Non-Hodgkin's Lymphoma (มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน)

ความหมาย Non-Hodgkin's Lymphoma (มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน)

Non-Hodgkin's Lymphoma (นอน-ฮอดจ์กินลิมโฟมา) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดในระบบน้ำเหลือง ผู้ป่วยมักจะมีอาการบวมบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ หรือส่วนอื่นของร่างกายที่มีต่อมน้ำเหลือง ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการปวด และอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือมีเหงื่อออกมากในเวลากลางคืนร่วมด้วย

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กินเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่ผู้ที่มีอายุมากจะมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรค Non-Hodgkin's Lymphoma ได้อย่างชัดเจน โดยแพทย์จะรักษาตามความรุนแรงของอาการและชนิดของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละบุคคล 

2573-Hodgkin's Lymphoma

อาการของ Non-Hodgkin's Lymphoma

โดยทั่วไปผู้ป่วย Non-Hodgkin's Lymphoma จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • ต่อมน้ำเหลืองโต ส่งผลให้มีก้อนบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ หรือส่วนอื่นที่มีต่อมน้ำเหลือง แต่มักไม่มีอาการปวด
  • ท้องโตขึ้นหรือปวดท้อง
  • เจ็บหน้าอก ไอ หรือหายใจลำบาก
  • อ่อนเพลียเรื้อรัง
  • มีไข้
  • เหงื่อออกมากในเวลากลางคืน
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการคันตามผิวหนังทั่วร่างกาย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเซลล์ไขกระดูกอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลียหรืออิดโรยเรื้อรัง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และมีภาวะเลือดออกมากเกินไป อย่างเลือดกำเดาไหล ประจำเดือนปริมาณมาก หรือมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีอาการคล้ายกับอาการข้างต้น โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ 

สาเหตุของ Non-Hodgkin's Lymphoma

Non-Hodgkin's Lymphoma เกิดจากการกลายพันธุ์ในดีเอ็นเอของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ของผู้ป่วย ตามปกติแล้ว เซลล์ชนิดดังกล่าวจะถูกสร้างขึ้นและถูกทำลายไปเมื่อหมดอายุ จากนั้นร่างกายจะผลิตเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทน 

แต่ในกรณีของผู้ป่วย Non-Hodgkin's Lymphoma เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์จะไม่ถูกทำลาย แต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีความผิดปกติมากเกินไปในต่อมน้ำเหลือง ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองในร่างกายทำงานผิดปกติและต่อมน้ำเหลืองบวมโต อีกทั้งเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น เช่น ไขกระดูก ม้าม ตับ ผิวหนัง ปอด กระเพาะอาหาร และสมอง เป็นต้น ในบางกรณีความผิดปกติดังกล่าวอาจเริ่มจากอวัยวะอื่นนอกระบบต่อมน้ำเหลืองได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม แพทย์ไม่ทราบสาเหตุของการกลายพันธุ์ในดีเอ็นเออย่างแน่ชัด แต่คาดว่ามีปัจจัยบางประการที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด Non-Hodgkin's Lymphoma เช่น ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด สัมผัสสารเคมีบางชนิดอย่างยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้า อายุมาก เป็นโรคทางพันธุกรรม มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด หรือสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

การวินิจฉัย Non-Hodgkin's Lymphoma

แพทย์จะสอบถามอาการทั่วไป ประวัติทางการแพทย์ของสมาชิกในครอบครัว และตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย เช่น

  • การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจดูอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองตามร่างกาย เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ ม้ามหรือตับ เป็นต้น 
  • การตรวจภาพถ่าย แพทย์อาจใช้การเอกซเรย์หรือการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจหาการกระจายของมะเร็งในร่างกาย
  • การตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายขั้นพื้นฐาน การทำงานของอวัยวะในร่างกายอย่างตับหรือไต การติดเชื้อหรืออาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
  • การตรวจชิ้นเนื้อของต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะนำต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดหรือบางส่วนออกมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเซลล์มะเร็งในบริเวณต่อมน้ำเหลือง 
  • การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยแพทย์จะใช้เข็มขนาดยาวเพื่อเจาะเอานำตัวอย่างน้ำไขสันหลังออกมาตรวจ และตรวจหาการกระจายของมะเร็งในไขสันหลัง 

Non-Hodgkin's Lymphoma มีมากกว่า 30 ชนิด โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ 

  • ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งยังไม่เกิดการกระจายตัว ยังคงอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น บริเวณคอ รักแร้ และบริเวณขาหนีบ เป็นต้น
  • ระยะที่ 2 มีการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 2 ตำแหน่งขึ้นไป ที่อยู่เหนือหรือต่ำกว่ากระบังลม ข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว
  • ระยะที่ 3 มีการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองอื่น ๆ ที่อยู่เหนือและต่ำกว่ากระบังลมทั้งสองข้าง
  • ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายนอกเหนือจากต่อมน้ำเหลือง เช่น ไขกระดูก ตับ หรือปอด เป็นต้น

นอกจากนี้ Non-Hodgkin's Lymphoma ยังแบ่งตามความรุนแรงของโรค คือ รูปแบบที่มีความรุนแรงต่ำ โดยเป็นรูปแบบที่เซลล์มะเร็งเติบโตช้าและอยู่ภายในร่างกายผู้ป่วยหลายปีโดยไม่แสดงอาการ และรูปแบบที่มีความรุนแรงสูง ซึ่งเซลล์มะเร็งในร่างกายของผู้ป่วยเติบโตอย่างรวดเร็วและมีอาการในขั้นรุนแรง

การรักษา Non-Hodgkin's Lymphoma

การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กินจะขึ้นอยู่กับชนิดมะเร็ง ระดับความรุนแรงของอาการ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย หากเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยเติบโตช้าหรืออยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับต่ำ แพทย์อาจเพียงติดตามและสังเกตอาการ เนื่องจากกลุ่มอาการดังกล่าวอาจไม่อันตรายที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่แพทย์จะนัดตรวจสุขภาพผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อสังเกตอาการและการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง 

ในกรณีที่เซลล์มะเร็งเติบโตอย่างรวดเร็วหรือเปลี่ยนแปลงเป็นความรุนแรงระดับสูง ส่งผลให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงขึ้น แพทย์จะรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

เคมีบำบัด (Chemotherapy) 

เป็นการจ่ายยาในรูปแบบฉีดหรือรับประทานเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง อาจเป็นการรักษาด้วยเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวหรืออาจทำการรักษาร่วมกับวิธีอื่น ๆ ซึ่งการรักษาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่มีสาเหตุมาจากยาบางชนิด โดยผลข้างเคียงที่มักเกิดขึ้นจากการรักษา ได้แก่ อาการคลื่นไส้ ผมร่วง และอาจเกิดผลข้างเคียงระยะยาว เช่น โรคหัวใจ ปอดได้รับความเสียหาย มีบุตรยาก หรือเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

รังสีรักษา (Radiation therapy) 

แพทย์จะใช้รังสีที่มีความเข้มข้นเหมาะสมเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ในระหว่างขั้นตอนของการรักษา ผู้ป่วยจะอยู่บนเตียงและมีเครื่องขนาดใหญ่ฉายรังสีไปยังบริเวณที่มีเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะต้องทำการรักษาประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ และการรักษาจะใช้เวลาครั้งละประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ การฉายรังสีอาจส่งผลให้เกิดรอยแดงบนผิว ขนร่วงในบริเวณที่ทำการรักษา ผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้สึกอ่อนเพลียในช่วงเวลาของการรักษา และอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นหมัน หรือเกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ อย่างมะเร็งปอดหรือมะเร็งเต้านม ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งของร่างกายที่ฉายรังสี

การปลูกถ่ายไขกระดูก 

แพทย์จะใช้ยาเคมีหรือรังสีในปริมาณสูงในการทำลายไขกระดูกที่ทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดทุกชนิด หลังจากนั้นนำเซลล์ต้นกำเนิดที่ไม่มีความบกพร่องของผู้ป่วยเองหรือที่ได้รับบริจาคเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยทางเลือด ซึ่งเซลล์จะเคลื่อนที่ไปยังกระดูกและทำการสร้างไขกระดูกใหม่ทดแทน ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ทำการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

การใช้ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี้

เป็นส่วนช่วยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ในผู้ป่วยบางกรณี เช่น การใช้ยาริทูซิแมบ (Rituximab) หรือยาไอบรูทินิบ (Ibrutinib) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Non-Hodgkin's Lymphoma

แม้จะผ่านการรักษาตัวมาแล้ว ผู้ป่วย Non-Hodgkin's Lymphoma บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาทางสุขภาพระยะยาว เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ความผิดปกติทางระบบประสาท เป็นหมันและมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่นในร่างกายซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคปอดเนื่องมาจากการรักษา

การป้องกัน Non-Hodgkin's Lymphoma

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Non-Hodgkin's Lymphoma จึงยากต่อการระบุถึงวิธีป้องกันโรค แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวี (HIV) และไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเป็นสาเหตุการบกพร่องของระบบภูมิคุ้ม 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับรังสีโดยไม่จำเป็น 
  • รักษาสุขภาพและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน