Ondansetron (ออนดาเซทรอน)
Ondansetron (ออนดาเซทรอน) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เป็นผลมาจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ การผ่าตัด หรือการรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง เช่น การทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี เป็นต้น ทำงานโดยการยับยั้งการผลิตสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในลำไส้และระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน อาจใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา ควรปฏิบัติตามแพทย์สั่งและฉลากยาอย่างเคร่งครัด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้
เกี่ยวกับ Ondansetron
กลุ่มยา | ยาต้านอาการอาเจียน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียน |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ด ชนิดน้ำ และยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยา Ondansetron
การใช้ยา Ondansetron อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาก่อนการใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้
- ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคพาร์กินสัน เช่น อะโปมอร์ฟีน (Apomorphine)
- ผู้ที่มีอาการแพ้ยา Ondansetron หรือยาที่ใช้รักษาการอาเจียนจากยาเคมีบำบัดอื่น ๆ เช่น โดลาซีตรอน (Dolasetron) แกรนิซีตรอน (Granisetron) เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นโรคตับ หรือผู้ที่มีประวัติของกลุ่มอาการระยะคิวทียาว (Long QT syndrome) เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว
- ผู้ที่เป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) เนื่องจากตัวยาอาจมีส่วนผสมของกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine)
- ผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมและแมงกานีสในร่างกายไม่สมดุล
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นช้า เป็นต้น
- ผู้ที่มีภาวะอุดตันของระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ เป็นต้น
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะยังไม่มีข้อยืนยันถึงเรื่องความปลอดภัยของการใช้ยากับบุคคลในกลุ่มนี้
ปริมาณการใช้ยา Ondansetron
ขนาดและปริมาณการใช้ยา Ondansetron จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนักตัว และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาและรายละเอียดดังต่อไปนี้
- การอาเจียนจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
- ยารับประทาน ขนาด 2-8 มิลลิกรัม ตามอายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย
- ยาฉีด โดยปกติจะใช้ขนาด 0.15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- การคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด
- ยารับประทาน
- ผู้ใหญ่ที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่มีระดับความรุนแรงสูง รับประทานยาขนาด 24 มิลลิกรัม 30 นาทีก่อนการทำเคมีบำบัด
- ผู้ใหญ่ที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่มีระดับความรุนแรงปานกลาง รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ครั้งแรก 30 นาทีก่อนการทำเคมีบำบัด และอีกครั้งหลังการทำเคมีบำบัด 8 ชั่วโมง จากนั้นรับประทานขนาด 8 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ทุก 12 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการรักษาเป็นเวลา 1-2 วัน
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4-11 ปี รับประทานยาขนาด 4 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน ครั้งแรก 30 นาทีก่อนการทำเคมีบำบัด อีกครั้งหลังครั้งแรก 4 และ 8 ชั่วโมง จากนั้นรับประทานขนาด 4 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน ทุก 8 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการรักษาเป็นเวลา 1-2 วัน
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ครั้งแรก 30 นาทีก่อนการทำเคมีบำบัด อีกครั้งหลังครั้งแรก 8 ชั่วโมง จากนั้นรับประทานขนาด 8 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ทุก 8 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการรักษาเป็นเวลา 1-2 วัน
- ยาฉีดทางหลอดเลือดดำ
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 18 ปี ใช้ขนาด 0.15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งแรก 30 นาที ก่อนการทำเคมีบำบัด อีกครั้งหลังจากเข็มแรก 4 และ 8 ชั่วโมง ฉีดได้สูงสุดไม่เกิน 16 มิลลิกรัมต่อครั้ง
- การคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด
- ยารับประทาน
- ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 16 มิลลิกรัม 1 ชั่วโมงก่อนใช้ยาระงับความรู้สึก
- ยาฉีดทางหลอดเลือดดำ
- ผู้ใหญ่ ใช้แบบไม่เจือจาง ขนาด 4 มิลลิกรัม ก่อนใช้ยาระงับความรู้สึก หรือหลังการผ่าตัดภายใน 2 ชั่วโมง
- เด็กที่มีอายุ 1 เดือนถึง 12 ปี และมีน้ำหนักน้อยกว่า 40 กิโลกรัม ใช้ขนาด 0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป ใช้ขนาด 4 มิลลิกรัม ก่อนหรือหลังใช้ยาระงับความรู้สึก หรือหลังการผ่าตัด
- การคลื่นไส้อาเจียนจากการฉายรังสี
- ยารับประทาน
- ผู้ใหญ่ที่ทำการฉายรังสีทั่วร่างกาย รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 1-2 ชั่วโมงก่อนการฉายรังสีในแต่ละวัน
- การฉายรังสีที่ช่องท้องในปริมาณสูงมากเพียงครั้งเดียว ครั้งแรกรับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 1-2 ชั่วโมงก่อนการฉายรังสี และรับประทานต่อเนื่องหลังจากครั้งแรกทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 1-2 วัน
- การฉายรังสีที่ช่องท้องทุกวัน รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 1-2 ชั่วโมงก่อนการฉายรังสี และรับประทานต่อเนื่องหลังจากครั้งแรกทุก 8 ชั่วโมง ในทุกวันที่มีการฉายรังสี
การใช้ยา Ondansetron
- ยา Ondansetron เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
- ควรรับประทานยาพร้อมดื่มน้ำเปล่าตาม 1 แก้ว จะรับประทานยาพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
- หากลืมรับประทานทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถรับประทานได้ทันที หากใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในเวลาและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนในมื้อที่ขาดหายไป
- ควรเก็บยาชนิดเม็ดไว้ที่อุณหภูมิห้อง ยาชนิดน้ำควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิประมาณ 15-30 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ondansetron
ยา Ondansetron อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้ เช่น ผื่นคัน มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ เป็นต้น หรือทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในขณะใช้ยา
ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น
และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน หากพบอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้อง แน่นท้อง หรือท้องผูกอย่างรุนแรง
- ปวดหัวร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เจ็บหน้าอก วิงเวียน เป็นลม หัวใจเต้นแรงหรือเร็ว
- ตาหรือผิวหนังมีสีเหลือง
- มีปัญหาในการมองเห็น อาจนานไม่กี่นาทีหรือหลายชั่วโมง เช่น มองเห็นไม่ชัด สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว
- ระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในร่างกายสูง ทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว ตื่นตัวมากเกินไป คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นลม เป็นต้น