Osteomyelitis หรือกระดูกอักเสบ เป็นภาวะติดเชื้อที่ลุกลามเข้าสู่กระดูก โดยทั่วไปมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็อาจเกิดจากเชื้อชนิดอื่นอย่างเชื้อราได้เช่นกัน ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยมีทั้งอาการแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็อาจทำให้กระดูกเกิดความเสียหายอย่างถาวรได้
อาการของกระดูกอักเสบ
Osteomyelitis แบบเฉียบพลันมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในช่วง 7-10 วัน แต่อาจเป็นอาการเรื้อรังที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น โดยลักษณะอาการที่พบส่วนใหญ่มักมีความคล้ายคลึงกัน ดังนี้
- มีอาการปวด บวม หรือแดงในบริเวณที่มีการติดเชื้อ และอาจพบหนองร่วมด้วย
- มีไข้ หนาวสั่น
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อที่มีอาการได้ หรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก
- หากผู้ป่วยมีอาการในไขสันหลัง อาจทำให้ปวดหลังอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
- ผู้ป่วยที่เป็นเด็กอาจมีอาการไม่สบายตัวหรืองอแงร่วมด้วย
ทั้งนี้ อาการที่เกิดกับเด็กมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรักษาได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งมักเกิดบริเวณกระดูกแขนและขา ส่วนอาการในผู้ใหญ่เกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยอาจเกิดขึ้นบริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง และเท้า
สาเหตุของกระดูกอักเสบ
Osteomyelitis มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย แล้วแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระดูก โดยแบคทีเรียอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ดังนี้
- การติดเชื้อทางกระแสเลือด หรือการติดเชื้อที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบริเวณปอดหรือกระเพาะปัสสาวะแล้วเชื้อแพร่กระจายไปยังกระดูกส่วนต่าง ๆ ในร่างกายจนผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ เป็นต้น
- การติดเชื้อจากแผลเปิด เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายเมื่อเกิดบาดแผลและอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปถึงกระดูกได้ โดยการเกิดแผลอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การผ่าตัด การบาดเจ็บ เป็นต้น
- การติดเชื้อจากเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียง บาดแผลที่เกิดขึ้นอาจอักเสบจนลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ แล้วแพร่กระจายไปยังกระดูกที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด Osteomyelitis ได้ง่าย เช่น
- การบาดเจ็บบริเวณกระดูก และการผ่าตัดกระดูก
- ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด
- การใส่สายสวนในอวัยวะต่าง ๆ
- การใช้สารเสพติด หรือใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยต้องรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
- การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคพิษสุรา ภาวะเอชไอวี เป็นต้น
การวินิจฉัยกระดูกอักเสบ
แพทย์จะวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยด้วยการสอบถามประวัติทางการแพทย์และอาการที่เกิดขึ้น และอาจตรวจร่างกายเพื่อหาบริเวณที่ติดเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การตรวจเลือด เพื่อช่วยให้แพทย์ทราบสาเหตุของการติดเชื้อจากการตรวจปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจเพาะเชื้อ การตรวจหาระดับโปรตีนที่บ่งบอกถึงการอักเสบ เป็นต้น
- การถ่ายภาพทางรังสี จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงความเสียหายและการบาดเจ็บบริเวณกระดูก โดยแพทย์มักใช้การเอกซเรย์ในเบื้องต้น และบางรายอาจใช้การตรวจด้วยซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอสแกนเพิ่มเติม เพื่อดูรายละเอียดในบริเวณดังกล่าว
- การตัดชิ้นเนื้อจากกระดูกไปส่งตรวจ ถือเป็นการวินิจฉัยที่ได้มาตรฐานที่สุด โดยแพทย์จะนำเข็มฉีดเข้าไปในผิวหนังหรือกระดูก เพื่อนำตัวอย่างชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัยชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิด Osteomyelitis และยังช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยารักษาแก่ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมตามชนิดของการติดเชื้อด้วย
- วิธีอื่น ๆ นอกจากการตรวจเลือด แพทย์อาจวินิจฉัยภาวะ Osteomyelitis ด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ไม้ป้ายของเหลวในลำคอเพื่อนำไปตรวจเพาะเชื้อ การตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ การตรวจอุจจาระ เป็นต้น
การรักษากระดูกอักเสบ
การรักษา Osteomyelitis จะขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุด้วย ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้
การใช้ยา แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหรือยาแก้ปวด โดยอาจฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือให้ยาแบบรับประทาน ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อรุนแรง อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน
การผ่าตัด เป็นการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามอาการของผู้ป่วยด้วย โดยมีตัวอย่างการผ่าตัดรักษาภาวะนี้ เช่น การผ่าตัดเพื่อเจาะเอาหนองออก การผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อหรือกระดูกที่ตายออกไปบางส่วน การผ่าตัดเพื่อปลูกกระดูกหรือเนื้อเยื่อใหม่ การผ่าตัดเอาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใส่เข้าไปในร่างกายแล้วเกิดการติดเชื้อออกมา เป็นต้น แต่หากเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง แพทย์อาจต้องตัดกระดูกที่ติดเชื้อออกทั้งท่อน เพื่อป้องกันเชื้อลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกอักเสบ
การป่วยด้วย Osteomyelitis อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น
- ข้ออักเสบติดเชื้อ เป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งเชื้อสามารถเข้าสู่กระแสเลือดแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในกระดูกอ่อนหรือกระดูกภายในข้อต่อได้
- โรคเนื้อเยื่อกระดูกตาย คือ การติดเชื้อในกระดูกที่อาจทำให้การไหลเวียนของเลือดภายในกระดูกถูกขัดขวาง รักษาได้โดยการผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบางส่วนออก เพื่อป้องกันเชื้อนั้นแพร่กระจาย เช่น หากผู้ป่วยมีเนื้อเยื่อกระดูกตายที่แขนเป็นบริเวณกว้าง แพทย์อาจต้องผ่าตัดแขนออกไป เป็นต้น
- การบาดเจ็บบริเวณแผ่นการเจริญเติบโตของกระดูก Osteomyelitis มักจะเกิดบริเวณกระดูกส่วน Growth Plate ซึ่งมีความเกี่ยวข้องในเรื่องของความสูงและการเจริญเติบโต จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโตและพัฒนาการของเด็ก
- โรคมะเร็งผิวหนัง ภาวะ Osteomyelitis อาจส่งผลให้เกิดแผลเปิดและมีหนอง ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ตามมา
- การเจ็บป่วยซ้ำ หากได้รับการรักษาช้า แล้วมีการบาดเจ็บบริเวณกระดูกและเนื้อเยื่อจนทำให้มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวไม่เพียงพอ อาจนำไปสู่การเกิดความเสียหายอย่างถาวรหรือทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะกลับมาป่วยซ้ำอีก ซึ่งหากผู้ป่วยต้องรับการผ่าตัดหรือปลูกถ่ายกระดูก ก็อาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว
การป้องกันกระดูกอักเสบ
ภาวะ Osteomyelitis สามารถป้องกันได้ ดังนี้
การรักษาความสะอาด ผู้ที่มีแผลเปิดควรทำความสะอาดแผลก่อนใช้ผ้าพันแผล เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ หรือผู้ที่ใส่อวัยวะเทียมก็ควรทำความสะอาดและเช็ดบริเวณนั้นให้สะอาด และหากแผลมีอาการรุนแรงก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
การดูแลตนเองสำหรับผู้ที่กำลังป่วย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรรับการรักษาเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ภาวะ Osteomyelitis ส่วนผู้ที่ป่วยด้วย Osteomyelitis อย่างเรื้อรัง ควรแจ้งประวัติการเจ็บป่วยให้แพทย์ทราบและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้ป่วยรุนแรงขึ้น
การป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ ควรสวมรองเท้าที่เหมาะสมและสวมอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการกระโดด วิ่ง หรือการเล่นกีฬาต่าง ๆ รวมทั้งหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเอง ไปพบแพทย์เมื่อพบอาการป่วยที่อาจบ่งชี้ถึงภาวะ Osteomyelitis เนื่องจากหากตรวจพบและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยป้องกันการป่วยอย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง อีกทั้งยังช่วยให้ฟื้นตัวจากการป่วยได้เร็วด้วย