ความหมาย ปวดประสาท (Neuropathic Pain)
Neuropathic Pain หรือปวดประสาท เป็นภาวะที่ร่างกายมีอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแบบฉับพลัน รู้สึกเสียวและชาในบริเวณนั้น ๆ ซึ่งอาการปวดดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งใดกระตุ้น บางครั้งอาจเกิดขึ้นเป็นสัปดาห์จนถึงเป็นเดือน หรืออาจนำไปสู่อาการปวดอย่างถาวรได้ โดย Neuropathic Pain อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น โรคเบาหวาน การบาดเจ็บ การติดเชื้อ เป็นต้น
อาการของปวดประสาท
อาการของ Neuropathic Pain อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยอาการทั่วไปที่มักพบ ได้แก่ รู้สึกปวดแปลบคล้ายไฟช็อตแบบฉับพลัน ปวดแสบปวดร้อน รู้สึกเหมือนถูกเข็มแทง รู้สึกเสียวและชาในบริเวณนั้น ๆ โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นใด ๆ หรืออาจเกิดจากสาเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น การเสียดสี อุณหภูมิที่เย็นกว่าปกติ การหวีผม เป็นต้น นอกจากนี้ แม้เป็นเพียงบางกรณีที่พบได้น้อย แต่ผู้ป่วยอาจมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เส้นผม และการขับเหงื่อร่วมด้วย
สาเหตุของปวดประสาท
Neuropathic Pain อาจเป็นอาการหรือภาวะแทรกซ้อนของโรคบางชนิด เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง เส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังถูกกดทับ โรคหลอดเลือดสมอง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด อย่างการติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ โรคซิฟิลิส และโรคงูสวัดเป็นต้น
นอกจากนี้ Neuropathic Pain อาจเกิดจากภาวะหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ การถูกกดทับบริเวณเส้นประสาทเป็นเวลานาน การขาดวิตามินบี การใช้ยาเคมีบำบัด และการผ่าตัดในรูปแบบต่าง ๆ อย่างการผ่าตัดกระดูกสันหลัง การถูกตัดแขน ขา หรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เป็นต้น
ส่วนผู้ที่ประสบอุบัติเหตุก็อาจเสี่ยงต่อการเกิด Neuropathic Pain ได้ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง ขา และสะโพก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทในระยะยาว โดยอุบัติเหตุที่รุนแรงอาจทำให้ไขสันหลังถูกกดทับ หรือเกิดโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทที่ไขสันหลังจนเกิด Neuropathic Pain ได้เช่นกัน
การวินิจฉัยปวดประสาท
ในการวินิจฉัย Neuropathic Pain แพทย์จะประเมินโดยสอบถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ ลักษณะอาการ พฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการนี้
หากไม่พบสาเหตุชัดเจนที่ทำให้เกิดภาวะ Neuropathic Pain แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- ตรวจเลือด เป็นการนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยมาตรวจดูความผิดปกติของสารเคมีในร่างกาย ระดับวิตามินในเลือด และความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด
- ตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เพื่อช่วยวัดความรุนแรง และหาสาเหตุของอาการ
- ตรวจด้วยภาพถ่าย แพทย์อาจตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมด้วยการตรวจสอบทางภาพถ่ายโครงสร้างในร่างกายที่อาจมีความผิดปกติซึ่งส่งผลต่อไขสันหลัง
การรักษาปวดประสาท
ในการรักษา Neuropathic Pain แพทย์มักให้ความสำคัญกับการบรรเทาอาการปวด โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
การรักษาด้วยยา
- ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น นาพรอกเซน และไอบูโพรเฟน เป็นต้น โดยยากลุ่มนี้อาจช่วยบรรเทาอาการปวดที่ไม่มากนัก แต่บางครั้งก็อาจไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น
- ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ ใช้บรรเทาอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง เป็นยาที่ต้องได้รับใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการติดยาได้
- ยาบรรเทาอาการปวดเฉพาะที่ เช่น ลิโดเคนชนิดแผ่นแปะ แคปไซซินชนิดทา รวมถึงยาขี้ผึ้งและครีมบางชนิด เป็นต้น
- ยาอื่น ๆ เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ รวมถึงยากันชักบางชนิดอย่างคาร์บามาซีปีนและกาบาเพนติน เป็นต้น
- ยาฉีดเข้าเส้นประสาท แพทย์อาจฉีดยาสเตียรอยด์ ยาชา หรือยาแก้ปวดอื่น ๆ เข้าสู่ระบบประสาท โดยยาเหล่านี้มักมีฤทธิ์เพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงอาจต้องมีการฉีดซ้ำอีกครั้งในภายหลัง
การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์
แพทย์อาจใช้อุปกรณ์ส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปในร่างกาย เพื่อหยุดหรือควบคุมอาการผิดปกติของเส้นประสาท โดยส่วนมากมักใช้ในกรณีที่ร่างกายของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
การรักษาอื่น ๆ
หากผู้ป่วยมีอาการของโรคอื่นร่วมด้วย แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาเฉพาะของโรคนั้น ๆ ซึ่งหากอาการของโรคนั้นดีขึ้น อาจทำให้อาการปวดแบบ Neuropathic Pain ลดลงได้ด้วย ทั้งยังเป็นการป้องกันระบบประสาทถูกทำลายอีกด้วย
นอกจากนี้ อาจมีการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การทำกายภาพบำบัด การบำบัดด้วยการผ่อนคลาย การนวด การฝังเข็ม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร่างกายของผู้ป่วยอาจตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร และอาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงได้ แต่การรักษาด้วยวิธีการที่หลากหลายก็อาจช่วยให้ประสิทธิภาพของการรักษาดียิ่งขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยอาจขอคำแนะนำจากผู้ให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ รวมทั้งปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ
ภาวะแทรกซ้อนของปวดประสาท
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง อาจพบปัญหาในการนอนหลับ รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า และโรควิตกกังวล เป็นต้น นอกจากนี้ ความผิดปกติของร่างกายบางอย่างอาจส่งผลให้การรับความรู้สึกลดลง ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวและอาจทำให้อาการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อนั้นรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
การป้องกันปวดประสาท
Neuropathic Pain เป็นภาวะที่ป้องกันได้ยากเนื่องจากเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อย่างไรก็ตาม อาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้ โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคที่ส่งผลต่อระบบประสาท และปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
- ไม่สูบบุหรี่หรือยาสูบทุกชนิด และไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน อาการข้อเสื่อม และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิด Neuropathic Pain ได้
- ระมัดระวังอุบัติเหตุต่าง ๆ รวมถึงการเกิดบาดแผลที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ
ฝึกเคลื่อนไหวร่างกายด้วยท่าทางหรืออิริยาบทที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวในท่าเดิมซ้ำ ๆ เช่น นั่งด้วยท่าทางที่ถูกต้องขณะทำงาน หรือหยุดพักจากการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น