Myelodysplastic Syndrome

ความหมาย Myelodysplastic Syndrome

Myelodysplastic Syndrome (MDS) หรือกลุ่มอาการเอ็มดีเอส เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดทำงานบกพร่อง ส่งผลให้จำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะ มีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาจมีภาวะเลือดออกง่ายหรือเลือดไหลไม่หยุดร่วมด้วย

โรคเอ็มดีเอสมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของอาการผิดปกติอย่างแน่ชัด โดยทั่วไป แพทย์จะเน้นรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นและชะลอความรุนแรงของอาการ 

2559-Myelodysplastic-Syndrome

อาการของ Myelodysplastic Syndrome

ผู้ป่วย Myelodysplastic Syndrome จะมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาวะโลหิตจาง โดยอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนล้า หายใจไม่อิ่ม ผิวซีด เวียนศีรษะหรือมึนหัว มือและเท้าเย็น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ใจสั่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดหัว และเจ็บหน้าอก อีกทั้งอาการของผู้ป่วยมักจะรุนแรงมากขึ้นในภายหลัง
  • มีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ ในกรณีที่ Myelodysplastic Syndrome เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำและการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ อาจส่งผลให้มีเลือดออกในชั้นผิวหนัง เกิดภาวะจ้ำเลือดขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นรอยช้ำสีแดง น้ำตาล หรือม่วง และจุดเลือดออก ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนังจะไม่มีอาการคันหรือบวม
  • เลือดออกง่ายเนื่องจากระดับเกล็ดเลือดต่ำ โดยผู้ป่วยจะมีเลือดออกแม้เป็นการกระทบกระเทือนหรือรอยขูดเพียงเล็กน้อย เลือดกำเดาไหล หรือมีเลือดออกตามไรฟันโดยเฉพาะหลังการทำทันตกรรม
  • เกิดการติดเชื้อหรือมีไข้บ่อยครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) ซึ่งเม็ดเลือดเป็นส่วนสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • มีอาการปวดกระดูก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของ Myelodysplastic Syndrome ระดับรุนแรง

 สาเหตุของ Myelodysplastic Syndrome

Myelodysplastic Syndrome เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกซึ่งทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดมีความบกพร่อง โดยเซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยจะสร้างเซลล์เม็ดเลือดรูปร่างผิดปกติและสลายตัวอย่างรวดเร็ว หรือร่างกายของผู้ป่วยกำจัดเซลล์เม็ดเลือดเหล่านั้น ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดปกติมีจำนวนน้อย ทั้งนี้ Myelodysplastic Syndrome มีหลายรูปแบบ แต่จะแยกรูปแบบตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับชนิดของเซลล์เม็ดเลือดเป็นหลัก ซึ่งประกอบไปด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด 

อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุความผิดปกติได้อย่างแน่ชัด แต่ผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด ผู้ที่สัมผัสกับรังสีที่เป็นอันตราย สารโลหะหนัก สารเบนซีน (Benzene) หรือโทลูอีน (Toluene) ที่มีความเข้มข้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน และผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วย Myelodysplastic Syndrome ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว

การวินิจฉัย Myelodysplastic Syndrome

แพทย์จะตรวจร่างกายและสอบถามประวัติทางการแพทย์ในเบื้องต้น หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของ Myelodysplastic Syndrome แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจเลือดเพื่อระบุจำนวนเซลล์เม็ดเลือด เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด รวมไปถึงการตรวจดูขนาด รูปทรง หรือลักษณะอื่น ๆ ของเซลล์เม็ดเลือดที่มีความผิดปกติ โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคเอ็มดีเอสจะมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดต่ำ แต่ในบางกรณีอาจมีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติได้
  • การเจาะไขกระดูก โดยแพทย์จะฉีดยาชาก่อนใช้เข็มเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปยังไขกระดูกบริเวณสะโพก และนำน้ำไขกระดูกออกมาเพียงเล็กน้อยเพื่อไปตรวจหาความผิดปกติผ่านกล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติ

การรักษา Myelodysplastic Syndrome

แพทย์จะรักษา Myelodysplastic Syndrome โดยมุ่งเน้นไปที่การชะลอและป้องกันอาการที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย เช่น บรรเทาอาการอ่อนเพลีย ป้องกันการเกิดภาวะเลือดออกมากผิดปกติและการติดเชื้อ เป็นต้น หากผู้ป่วยไม่มีอาการหรือความผิดปกติใด ๆ แพทย์อาจแนะนำให้เฝ้าระวังอาการร่วมกับการตรวจสุขภาพร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์จะใช้วิธีดังต่อไปนี้

การให้เลือด (Blood Transfusions)

การให้เลือดเป็นวิธีที่จะช่วยทดแทนเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายของผู้ป่วยที่มีจำนวนน้อย บรรเทาความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากภาวะโลหิตจาง และป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงเนื่องมาจากจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวน้อย 

การใช้ยา

แพทย์อาจรักษา Myelodysplastic Syndrome ด้วยการใช้ยา เช่น

  • การฉีดโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) เพื่อเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดงในร่างกาย ซึ่งโกรทแฟคเตอร์เป็นสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถพบได้ในไขกระดูก โดยจะช่วยกระตุ้นให้เซลล์เพิ่มจำนวนขึ้น จึงลดความจำเป็นในการให้เลือดและยังช่วยป้องกันการติดเชื้อ 
  • การใช้ยาอซาซีทิดีน (Azacitidine) และดีไซทาบีน (Decitabine) เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือด โดยจะช่วยบรรเทาความผิดปกติในผู้ป่วยโรคเอ็มดีเอสบางกรณี และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมอิลอยด์เฉียบพลัน (Acute Myelogenous Leukemia: AML)
  • การใช้ยาเลนาลิโดไมด์ (Lenalidomide) รูปแบบแคปซูลในผู้ป่วย Myelodysplastic Syndrome ที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม
  • การใช้ยาเพื่อรักษาอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้ยารักษาอาการติดเชื้อ การใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อลดการให้เลือดโดยไม่จำเป็นในผู้ป่วยบางราย เป็นต้น

การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplant)

แพทย์จะใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อกำจัดเซลล์เม็ดเลือดที่บกพร่องออกจากไขกระดูก จากนั้นจะแทนที่ด้วยเซลล์ที่ผู้อื่นบริจาคไว้ ซึ่งเซลล์ดังกล่าวจะเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยทางเส้นเลือด ทั้งนี้ การปลูกถ่ายไขกระดูกอาจทำได้กับผู้ป่วยเพียงบางกรณีเท่านั้น และการใช้เซลล์ที่ได้รับการบริจาคจากสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย อย่างพ่อ แม่ พี่หรือน้อง จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับเซลล์ที่เหมาะสมกับร่างกายมากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของ Myelodysplastic Syndrome

ผู้ป่วย Myelodysplastic Syndrome อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นร่วมกับอาการพื้นฐานของโรค เช่น อาจรู้สึกเหนื่อย มีภาวะเลือดไหลไม่หยุดหรือมีเลือดออกมากผิดปกติ เกิดการติดเชื้อแบบเป็น ๆ หาย ๆ เป็นต้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (Acute Myeloid Leukemia: AML) 

การป้องกัน Myelodysplastic Syndrome

เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของ Myelodysplastic Syndrome จึงยังไม่มีวิธีการป้องกัน แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • งดการสูบบุหรี่ 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสี สารพิษ และสารโลหะหนัก หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสสารดังกล่าว อย่างผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องรังสีหรือสารเคมีอันตราย ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
  • หากทราบว่าตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวป่วย เป็นพาหะ หรือมีอาการคล้ายกับ Myelodysplastic Syndrome ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารก