ความหมาย มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Carcinoma)
Nasopharyngeal Carcinoma หรือ มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นที่หลังโพรงจมูก ซึ่งอยู่บริเวณหลังจมูกเหนือเพดานอ่อน โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ หรือหากมีอาการก็อาจคล้ายกับโรคอื่นจนทำให้สังเกตได้ยาก ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่มักพบได้มากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย การรักษาอาจทำได้ด้วยการฉายรังสี การทำเคมีบำบัด การผ่าตัด หรืออาจใช้หลายวิธีควบคู่กันไป
อาการของมะเร็งหลังโพรงจมูก
ในระยะแรก ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่ต่อมาอาจสังเกตได้ถึงความผิดปกติดังต่อไปนี้
- อาการที่คอ ผู้ป่วยอาจมีก้อนเนื้อที่เกิดจากอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยจำนวน 3 ใน 4 ของโรคนี้ โดยก้อนเนื้ออาจเกิดขึ้นที่บริเวณคอทั้ง 2 ข้าง หรือเยื้องไปทางด้านหลังคอ แต่มักไม่มีอาการเจ็บหรืออาการกดเจ็บใด ๆ
- อาการที่หู เช่น หูอื้อข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ติดเชื้อที่หูแบบซ้ำ ๆ หรืออาจสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น
- อาการที่จมูก เช่น คัดจมูก เลือดกำเดาไหล เป็นต้น
- อาการทางระบบประสาท เช่น รู้สึกผิดปกติที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง รู้สึกเจ็บหรือชาที่หน้า ปวดศีรษะ เสียงแหบ กลืนลำบาก ตามัว และเห็นภาพซ้อน เป็นต้น
ทั้งนี้ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่อาการของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกเสมอไป แต่อาจมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเหล่านี้ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
สาเหตุของมะเร็งหลังโพรงจมูก
ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิด Nasopharyngeal Carcinoma แต่คาดว่ามีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่
- เพศและอายุ โรคนี้มักพบในกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- ถิ่นที่อยู่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือประเทศไทย รวมทั้งฮ่องกงและทางตอนใต้ของประเทศจีน อาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในแถบอื่นของโลก
- การรับประทานอาหาร ผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาที่หมักด้วยเกลืออาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าสารเคมีที่ระเหยออกมาจากอาหารดังกล่าวอาจทำให้ดีเอ็นเอถูกทำลายจนเซลล์ในร่างกายเกิดความผิดปกติได้
- การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ เป็นไวรัสที่มักทำให้เกิดโรคหวัด หรือโรคโมโนนิวคลิโอสิส ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ผ่านทางสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ และไวรัสชนิดนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งหลาย ๆ ชนิดอีกด้วย
- พันธุกรรม มีงานวิจัยชี้ว่าผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาจได้รับการถ่ายทอดเนื้อเยื่อบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายและการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์
- พฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง มีงานวิจัยพบว่าการทำงานอยู่ในสถานที่ที่ต้องคลุกคลีกับขี้เลื่อยหรือฟอร์มาลดีไฮด์ รวมถึงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้ แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันในด้านดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การวินิจฉัยมะเร็งหลังโพรงจมูก
การวินิจฉัยโรค Nasopharyngeal Carcinoma อาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
การซักประวัติ แพทย์จะซักประวัติ สอบถามเกี่ยวกับอาการผิดปกติตามร่างกายของผู้ป่วย รวมถึงสอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติครอบครัว และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง
การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยจะเน้นตรวจที่หัว จมูก ปาก กล้ามเนื้อใบหน้า และคอ รวมทั้งอาจลองกดดูตามบริเวณที่มีต่อมน้ำเหลืองเพื่อดูว่ามีอาการบวมหรือไม่
การส่องกล้อง แพทย์อาจใช้เครืองมือที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่ที่ปลายส่องเข้าไปในรูจมูกของผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือมีเนื้องอกหรือไม่ ซึ่งหากพบเนื้องอก แพทย์อาจตัดเอาชิ้นเนื้อตัวอย่างจากเนื้องอกไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการด้วยกล้องจุลทรรศน์ต่อไป
การตรวจด้วยภาพทางรังสี เช่น การเอกซเรย์ การเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เป็นต้น ซึ่งอาจช่วยให้แพทย์มองเห็นขอบเขตและผลกระทบที่เกิดขึ้นบริเวณรอบ ๆ เนื้องอกในโพรงจมูก
ทั้งนี้ หากแพทย์ตรวจพบว่ามีมะเร็งหลังโพรงจมูก อาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่ามะเร็งอยู่ในระยะใด ซึ่งการตรวจหาระยะของมะเร็งจะช่วยให้แพทย์เลือกวิธีรักษาและพยากรณ์โรคได้ โดยโรคนี้แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ซึ่งประเมินระดับความรุนแรงจากการดูว่าเนื้องอกได้กระจายไปยังบริเวณรอบ ๆ มากเพียงใด และเซลล์มะเร็งได้กระจายไปยังบริเวณที่ใกล้กับต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือไม่ หากกระจายไปแล้ว เซลล์มะเร็งนั้นมีขนาดใหญ่แค่ไหน รวมถึงกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอย่างปอด ตับ กระดูก หรือต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ โดยวิธีที่อาจนำมาช่วยในการตรวจหาระยะของมะเร็ง เช่น การตรวจเลือดหรือตรวจเม็ดเลือด การทำ PET Scan ซึ่งเป็นการฉีดสารที่เป็นน้ำตาลกัมมันตภาพรังสีเข้าไปแล้วตรวจด้วยการทำ CT Scan หรือ MRI Scan และการตรวจด้วยอนุภาครังสีหรือคลื่นเสียง เป็นต้น
การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก
การรักษา Nasopharyngeal Carcinoma อาจพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ระดับความรุนแรงของโรค เป้าหมายในการรักษาโรค สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และผลข้างเคียงจากการรักษาที่ผู้ป่วยสามารถรับมือได้ เป็นต้น ซึ่งแพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
การฉายรังสี
เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นการรักษาหลักของโรคนี้ เนื่องจากได้ผลค่อนข้างดี ซึ่งหากผู้ป่วยมีเนื้องอกหลังโพรงจมูกขนาดเล็กก็อาจรักษาได้ด้วยการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ผิวแดงชั่วคราว เสียงแหบ ปากแห้ง เป็นต้น และในบางกรณีที่เข้ารับการฉายรังสีควบคู่ไปกับการทำเคมีบำบัด ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บคอและเจ็บภายในช่องปากอย่างรุนแรง จนบางครั้งอาจทำให้ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ลำบาก ซึ่งอาจต้องใส่สายให้อาหารผ่านเข้าไปยังระบบทางเดินอาหารจนกว่าอาการจะดีขึ้น เมื่อการฉายรังสีเสร็จสิ้นลง ผลข้างเคียงดังกล่าวอาจหายไป แต่อาการบางอย่างก็อาจไม่ดีขึ้นแม้เวลาจะผ่านไป เช่น มีปัญหาทางการได้ยินเนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลาย ได้รับความเสียหายบริเวณกระดูก กะโหลกศีรษะ และต่อมน้ำลาย หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน เป็นต้น
การทำเคมีบำบัด
เป็นการใช้ยาแบบเม็ดหรือยาแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งบางครั้งอาจใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน หรืออาจนำไปใช้ร่วมกับการฉายรังสีเพื่อให้การฉายรังสีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อาจนำมาใช้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่จากการฉายรังสี รวมทั้งอาจนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอย่างปอด กระดูก หรือตับด้วย โดยผลข้างเคียงที่เกิดจากการทำเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับชนิดของยา ปริมาณยาที่ใช้รักษา และระยะเวลาในการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น ผมร่วง เจ็บปาก อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพราะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ มีแผลฟกช้ำหรือมีเลือดออกง่าย อ่อนเพลียเพราะเม็ดเลือดแดงน้อย เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้มักหายไปหลังจากทำเคมีบำบัดเสร็จสิ้น
การผ่าตัด
โดยทั่วไปแพทย์ไม่ค่อยใช้วิธีการรักษานี้ เพราะการผ่าตัดบริเวณหลังโพรงจมูกทำได้ยากและเสี่ยงต่อการทำให้เนื้อเยื่อ อวัยวะ หรือหลอดเลือดที่สำคัญในบริเวณที่ผ่าตัดได้รับผลกระทบไปด้วย รวมทั้งหลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น มีเลือดออก ติดเชื้อ มีปัญหาในการพูดหรือการกลืน เป็นต้น
การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง
เป็นการรักษาโดยใช้ยาหรือสารเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งแบบจำเพาะ โดยต่างจากการทำเคมีบำบัดหรือคีโมที่ตัวยาจะมีผลทำลายเซลล์ทั่วไปที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็งด้วย ซึ่งยาแต่ละชนิดจะให้ผลข้างเคียงแตกต่างกัน วิธีการรักษานี้อาจนำไปใช้ร่วมกับการฉายรังสีหรือการทำเคมีบำบัดด้วยเช่นกัน
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งหลังโพรงจมูก
หากป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ใกล้โพรงจมูกอย่างต่อมน้ำเหลืองที่คอ หรือบริเวณกระดูก ปอด ตับ สมอง และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันมะเร็งหลังโพรงจมูก
แม้จะยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิด Nasopharyngeal Carcinoma แต่ก็อาจลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่หมักดองด้วยเกลือ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และเข้ารับการตรวจจากแพทย์หากมีความกังวล โดยเฉพาะหากมีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ เพราะหากตรวจพบได้เร็วและมะเร็งยังไม่อยู่ในระดับที่รุนแรง อาจช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น