Mucormycosis

ความหมาย Mucormycosis

Mucormycosis หรือโรคราดำในคน เป็นโรคที่เกิดจากการได้รับเชื้อราตระกูลมิวคอร์ไมโคซิส (Mucormycetes) เข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจและทางบาดแผลเปิด โรคนี้พบได้มากในผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคเอดส์ โรคมะเร็ง หรือทารกที่คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น

อาการของผู้ป่วยโรคนี้จะแตกต่างกันตามอวัยวะที่ติดเชื้อและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล Mucormycosis ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายของผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยจึงควรรับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายภายในร่างกายและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Mucormycosis

อาการของ Mucormycosis

ระยะเวลาของการแสดงอาการหลังจากได้รับราดำเข้าสู่ร่างกายอาจแตกต่างกัน รวมถึงโรค Mucormycosis จะส่งผลให้ผู้ป่วยแต่ละรายมีอาการที่หลากหลายขึ้นอยู่กับอวัยวะในร่างกายที่ราดำเจริญเติบโต ดังนี้

  • ราดำในโพรงจมูกและสมอง (Rhinocerebral Mucormycosis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว มีไข้ ตาบวม หน้าบวมข้างเดียว ปวดใบหน้า คัดจมูก ผิวบริเวณจมูกหรือโพรงจมูกเป็นรอยแดงและบวม มีแผลสีดำภายในปากด้านบนหรือสันจมูก และแผลนั้นจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ราดำในปอด (Pulmonary Mucormycosis) ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอปนเลือดหรือของเหลวสีดำ หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก
  • ราดำในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Mucormycosis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด หรือมีภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหาร
  • ราดำที่ผิวหนัง (Cutaneous Mucormycosis) ผู้ป่วยจะปวด รู้สึกอุ่นบริเวณแผล เกิดรอยแดงอย่างรุนแรง มีแผลเปิด บริเวณที่ติดเชื้อเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือมีอาการบวมรอบ ๆ บาดแผล
  • ราดำแพร่กระจาย (Disseminated Mucormycosis) ผู้ป่วยจะมีราดำแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะปวดหัว มีไข้ มีอาการเหมือนราดำตามอวัยวะรูปแบบอื่น ๆ และเมื่อเชื้อราแพร่กระจายไปยังสมอง อาจส่งผลให้สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงด้วย 

สาเหตุของ Mucormycosis

Mucormycosis เกิดจากการที่ร่างกายของผู้ป่วยได้รับเชื้อรามิวคอร์ไมโคซิส (Mucormycetes) เข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจ การสูดดม หรือบาดแผลเปิด เชื้อราเหล่านี้พบได้จากดิน ปุ๋ยหมัก ใบไม้ ไม้ผุ อีกทั้งยังอาจพบได้จากผลไม้ ผัก หรือขนมปังหมดอายุได้เช่นกัน

ซึ่งแม้ว่าหลังจากได้รับเชื้อราเข้าสู่ร่างกายแล้ว ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงอาจไม่มีอาการติดเชื้อเกิดขึ้น แต่เชื้อราอาจทำให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอแสดงอาการติดเชื้อตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายได้ในเวลาต่อมา

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการของโรค Mucormycosis หลังได้รับเชื้อรา ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เอชไอวีหรือโรคเอดส์ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด มีแผลไฟไหม้ มีภาวะความสมดุลของกรด-ด่างของสารน้ำในร่างกาย (Metabolic Acidosis) ผิดปกติ ภาวะนิวโทรพีเนีย (Neutropenia) ขาดสารอาหาร คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกินต่ำกว่าเกณฑ์ ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด ผู้ที่ใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือผู้ที่เพิ่งทำการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ เป็นต้น

การวินิจฉัย Mucormycosis

แพทย์จะวินิจฉัย Mucormycosis จากประวัติทางการแพทย์ อาการ และการตรวจร่างกาย ก่อนจะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อขนาดเล็กในบริเวณที่ติดเชื้อหรือเก็บตัวอย่างของเหลวจากระบบทางเดินหายใจไปตรวจและเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการหากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีราดำในโพรงจมูกหรือปอด และอาจให้ผู้ป่วยรับการทำ CT Scan หรือ MRI Scan เพื่อตรวจหาว่าเชื้อรามีการแพร่กระจายไปยังสมองหรืออวัยวะอื่น ๆ ด้วยหรือไม่

การรักษา Mucormycosis

แพทย์จะรักษาโรค Mucormycosis ด้วยการให้ยาต้านเชื้อราชนิดต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำและในรูปแบบยารับประทาน เช่น ยาแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) ยาไอซาวูโคนาโซล (Isavuconazole) หรือยาโพซาโคนาโซล (Posaconazole) รวมถึงแพทย์อาจผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของ Mucormycosis

ผู้ป่วย Mucormycosis อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น เกิดลิ่มเลือดหรือหลอดเลือดอุดตันในปอดหรือสมอง ตาบอด เส้นประสาทได้รับความเสียหาย และหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ติดเชื้อราในบริเวณปอดหรือสมอง

การป้องกัน Mucormycosis 

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันการได้รับเชื้อราที่อาจเป็นสาเหตุของโรค Mucormycosis เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งหมด และยังไม่มีวัคซีนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ แต่วิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อรานั้นมีดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อรา เช่น สถานที่ก่อสร้าง แหล่งน้ำเสีย น้ำท่วมขัง การปลูกต้นไม้ การทำสวน หรือการเดินป่า 
  • สวมหน้ากากอนามัย N95 สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และรองเท้าเมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง และควรสวมถุงมือเมื่อต้องสัมผัสดิน ปุ๋ยคอก หรือหญ้ามอส
  • ปิดบาดแผลด้วยพลาสเตอร์ให้มิดชิดขณะทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง และควรทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่าหากแผลสัมผัสกับฝุ่นหรือดิน

นอกจากนี้ หากพบว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อ Mucormycosis ควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและแพทย์อาจจ่ายยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวและโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิดอื่น ๆ ด้วย