ความหมาย โรคพาเจทของกระดูก (Paget's Disease)
Paget's Disease หรือโรคพาเจทของกระดูก เป็นโรคกระดูกเรื้อรังที่เร่งกระบวนการสลายกระดูกเนื้อกระดูกเก่าและการสร้างกระดูกใหม่ ทำให้กระดูกของผู้ป่วยเปราะบาง มีรูปร่างผิดปกติและอ่อนแอ ส่วนใหญ่จะเกิดกับกระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลัง กระโหลกศีรษะ และกระดูกขา โดยพบในหมู่ผู้สูงอายุมากกว่าช่วงวัยอื่น
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา จึงอาจไม่ทราบว่าตนเองเป็น Paget's Disease จนกว่าจะผ่านการตรวจร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากอาจยับยั้งหรือชะลอการดำเนินโรคได้ด้วยการใช้ยาบางชนิด ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อปรับกระดูกที่ผิดปกติหรือรักษาอาการกระดูกหักให้หายดี
อาการของ Paget's Disease
โดยปกติ ตลอดชีวิตของมนุษย์จะเกิดกระบวนการสลายและการสร้างกระดูก เพื่อปรับแต่งกระดูกให้มีสุขภาพดีและแข็งแรงอยู่เสมอ โดยมีเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast) ทำหน้าที่สลายเนื้อกระดูกเก่า และเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) ทำหน้าที่สร้างเนื้อกระดูกขึ้นมาใหม่ สำหรับในคนที่เป็น Paget's Disease จะถูกแทรกแซงกระบวนการดังกล่าว ทำให้ร่างกายสลายกระดูกเก่าและสร้างกระดูกใหม่อย่างรวดเร็ว แต่กระดูกที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จะอ่อนแอและเปราะบาง จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดกระดูก กระดูกขยายใหญ่ผิดปกติ กระดูกผิดรูป และอาจเกิดกระดูกหัก
แม้ Paget's Disease ส่วนใหญ่จะไม่พบอาการผิดปกติ แต่บางรายอาจมีอาการปวดกระดูกเกิดขึ้น โดยจะเกิดกับกระดูกเพียงจุดเดียวหรือหลายจุดก็ได้ อีกทั้งยังอาจเกิดกับกระดูกส่วนอื่นได้ด้วย ซึ่งแต่ละจุดจะมีสัญญาณและอาการที่แตกต่างกัน เช่น
- หากเกิดที่กระดูกเชิงกรานอาจทำให้เจ็บสะโพก
- กระดูกกระโหลกศีรษะที่เจริญเติบโตมากเกินไปอาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือปวดศีรษะ
- โรคพาเจทในกระดูกสันหลังอาจทำให้รู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทงและปวดตามแขนหรือขาเนื่องมาจากเส้นประสาทถูกกดทับ
- ในกรณีที่เกิดบริเวณขา กระดูกส่วนนี้จะอ่อนแอและคดงอทำให้ขาโก่ง ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลต่อข้อต่อจนอาจก่อให้เกิดข้อสะโพกหรือเข่าเสื่อมได้
อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นสามารถเกิดได้รับโรคหรือภาวะอื่น ๆ ด้วย หากสงสัยว่าเกิดโรคนี้ โดยมีอาการปวดกระดูกและข้อต่อเหมือนมีของแหลมทิ่มแทงและรู้สึกอ่อนแรงอย่างมาก กระดูกผิดรูป สูญเสียการได้ยินโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเพียงข้างเดียว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติมต่อไป
สาเหตุของ Paget's Disease
สาเหตุของ Paget's Disease ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดขึ้นจากทั้งปัจจัยสภาพแวดล้อมและพันธุกรรม นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคพาเจทของกระดูกมากยิ่งขึ้น ดังนี้
อายุและเพศ
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อาจเสี่ยงเป็น Paget's Disease ได้มากกว่าช่วงวัยอื่น โดยจะพบได้น้อยมากในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
เชื้อชาติ
โรคนี้มักพบในผู้ที่อาศัยในแถบทวีปยุโรป อย่างประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สกอตแลนด์ นิวซีแลนด์ ยุโรปกลาง และกรีซ รวมถึงประเทศที่มีชาวยุโรปอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ด้วย แต่มักพบได้น้อยในกลุ่มประเทศยุโรปเหนือและทวีปเอเชีย
ประวัติทางสุขภาพของคนในครอบครัว
หากคนในครอบครัวเคยป่วยเป็น Paget's Disease มาก่อนก็อาจเป็นปัจจัยให้เสี่ยงเกิดโรคได้ประมาณ 25-40 เปอร์เซ็นต์
การวินิจฉัย Paget's Disease
ผู้ป่วยหลายคนถูกตรวจพบผ่านการตรวจร่างกาย การตรวจเลือด หรือการเอกซเรย์หาสาเหตุของปัญหาสุขภาพอื่น ซึ่งหากพบว่าเข่าข่าย Paget's Disease แพทย์อาจตรวจร่างกายบริเวณที่มีอาการร่วมกับใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำของการวินิจฉัย ได้แก่
- การเอกซเรย์บริเวณกระดูกเพื่อดูความผิดปกติที่เกิดขึ้น อย่างกระดูกผิดรูป โค้งงอ มีขนาดใหญ่หรือมีความหนาแน่นมากกว่าปกติ
- การสแกนกระดูกด้วยสารกัมมันตภาพรังสี โดยแพทย์จะฉีดกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่หลอดเลือดของผู้ป่วยก่อนจะสแกนดูว่ากระดูกส่วนใดได้รับผลกระทบจากโรพาเจทของกระดูกมากที่สุด
- การตรวจเลือดเพื่อวัดค่าเอนไซม์อัลคาไลน์ ฟอสฟาเทส (Alkaline Phosphatase) ในเลือด เนื่องจากผู้ป่วยโรคพาเจทของกระดูกจะมีระดับค่าเอนไซม์นี้สูงกว่าคนทั่วไป
- ในบางกรณี อาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อจากกระดูกไปส่งตรวจ เพื่อให้แน่ใจว่าความผิดปกติเหล่านั้นมีสาเหตุมาจาก Paget's Disease
การรักษา Paget's Disease
ในปัจจุบัน Paget's Disease ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา โดยแพทย์อาจให้สังเกตอาการไปก่อน เมื่อใดที่มีอาการปรากฏขึ้นจึงค่อยรักษาอาการเหล่านั้น แต่ถ้าหากเกิดโรคบริเวณกระโหลกศีรษะหรือกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจพิจารณาการรักษาให้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนแม้จะไม่มีอาการแสดงออกมาก็ตาม
โดย Paget's Disease อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้
การใช้ยา
ยารักษาโรคกระดูกพรุนหรือยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) เป็นยาหลักที่นำมาใช้รักษาโรคพาเจทของกระดูก โดยจะออกฤทธิ์ชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ตัวยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิดและหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ยาอเลนโดรเนต ยาไอแบนโดรเนต ยาพามิโดรเนต ยาไรซีโดรเนต และยาโซเลโดรเนต แอซิด เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาแคลซิโทนินที่เป็นฮอร์โมนช่วยควบคุมระดับแคลเซียมและการสลายกระดูกหากผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตได้ หรือยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอลและยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นด้วย
การผ่าตัด
การผ่าตัดมักนำมาใช้ในบางกรณี เช่น รักษากระดูกสะโพกหัก เปลี่ยนข้อเข่าหรือสะโพกเทียม จัดแนวกระดูกที่ผิดรูป หรือผ่าเอากระดูกที่กดทับบริเวณเส้นประสาทออก ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเสียเลือดมากขณะผ่าตัดเนื่องจากกระดูกที่เกิดโรคนี้จะมีหลอดเลือดมากกว่าปกติ จึงอาจต้องรับประทานยาบางชนิดเพื่อลดการสูญเสียเลือดก่อนการผ่าตัด
การรักษาแบบประคับประคอง
การทำกายภาพบำบัดหรือกิจกรรมบำบัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดการเจ็บปวด ทำให้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้สะดวก และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น โดยอาจใช้อุปกรณ์พยุงร่างกายและลงน้ำหนักบริเวณที่เกิดโรคได้น้อยลงอย่างไม้เท้า กายอุปกรณ์เสริม หรือเครื่องพยุงหลัง
ภาวะแทรกซ้อนของ Paget's Disease
ปกติแล้ว Paget's Disease จะดำเนินโรคไปอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมโรคได้ แต่บางรายก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นกัน เช่น
- กระดูกหัก
โรคนี้ส่งผลให้กระดูกเปราะบางและอ่อนแอจึงเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่ายแม้จะได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ซึ่งผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูกที่หัก พร้อมรับการรักษาที่เหมาะสม
- กระดูกผิดรูป
ภาวะนี้เกิดขึ้นได้บ่อยในผู้ป่วย Paget's Disease โดยจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไปตามแต่ละคน เช่น กระดูกขยายใหญ่หรือมีรูปร่างผิดปกติ ขาโก่ง กระดูกสันหลังคดงอ หรือหลังค่อม เป็นต้น
- ข้อเสื่อม
กระดูกที่ผิดรูปอาจก่อให้เกิดการเสียดสีกับข้อต่อบริเวณโดยรอบมากยิ่งขึ้นจนเกิดเป็นภาวะข้อเสื่อม
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท
โรคพาเจทที่เกิดขึ้นที่กระโหลกศีรษะและกระดูกสันหลังอาจไปกดทับและทำลายเส้นประสาทใน บริเวณดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหรือเหมือนมีของแหลมทิ่มแทงแขนและขา และยังอาจสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรอีกด้วย
- ระดับแคลเซียมในเลือดสูง
กระบวนการสร้างกระดูกใหม่อาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ แต่พบได้น้อยและมักเกิดในผู้ป่วยที่ต้องนอนบนเตียงนาน ๆ หลังจากเข้ารับการผ่าตัดหรือมีกระดูกหัก
- ภาวะหัวใจวาย
Paget's Disease อาจส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปยังจุดที่เกิดโรค เนื่องจากกระดูกที่สร้างขึ้นมาใหม่จะมีหลอดเลือดมากกว่ากระดูกปกติ จึงอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
- มะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูกในผู้ป่วยโรคพาเจทของกระดูกเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้งสองโรคจะมีลักษณะอาการที่คล้ายกัน เช่น ปวดกระดูก ผิวหนังบวมหรือมีก้อนบวมบริเวณกระดูกที่เกิดโรคพาเจท เป็นต้น
การป้องกัน Paget's Disease
Paget's Disease นั้นยังไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคดังกล่าว หากเกิดโรคดังกล่าว ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจาก Paget's Disease ได้ด้วยการระมัดระวังการหกล้ม ซึ่งอาจใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกายอย่างไม้เท้าหรือวอร์คเกอร์ช่วยเดิน ปูแผ่นกันลื่นโดยเฉพาะในห้องน้ำหรือรอบอ่างอาบน้ำ เก็บสายไฟให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่วางทิ้งไว้เกะกะ หรือติดตั้งราวจับบริเวณบันไดหรือผนังรอบตัวบ้าน
นอกจากนี้ การดูแลตนเองให้มีสุขภาพกระดูกแข็งแรงอยู่เสมอก็อาจช่วยได้โดยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอในแต่ละวัน เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ถั่วเหลือง เต้าหู้ เป็นต้น หมั่นออกกำลังเพื่อเสริมสร้างสุขภาพข้อต่อและความแข็งแรงของกระดูก รวมทั้งควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อควรปฏิบัติ ปริมาณที่เหมาะสม และความปลอดภัยของการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก