ความหมาย โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า (Necrotizing Fasciitis)
Necrotizing Fasciitis คือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า เป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนที่อาจส่งผลให้ผิวหนังและกล้ามเนื้อถูกทำลายได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนบริเวณผิวหนัง ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง รู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผลซึ่งจะรู้สึกปวดมากขึ้น
โดยการติดเชื้ออาจลุกลามไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ หรือท้องเสีย เป็นต้น แม้โรคนี้จะพบได้น้อย แต่อาจทำให้ป่วยรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า
ระยะแรกหลังการติดเชื้อภายใน 1 วัน ผู้ป่วย Necrotizing Fasciitis อาจมีอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง ดังนี้
- ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ บาดแผลร้อนหรือมีสีแดง
- รู้สึกปวดบาดแผลมากผิดปกติ
- บริเวณที่เกิดการติดเชื้อเกิดการเปลี่ยนสี หรือมีของเหลวซึมออกมา
- มีตุ่มแดงเล็ก ๆ ถุงน้ำ จุดดำ หรือความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นบนผิวหนังร่วมกับเกิดความเจ็บปวดบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาการบนผิวหนังมักกระจายออกไปและทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากแบบไม่สัมพันธ์กับแผล
- ตึงบริเวณกล้ามเนื้อ
- มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เป็นต้น
- มีภาวะขาดน้ำ โดยมีอาการ เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย เป็นต้น
หลังจากนั้น เมื่อติดเชื้อไปแล้ว 3-4 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น บริเวณที่เกิดการติดเชื้ออาจมีอาการบวม มีผื่นสีม่วงขึ้น หรือมีตุ่มน้ำสีเข้มที่ส่งกลิ่นเหม็น ผิวหนังอาจเกิดการเปลี่ยนสี และเนื้อเยื่อที่ตายแล้วอาจหลุดลอกออก เป็นต้น และเมื่อการติดเชื้อเข้าสู่วันที่ 4-5 ผู้ป่วยอาจมีภาวะวิกฤติ ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ ช็อก หรือหมดสติได้
สาเหตุของโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า
Necrotizing Fasciitis เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตค็อคคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococcus) คลอสตริเดียม (Clostridium) เคล็บเซลลา (Klebsiella) สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) อีโคไล (E. Coli) และแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas Hydrophila) เป็นต้น ซึ่งเชื้ออาจปล่อยสารพิษทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังและกล้ามเนื้อจนส่งผลให้เนื้อเยื่อตายได้ โดยเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนังหรือกระแสเลือดผ่านทางแผลถูกบาด แผลถลอก รอยข่วน แมลงกัดต่อย การใช้เข็มฉีดยา หรือแผลผ่าตัด
โดยผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่
- ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์หรือฉีดสารเสพติด
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์
- ผู้ป่วยโรคผิวหนัง
- ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง
- ผู้ป่วยเบาหวานหรือมะเร็ง
การวินิจฉัยโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า
เนื่องจาก Necrotizing Fasciitis มีอาการแรกเริ่มที่คล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคติดเชื้อทางผิวหนังที่ไม่รุนแรง ไข้หวัดใหญ่ หรืออาการแทรกซ้อนที่พบได้หลังผ่าตัด เป็นต้น จึงทำให้การวินิจฉัยโรคนี้มักทำได้ในระยะที่โรครุนแรงมากขึ้น โดยแพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการ ดังนี้
- ตรวจร่างกาย เพื่อดูอาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น คลำได้ฟองอากาศใต้ผิวหนัง เป็นต้น
- ตรวจเลือดหรือตรวจภาพถ่าย แพทย์อาจตรวจเลือดและตรวจด้วยเครื่อง CT Scan หรือ MRI Scan เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น รวมทั้งตรวจดูความเสียหายของกล้ามเนื้อ
- ตรวจตัวอย่างของเหลวหรือเนื้อเยื่อ เพื่อตรวจหาแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคนี้
นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจรักษาด้วยเช่นกัน หากมีอาการของภาวะติดเชื้อปรากฏขึ้น
การรักษาโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า
ผู้ป่วย Necrotizing Fasciitis อาจต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมตามระยะของโรค โดยมีวิธีการรักษา ดังนี้
การใช้ยา
ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะ ซึ่งแพทย์มักให้ยาหลายชนิดร่วมกันทางหลอดเลือดดำ และยาควบคุมความดันโลหิต รวมทั้งสารภูมิคุ้มกันอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับภาวะติดเชื้อ
การผ่าตัด
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดกำจัดเนื้อเยื่อที่เสียหายหรือตาย เพื่อหยุดการกระจายของเชื้อ รวมทั้งอาจต้องตัดแขนหรือขาในบางกรณีหากการติดเชื้อลุกลามหรือรุนแรง
วิธีอื่น ๆ
แพทย์อาจใช้ขั้นตอนอื่นเพื่อรักษาและติดตามอาการผู้ป่วย เช่น
- ติดตามผลการประเมินสัญญาณชีพของผู้ป่วย
- ให้ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ
- รักษาด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง โดยให้ผู้ป่วยสูดออกซิเจนบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยรักษาเนื้อเยื่อที่ปกติ
- ถ่ายเลือดให้ผู้ป่วย
ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยมักต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ซึ่งอาจใช้เวลารักษาตัวนานหลายสัปดาห์ และอาจต้องแยกห้องรักษากับผู้ป่วยอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และหลังการรักษา ผู้ป่วยบางรายที่ต้องตัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกไปปริมาณมากหรือต้องตัดแขนขา อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อตกแต่งบาดแผล หรือทำกายภาพบำบัดในรายที่พิการด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า
Necrotizing Fasciitis อาจทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดหรืออวัยวะในร่างกายทำงานล้มเหลวจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีแผลเป็นหรืออาจพิการแขนขาจากการรักษาได้เช่นกัน
การป้องกันโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า
แม้ Necrotizing Fasciitis เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถป้องกันได้ และยังไม่มีวัคซีนชนิดใดป้องกันการติดเชื้อนี้ แต่คนทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ เช่น
- ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น
- รักษาความสะอาดให้เป็นนิสัย เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่กับน้ำสะอาด เป็นต้น
- ห้ามเลือดทันทีเมื่อมีบาดแผล แล้วทำความสะอาดบริเวณนั้นโดยเปิดให้น้ำไหลผ่านบาดแผล จากนั้นจึงซับด้วยผ้าสะอาดให้แห้ง
- ปิดบาดแผลด้วยวัสดุที่ปลอดเชื้อ เช่น พลาสเตอร์ หรือผ้าพันแผล เป็นต้น และเปลี่ยนผ้าพันแผลเมื่อเปียกน้ำหรือสกปรก เพื่อให้แผลแห้งและสะอาดอยู่เสมอ
- ไม่ควรแช่ตัวในอ่างอาบน้ำหรือว่ายน้ำในช่วงที่มีบาดแผลตามร่างกาย
- ปรึกษาแพทย์หากเคยใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ เพราะอาจต้องรับยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อด้วย
- ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาทันทีหากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคนี้ ซึ่งการรักษาแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้