มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma)

ความหมาย มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma)

Multiple Myeloma หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากพลาสมาเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งกลายเป็นมะเร็ง และเพิ่มจำนวนมากผิดปกติสะสมที่ไขกระดูก จนส่งผลต่อการผลิตแอนติบอดี้และเซลล์เม็ดเลือดที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ระบบประสาท เลือด และการทำงานของไต ซึ่งเพศชายและผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงของการเกิดโรคมากกว่า และมะเร็งชนิดนี้เป็นโรคที่พบได้น้อยเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ

Multiple Myeloma

อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา

ในระยะแรกของ Multiple Myeloma ผู้ป่วยมักไม่พบอาการใด ๆ แต่เมื่อโรคมีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยมักปรากฏอาการ ดังต่อไปนี้

  • ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและระบบประสาท เช่น ปวดกระดูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก รวมถึงกะโหลกศีรษะ นอกจากนี้ กระดูกอาจแตกหักได้ง่ายแม้ประสบอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย และกระดูกสันหลังที่ไม่แข็งแรงอาจไปกดทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดหลังเฉียบพลัน รวมทั้งอาจรู้สึกชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะบริเวณขา
  • ปัญหาเกี่ยวกับเซลล์เม็ดเลือดและเกล็ดเลือด มีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดลดลง ทำให้เกิดอาการ เช่น ภาวะโลหิตจาง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และผิวซีด หากปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวลดต่ำลงจะทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ และทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อ ร่างกายจะตอบสนองต่อการรักษาได้น้อยลงและใช้เวลาในการรักษานานกว่าปกติ ส่วนเกล็ดเลือดที่ลดต่ำลงจะทำให้เกิดแผลฟกช้ำและมีเลือดออกได้ง่ายแม้เป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย
  • ปัญหาเกี่ยวกับระดับแคลเซียมในเลือด เมื่อมีแคลเซียมในเลือดสูง ผู้ป่วยจะรู้สึกกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย มีภาวะขาดน้ำ อีกทั้งอาจมีอาการท้องผูกอย่างรุนแรง ไตมีปัญหาจนอาจมีภาวะไตวาย ปวดท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ง่วงซึม แต่หากระดับแคลเซียมในเลือดสูงมากอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับความเข้มข้นของเลือด หากมีปริมาณโปรตีนผิดปกติหรือมีมัยอิโลมาโปรตีนมากจะทำให้เลือดข้นขึ้นจนเลือดอาจไปเลี้ยงสมองช้าลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนศีรษะ รู้สึกสับสน และพบอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง เช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกและพูดไม่ชัด
  • ปัญหาเกี่ยวกับไต เมื่อไตทำงานได้ไม่เต็มที่อาจทำให้ไตไม่สามารถกำจัดโซเดียม ของเหลวส่วนเกิน รวมถึงของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจเหนื่อยหอบ คันตามผิวหนัง หรือมีอาการบวมที่ขา เป็นต้น

โรค Multiple Myeloma จะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ผู้ป่วยแต่ละรายจึงอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งอาการต่าง ๆ ข้างต้นอาจไม่ได้เป็นผลมาจากมะเร็งชนิดนี้เสมอไป ดังนั้น หากพบว่ามีอาการของโรคนี้หรือสงสัยในอาการป่วยของตนเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา

แม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่โรค Multiple Myeloma ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งสะสมที่ไขกระดูก แทนที่จะผลิตแอนติบอดี้ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งเซลล์มะเร็งยังผลิตมัยอิโลมาโปรตีนซึ่งเป็นเซลล์ผิดปกติที่เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยปกติแล้ว Multiple Myeloma จะไม่ก่อให้เกิดเนื้องอก แต่จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นในไขกระดูก เข้าทำลายกระดูก และรบกวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น

  • อายุ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเผชิญโรคนี้ได้มากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ
  • เพศ เพศชายมีแนวโน้มของการเกิดโรคนี้มากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย
  • เชื้อชาติ คนเชื้อชาติแอฟริกันมีความเสี่ยงเกิดโรคมากกว่าคนยุโรปหรือเอเชียถึง 2 เท่า
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากถึง 4 เท่า
  • โรคประจำตัว เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับพลาสมาเซลล์ชนิดอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้ได้
  • รังสี ผู้ที่ได้รับรังสีอาจเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุจากการระเบิดของปรมาณู

การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา

โรค Multiple Myeloma เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย และในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ จึงอาจเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก แต่เมื่อโรคมีความรุนแรงขึ้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย เช่น ปวดกระดูก อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ผิวซีด เป็นต้น รวมถึงพิจารณาประวัติทางการแพทย์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การวัดค่าตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง การหาประเภทและจำนวนของสารภูมิต้านทานที่ผิดปกติซึ่งถูกผลิตขึ้นโดยเซลล์มะเร็ง เช่น เอ็มโปรตีน (M Proteins) เบต้าทูไมโครโกลบูลิน การตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เพื่อดูระดับเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด การตรวจการทำงานของตับและไต และการตรวจระดับแคลเซียมในเลือด เป็นต้น
  • การตรวจโปรตีนในปัสสาวะ ตรวจหาเบ็นซ์โจนส์โปรตีน (Bence Jones Protein) เป็นโปรตีนที่ผิดปกติชนิดหนึ่งซึ่งถูกผลิตขึ้นโดยเซลล์มะเร็ง หรืออาจตรวจโปรตีนในปัสสาวะโดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะแบบ 24 ชั่วโมงเพื่อตรวจสอบการทำงานของไต
  • การเอกซเรย์และการสแกน เพื่อตรวจสอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับกระดูกแขนขา กะโหลกศีรษะ กระดูกสันหลัง และกระดูกเชิงกราน โดยอาจวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจความเปลี่ยนแปลงทางเคมี (PET Scan) เป็นต้น
  • การดูดเจาะเนื้อเยื่อไขกระดูก แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไขกระดูกไปตรวจหาพลาสมาเซลล์ที่เป็นมะเร็ง ซึ่งอาจตรวจด้วยวิธีการเฉพาะ เช่น การตรวจด้วยสารเรืองแสง (Fuorescence In Situ Hybridization: FISH) เพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติของสารพันธุกรรม เป็นต้น

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา

ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและวางแผนวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดและระยะโรคของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งการรักษาโรค Multiple Myeloma อาจทำได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้

  • การทำเคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อกำจัดและยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • การใช้ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก และช่วยไม่ให้กระดูกได้รับความเสียหายจากโรค
  • การฉายรังสี โดยใช้รังสีพลังงานสูงทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะใช้รักษาในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการทำเคมีบำบัดหรือผู้ป่วยมีอาการปวดกระดูก
  • การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัด หรืออาจได้รับยาร่วมกับการฉายรังสี เพื่อกำจัดเซลล์ไขกระดูกรวมถึงเซลล์มะเร็งก่อน จากนั้นจึงเริ่มต้นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่มีสุขภาพดีเข้าทดแทน โดยใช้สเต็มเซลล์ของตัวผู้ป่วยเองหรือสเต็มเซลล์ที่มีผู้บริจาคให้
  • การรักษาตามอาการ เช่น การให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ การให้เลือดหรือการใช้ยาฮอร์โมนอีริโทโพอิตินเพื่อรักษาภาวะโลหิตจาง การกรองพลาสมาเพื่อกำจัดโปรตีนผิดปกติออกจากกระแสเลือดและบรรเทาอาการต่าง ๆ เป็นต้น
  • การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง ทั้งรูปแบบของยารับประทานหรือยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อยับยั้งการทำงานของสารบางอย่างภายในเซลล์มะเร็งจนทำให้เซลล์มะเร็งตาย รวมถึงอาจใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งด้วย
  • การทำภูมิคุ้มกันบำบัด โดยใช้ยาเพื่อเพิ่มเซลล์ภูมิคุ้มกันที่จะเข้าทำลายเซลล์มะเร็ง

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา

โรค Multiple Myeloma อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกแตกหักได้ง่าย เกิดการกดทับเส้นประสาทที่หลังและทำให้มีอาการชาหรือขาอ่อนแรง เกิดการติดเชื้อได้ง่ายหรือติดเชื้อบ่อยครั้ง ภาวะโลหิตจาง เลือดข้นขึ้น หรือมีปัญหาเกี่ยวกับเลือดในรูปแบบอื่น ๆ ไตสูญเสียความสามารถในการขับของเสียออกจากร่างกาย ไตวาย ระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น เป็นต้น

แม้การรักษา Multiple Myeloma ด้วยวิธีต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้ว แต่การรักษาแต่ละวิธีก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ ดังนี้

  • การทำเคมีบำบัด นอกจากยาเคมีบำบัดจะเข้าทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว เซลล์ดีอื่น ๆ ก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย โดยผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับประเภทของยา ปริมาณ และระยะเวลาในการใช้ยา ซึ่งอาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ ผมร่วง เป็นแผลในปาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเมื่อยล้าเพราะเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำเกินไป ร่างกายติดเชื้อง่ายขึ้นเพราะเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำเกินไป หรือเกิดแผลฟกช้ำและมีเลือดออกง่ายเพราะเกล็ดเลือดต่ำเกินไป เป็นต้น
  • การใช้ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ยากแต่มีความรุนแรง เช่น ภาวะกระดูกขากรรไกรตาย ทำให้ปวด บวม หรือเป็นแผลบริเวณเหงือก ฟันหลุด และอาจเกิดการติดเชื้อที่กระดูกขากรรไกรได้
  • การฉายรังสี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ผิวหนังในบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีมีอาการแดง ตกสะเก็ด และผิวลอก ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้ ท้องเสีย และมีเม็ดเลือดต่ำ เป็นต้น
  • การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกับผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดและการฉายรังสี แต่วิธีการรักษานี้อาจทำให้มีจำนวนเม็ดเลือดลดลงมากกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อหรือมีเลือดออกอย่างรุนแรงได้ และหากเป็นสเต็มเซลล์ที่ได้รับการบริจาคจากผู้อื่น อาจทำให้เกิดภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วยและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค Multiple Myeloma ที่ชัดเจน และบางกรณีเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ และพันธุกรรม อาจไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ แต่หากเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น โรคประจำตัว อาจป้องกันได้ด้วยการรักษาอาการป่วยและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงลดความเสี่ยงจากการรับรังสี เป็นต้น