โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)

ความหมาย โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)

Multiple Sclerosis เรียกอีกอย่างว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส คือ ปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่ส่งผลต่อสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายปลอกประสาทที่อยู่ล้อมรอบและปกป้องใยประสาทจนเกิดแผลที่เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น การทรงตัว การควบคุมกล้ามเนื้อ และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ อาการของผู้ป่วยแต่ละรายจะรุนแรงแตกต่างกันไป บางรายไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ในขณะที่บางรายอาจใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบาก

Multiple Sclerosis

อาการของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ผู้ป่วยโรค Multiple Sclerosis แต่ละรายจะมีอาการรุนแแรงแตกต่างกันไป และปรากฏอาการได้หลายลักษณะ เช่น อาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ อาการกำเริบมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้น สังเกตได้ดังนี้

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น เห็นภาพซ้อน ตามัว สูญเสียการมองเห็น โดยมักเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง รวมทั้งอาจมีอาการเจ็บตาร่วมด้วย
  • รู้สึกเมื่อยล้าหรือเหนื่อยมากจนทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้ อาการมักกำเริบขึ้นเมื่ออากาศร้อน หลังออกกำลังกาย ช่วงที่ป่วย หรือช่วงใกล้หมดวัน
  • เกิดอาการอ่อนแรงหรือเหน็บชาตามมือ แขนและขาข้างใดข้างหนึ่งหรือบริเวณใบหน้าเพียงซีกเดียว
  • รู้สึกเจ็บจี๊ดคล้ายไฟช็อตเมื่อหันคอ โดยเฉพาะเวลาที่โน้มคอมาด้านหน้า
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายหนักและเบา เช่น ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่สุด ท้องผูก เป็นต้น
  • ค่อย ๆ สูญเสียการทรงตัว ขาอ่อนแรง และเดินหกล้มได้ง่าย
  • มีอาการสั่น การเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ ไม่ประสานงานกัน
  • พูดไม่ชัด เคี้ยวหรือกลืนอาหารลำบาก
  • มีปัญหาด้านการคิด การเรียนรู้ และการตัดสินใจ เช่น ความจำไม่ดี สมาธิสั้น ทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ได้ช้า เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ ผู้ชายอาจประสบปัญหาอวัยวะเพศแข็งตัวได้ยาก หลั่งอสุจิช้า หรือไม่หลั่งอสุจิ ส่วนผู้หญิงอาจถึงจุดสุดยอดได้ยากหรือน้ำหล่อลื่นที่ช่องคลอดน้อยลง
  • ซึมเศร้า วิตกกังวล หรืออารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรงกะทันหัน เช่น ร้องไห้ หัวเราะ หรือตะโกนออกมาอย่างไม่มีเหตุผล เป็นต้น แต่อาการนี้พบได้น้อย

สาเหตุของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

โรค Multiple Sclerosis เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายปลอกประสาทที่ปกป้องใยประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้ปลอกประสาทอักเสบและเกิดแผลที่เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะกระทบต่อการสื่อสารระหว่างสมองกับอวัยวะส่วนอื่น ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไม่ทำงานตามปกติ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏสาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายปลอกประสาทจนนำไปสู่โรคนี้ แต่คาดว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

  • พันธุกรรม โรค Multiple Sclerosis ไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้อาจเสี่ยงป่วยได้เช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ประมาณร้อยละ 2-3
  • เชื้อชาติ คนไทยเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับชาวตะวันตก
  • อายุ โรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุ 15-60 ปี
  • เพศ ผู้หญิงเสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้สูงกว่าผู้ชาย 2 เท่า
  • การติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์หรือเชื้ออีบีวี (Epstein-Barr Virus: EVB) ที่ทำให้เป็นไข้และมีต่อมน้ำเหลืองโต เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้จะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองบางชนิด เช่น โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ เบาหวานชนิดที่ 1 หรือลำไส้อักเสบ
  • พฤติกรรมอื่น ๆ ผู้ที่สูบบุหรี่เสี่ยงเกิดโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบถึง 2 เท่า

การวินิจฉัยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

โรค Multiple Sclerosis เป็นปัญหาสุขภาพที่วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากไม่ปรากฏอาการป่วยอย่างชัดเจน อีกทั้งอาจมีอาการคล้ายกับโรคอื่น ผู้ป่วยจึงควรอธิบายลักษณะอาการที่เกิดขึ้นให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด หากมีแนวโน้มเป็นโรคดังกล่าว ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจจากแพทย์เฉพาะทาง ดังนี้

  • ตรวจระบบประสาทของร่างกาย แพทย์จะตรวจการมองเห็น การเคลื่อนไหวของดวงตา ความแข็งแรงของมือและขา การทรงตัว การประสานงานกันของอวัยวะต่าง ๆ การพูด และการตอบสนองอื่น ๆ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจเลือด เพื่อดูว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือไม่
  • เจาะน้ำไขสันหลัง เป็นการตรวจว่าร่างกายมีความผิดปกติอันเกี่ยวเนื่องกับโรค Multiple Sclerosis หรือเกิดจากโรคอื่น โดยแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่และสอดเข็มเข้าไปที่บริเวณหลังส่วนล่าง เพื่อเจาะเอาตัวอย่างน้ำจากโพรงกระดูกสันหลังไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายตัวและปวดศีรษะบ้างเป็นเวลา 2-3 วัน หลังตรวจ
  • การทำ MRI วิธีนี้จะช่วยให้เห็นรอยแผลบริเวณสมองหรือไขสันหลังของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้มองเห็นรอยดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดหรือมีอาการกลัวที่แคบระหว่างตรวจ เนื่องจากเครื่องสแกน MRI มีลักษณะคล้ายท่อขนาดใหญ่และส่งเสียงดัง ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้
  • ตรวจการตอบสนองทางไฟฟ้าของระบบประสาท เป็นวิธีบันทึกคลื่นไฟฟ้าที่ระบบประสาทปล่อยออกมาขณะตอบสนองสิ่งเร้า การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองมีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่แพทย์จะวัดจากการทำงานของดวงตาผู้ป่วย เพราะวิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดการเจ็บปวด ทั้งยังช่วยประเมินการทำงานของเส้นประสาทตาได้ด้วย

การรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

โรค Multiple Sclerosis ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูอาการของผู้ป่วย รวมทั้งควบคุมอาการไม่ให้กำเริบหรือแย่ลง  ดังนี้

การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ชะลออาการของโรคหรือรักษาภาวะเส้นประสาทถูกทำลาย มีดังนี้

  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ ใช้สำหรับลดอาการอักเสบในร่างกาย ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน มีอาการบวมน้ำ เป็นต้น
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือขยับกล้ามเนื้อไม่ได้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา จะได้รับยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว เช่น บาโคลเฟน ทิซานิดีน เป็นต้น
  • ยาแก้ปวด แพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยาแก้ปวดให้ผู้ป่วยตามความเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการปวดระบบประสาทส่วนกลาง
  • ยาอื่น ๆ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาสำหรับรักษาอาการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย เป็นต้น

การบำบัดอื่น ๆ นักกายภาพบำบัดจะสอนให้ผู้ป่วยยืดเส้นและออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อขาที่อ่อนแรงเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น สร้างความแข็งแรงและการทรงตัว รวมทั้งบรรเทาอาการปวดเมื่อยและเจ็บปวดตามร่างกาย ส่วนนักกิจกรรมบำบัดจะสอนให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ และดูแลตัวเองอย่างง่าย ๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรค ทำได้ดังนี้

  • เข้ารับการตรวจกับแพทย์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการป่วยและวิธีดูแลตัวเอง
  • ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง การทรงตัว และการทำงานของอวัยวะในร่างกาย เช่น เดิน ยืดเส้น ปั่นจักรยาน โยคะ เป็นต้น
  • รับประทานอาหารให้หลากหลายและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เพื่อบรรเทาอาการเมื่อยล้า ท้องผูก และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะอาจกระตุ้นให้อาการของโรคทรุดลงเร็วกว่าเดิมได้
  • เลี่ยงการออกแดดหรืออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนมาก เนื่องจากอาการป่วยจะแย่ลงเมื่ออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น
  • หาเวลาทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น เล่นโยคะ นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจ ไทชิ หรือนวดผ่อนคลาย หากรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลควรพูดคุยปรึกษากับเพื่อนและคนในครอบครัวอยู่เสมอ เพราะความเครียดนั้นอาจกระตุ้นให้อาการของโรคแย่ลงได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ผู้ป่วยโรค Multiple Sclerosis เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้

  • มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือสมรรถภาพทางเพศ
  • กล้ามเนื้อกระตุกหรือหดเกร็ง ขยับกล้ามเนื้อลำบากมากขึ้น
  • เกิดอัมพาต โดยมักเกิดขึ้นที่ส่วนขา
  • รู้สึกซึมเศร้าและเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพจิต เช่น ขี้ลืม อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
  • เกิดโรคลมชัก 

การป้องกันโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

โรค Multiple Sclerosis ยังไม่ปรากฏวิธีป้องกัน แต่การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงบางประการอาจช่วยลดแนวโน้มการเกิดโรคนี้ได้ เช่น งดสูบบุหรี่ หมั่นตรวจสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เป็นต้น นอกจากนี้ หากสงสัยว่าตนเองอาจมีอาการของโรคนี้ควรเข้ารับการตรวจรักษาทันที เพื่อช่วยบรรเทาและชะลออาการไม่ให้รุนแรงขึ้นจนถึงขั้นพิการ