Naproxen (นาพรอกเซน)
Naproxen (นาพรอกเซน) คือ ยากลุ่มเอ็นเสด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAIDs) มีกลไกการออกฤทธิ์ในการลดฮอร์โมนที่เป็นสาเหตุของการอักเสบและอาการเจ็บปวดในร่างกาย โดยยานาพรอกเซนจะนำมาใช้ในการรักษาอาการเจ็บปวด บวม และอักเสบที่มาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดประจำเดือน
ยานาพรอกเซนจัดเป็นยาอันตราย มีข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงมาก ดังนั้นการใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกร
เกี่ยวกับยา Naproxen
กลุ่มยา | ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการปวด อักเสบ หรือบวม |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาเม็ดและยาน้ำ |
คำเตือนของการใช้ยา Naproxen
- ไม่ควรใช้ยานี้หากเคยมีประวัติแพ้ยานาพรอกเซน ผู้ที่มีเคยมีอาการของโรคหืดและผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงหลังจากใช้ยาแอสไพริน หรือยากลุ่มเอ็นเสด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAIDs)
- หากพบว่ามีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย พูดไม่ค่อยชัด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการทรงตัวจากการใช้ยานี้ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
- ยานาพรอกเซนสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดในสมอง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ผู้ที่ใช้ยาในปริมาณมาก หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
- ห้ามใช้ยานี้ในช่วงใกล้หรือหลังการผ่าตัดบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)
- ยานาพรอกเซน อาจทำให้มีอาการปวดท้องหรือเลือดออกในทางเดินอาหารจนถึงขั้นรุนแรง ซึ่งภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่มีสัญญาณเตือน โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับผู้สูงอายุ
- การใช้ยานาพรอกเซนในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้ ที่สำคัญผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยานี้โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- ไม่ควรให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยานาพรอกเซน เนื่องจากยานี้สามารถผ่านเข้าสู่นมแม่และอาจเกิดอันตรายต่อเด็กได้
- ห้ามให้เด็กใช้ยานี้โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ซึ่งยานาพรอกเซนไม่ได้รับการรองรับให้ใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
- ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรว่าการใช้ยานาพรอกเซนมีความปลอดภัยต่อตนเองหรือไม่ หากเป็นผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้
- เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่สูบบุหรี่
- เป็นโรคหืด
- เป็นโรคไตหรือโรคตับ
- มีอาการบวมน้ำ
- มีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง หรือเกิดลิ่มเลือด
- มีประวัติเคยเป็นแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่กำลังใช้ยาต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานาพรอกเซน
- ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น ไซตาโลแพรม (Citalopram) เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) ฟลูออกทิซีน (Fluoxetine) ฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) พาร็อกซีทีน Paroxetine เซอร์ทราลีน (Sertraline) ทราโซโดน (Trazodone) หรือไวลาโซโดน (Vilazodone) โดยการใช้ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย
- ยาลิเทียม (Lithium)
- ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate)
- ยาโพรเบเนซิด (Probenecid)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) หรือยาคูมาดิน (Coumadin)
- ยาโรคหัวใจหรือยาความดัน
- ยาสเตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone)
- ยาขับปัสสาวะ
ปริมาณการใช้ยา Naproxen
ปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับอายุ โรคประจำตัว ความรุนแรงของโรค ภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ รวมไปถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อการใช้ยาครั้งแรก
ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhoea) และโรคระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูกชนิดเฉียบพลัน
ผู้ใหญ่ รับประทาน ขนาดเริ่มต้น 500 มิลลิกรัมแล้วตามด้วย 250 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุด วันแรกไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม และวันต่อมาไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม
ผู้สูงอายุ ปริมาณการใช้ยาอาจลดลงจากข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
โรครูมาติก
ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5-1 กรัม ต่อวัน รับประทาน 1 ครั้ง หรือแบ่งเป็น 2 ครั้ง
ผู้สูงอายุ: ปริมาณการใช้ยาอาจลดลงจากข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก (Juvenile idiopathic arthritis)
เด็กอายุ 5 ปี ขึ้นไป: รับประทาน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง
โรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลัน
ผู้ใหญ่: รับประทาน ขนาดเริ่มต้น 750 มิลลิกรัม แล้วตามด้วย 250 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง
ผู้สูงอายุ: ปริมาณการใช้ยาอาจลดลงจากข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
การใช้ยา Naproxen
ควรใช้ยาตามฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณที่มากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ และควรใช้ปริมาณน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพในการรักษา
- ควรกลืนยาลงไปทั้งหมด ไม่ควรบด เคี้ยว หรือหักยา
- ควรเขย่าขวดยานาพรอกเซนชนิดน้ำก่อนการวัดปริมาณในการใช้ วัดปริมาณยาด้วยหลอดดูดยาที่เตรียมมาให้ หรือช้อนสำหรับวัดปริมาณยาโดยเฉพาะหรือถ้วยยา แต่หากไม่มีอุปกรณ์สำหรับวัดปริมาณยา สามารถสอบถามได้จากเภสัชกร
- หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนยี่ห้อหรือรูปแบบของการใช้ยานาพรอกเซน ปริมาณการใช้ยาก็อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งผู้ป่วยสามารถสอบถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ยาได้กับแพทย์และเภสัชกร
- สำหรับการใช้ยานาพรอกเซนในเด็ก หากเด็กมีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เนื่องจากปริมาณการใช้ยานาพรอกเซนในเด็กจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว
- หากมีการใช้ยานาพรอกเซนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- การใช้ยานี้สามารถทำให้การทดสอบทางการแพทย์บางชนิดให้ผลที่ไม่ปกติ ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ที่ให้การรักษาทราบทุกครั้งว่าผู้ป่วยกำลังใช้ยานี้
- ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาได้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในมื้อถัดไป ก็ให้ข้ามไปรับประทานยาในมื้อนั้น โดยที่ไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่กำลังใช้ยา เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- ควรปรึกษาแพทย์หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานาพรอกเซนร่วมกับยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาแอสไพรินลดลงได้ และยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร
- หากจำเป็นต้องใช้ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวดที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่ากำลังใช้ยานาพรอกเซนอยู่ เนื่องจากยาเหล่านั้น มักมียาแอสไพรินเป็นส่วนประกอบ หรือตัวยาอื่น ๆ ที่มีความคล้ายกับยานาพรอกเซน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยามากเกินไป ดังนั้นควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียดว่ามียาชนิดใดเป็นส่วนประกอบบ้าง
- ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาลดกรด (Antacid) และควรใช้ยาลดกรดชนิดที่แพทย์แนะนำเท่านั้น เนื่องจากยาลดกรดบางชนิดอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยานาพรอกเซนได้ยาก
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากความร้อน แสงแดด ความชื้น และควรปิดบรรจุภัณฑ์ให้สนิทเมื่อใช้เสร็จแล้ว
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Naproxen
หากผู้ป่วยพบอาการแพ้ยานาพรอกเซน ได้แก่ จาม มีน้ำมูกไหลหรือคัดจมูก หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียง ลมพิษ บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้นหรือคอ ควรติดต่อพบแพทย์โดยเร็ว และหากมีสัญญาณของโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดในสมอง ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกลามไปที่ขากรรไกรหรือบ่า มีอาการชาหรืออ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย พูดไม่ค่อยชัด และหายใจตื้น ควรรีบขอความช่วยเหลือหรือติดต่อพบแพทย์โดยด่วน
ควรหยุดใช้ยานาพรอกเซนและติดต่อพบแพทย์ หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้
- หอบเหนื่อย
- มีอาการบวมหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีผื่นขึ้น
- มีสัญญาณของการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เช่น อุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ ไอเป็นเลือด หรืออาเจียนมีสีน้ำตาลเข้ม
- มีปัญหาเกี่ยวกับตับ อาจทำให้มีอาการ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้องช่วงบ่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด ดีซ่าน
- มีปัญหาเกี่ยวกับไต อาจทำให้มีอาการ เช่น ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะแล้วเจ็บหรือปัสสาวะได้ลำบาก บวมที่เท้าหรือข้อเท้า รู้สึกอ่อนเพลีย หรือหายใจตื้น
- ภาวะโลหิตจาง (Anemia) อาจทำให้มีอาการ เช่น ผิวซีด รู้สึกหวิวหรือหายใจตื้น หัวใจเต้นเร็ว และไม่มีสมาธิ
- เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงต่อผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ เจ็บคอ บวมที่ใบหน้าหรือลิ้น แสบตา เจ็บผิวหนังและมีผื่นสีแดงหรือม่วงกระจายตามผิวหนัง และทำให้เกิดแผลพุพอง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานาพรอกเซนที่พบบ่อย ได้แก่ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม บวมที่มือและเท้า ฟกช้ำ คัน ผื่นขึ้น เหงื่อออก หรือหูอื้อและมีเสียงดังในหู เป็นต้น
นอกจากนั้นอาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยพบว่ามีความผิดปกติหรือความสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรแจ้งหรือปรึกษาแพทย์