้าชา
- ปวดบริเวณโพรงจมูกตำแหน่งของไซนัส
- ผิวหนังบวมแดง ผิวลอก หรือมีตุ่มพอง
- ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน
- มีปัญหาการหายใจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือมีปัญหาการหายใจที่ทรุดหนักลง
- มือบวม เท้าบวม ข้อเท้าบวม
- มีจ้ำเลือดตามตัว หรือมีเลือดไหล
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ตัวสั่น
- มีสัญญาณการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ เจ็บคอ คันคอ
- มีอาการชัก
- อารมณ์ ความคิด และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย ไม่ไว้ใจใคร ก้าวร้าว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน นอนไม่หลับ ฝันแปลก ๆ ละเมอเดิน ตัวสั่น ประสาทหลอน
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย