Otosclerosis

ความหมาย Otosclerosis

Otosclerosis หรือ โรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคที่เกิดจากหินปูนก่อตัวขึ้นอย่างผิดปกติบริเวณหูชั้นกลาง ทำให้เกิดอาการหูอื้อ วิงเวียนศีรษะ ในขั้นร้ายแรงอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคนี้ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้

การรักษาโรคหินปูนเกาะกระดูกหู ขึ้นอยู่กับระยะและระดับความรุนแรงของโรค และด้วยความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หากพบสัญญาณของโรค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา

 Otosclerosis

อาการของ Otosclerosis 

การเติบโตของหินปูนอย่างผิดปกติในหูชั้นกลางอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้

ปัญหาทางการได้ยิน

ผู้ป่วยอาจมีอาการหูอื้อ ได้ยินเสียงดังในหู ฟังเสียงที่เบาอย่างเสียงกระซิบได้ลำบาก โดยอาจมีอาการนานหลายเดือนจนถึงหลายปี และเข้าสู่ภาวะสูญเสียการได้ยินในที่สุด ซึ่งอาการอาจเริ่มจากหูข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงเป็นทั้งสองข้างในภายหลัง

สมดุลร่างกายบกพร่อง

หินปูนอาจรบกวนระบบการทรงตัวของร่างกาย ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน รวมถึงสูญเสียการทรงตัวในท่าทางต่าง ๆ

สาเหตุของ Otosclerosis

หูชั้นกลาง ประกอบด้วยกระดูกหู 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน ทั่ง และโกลน ซึ่งเป็นกระดูกสำคัญที่ช่วยขยายคลื่นเสียงจากภายนอกก่อนส่งต่อไปที่หูชั้นใน เส้นประสาทและสมองส่วนรับเสียง หากเกิดการเจริญผิดที่ของหินปูนในหูชั้นกลางก็อาจทำให้เกิดความบกพร่องในกระบวนการรับเสียง นอกจากนี้ การก่อตัวของหินปูนอาจลุกลามเข้าสู่หูชั้นในจนเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคหินปูนเกาะกระดูกหู แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดโรค ดังนี้

  • กรรมพันธุ์

    ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหินปูนเกาะกระดูกหูอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้สูงกว่าคนทั่วไป

  • เพศและอายุ

    เพศหญิงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคดังกล่าวสูงกว่าผู้ชาย และผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยกลางคนอาจพบโรคนี้ได้มากกว่าช่วงอายุอื่น

  • การตั้งครรภ์

    สตรีตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหินปูนเกาะกระดูกหูและลุกลามไปจนถึงการสูญเสียการได้ยินได้มากกว่าคนทั่วไป โดยคาดว่าอาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน 

  • โรค การบาดเจ็บ และการรักษา

    ผู้ที่เป็นโรคหัด โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือเนื้อเยื่อกระดูกหูชั้นในร้าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรค

การวินิจฉัย Otosclerosis

แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นรวมทั้งซักประวัติการรักษาของผู้ป่วยและคนในครอบครัว ก่อนส่งต่อไปยังแพทย์สาขาโสตศอนาสิกวิทยา (Otolaryngologist) หรือแพทย์หูคอจมูก เพื่อเข้ารับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจการได้ยิน การตรวจทางรังสีเพื่อดูความผิดปกติภายในหูชั้นกลาง เป็นต้น

การรักษา Otosclerosis

โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากปัญหาการได้ยินเริ่มรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แพทย์อาจให้การรักษาโรคหินปูนเกาะกระดูกหูด้วยวิธี ดังนี้

  • เครื่องช่วยฟัง
    แพทย์อาจแนะนำเครื่องช่วยฟังนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งจะช่วยขยายเสียงให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงที่ชัดเจนขึ้น
  • ผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลน (Stapedectomy)
    สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด โดยการผ่าตัดจะมีจุดประสงค์เพื่อนำหินปูนออกจากบริเวณที่ผิดปกติในหูชั้นกลางและอาจใส่อุปกรณ์เทียม เพื่อทดแทนกระดูกหูบางส่วน แต่หากอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับหูทั้งสองข้าง แพทย์จะทำการผ่าตัดข้างใดข้างหนึ่งก่อนและจะนัดผู้ป่วยมาตรวจความพร้อมของร่างกาย เพื่อวางแผนการผ่าตัดครั้งถัดไป

ภาวะแทรกซ้อนของ Otosclerosis

หากปล่อยให้โรคดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่เข้ารับการรักษาอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างการรับรู้รสสัมผัสเปลี่ยนไป หรือสูญเสียการได้ยิน ซึ่งความบกพร่องเหล่านี้อาจส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันได้ จึงควรรีบรักษาเมื่อมีอาการของโรค นอกจากนี้ ขั้นตอนการรักษาด้วยการผ่าตัดก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น หูตึง การติดเชื้อ หรือเส้นประสาทได้รับความเสียหาย เป็นต้น แต่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยและมักหายได้เอง

การป้องกัน Otosclerosis

เนื่องจากโรคหินปูนเกาะกระดูกหูยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด การป้องกันกันจึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น หากเริ่มมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหู เช่น หูอื้อ ได้ยินเสียงเบาลง บ้านหมุน หรือเสียการทรงตัว ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ