Pantoprazole (แพนโทพราโซล)

Pantoprazole (แพนโทพราโซล)

Pantoprazole (แพนโทพราโซล) คือ ยาชนิดหนึ่งในกลุ่มยายับยั้งการหลั่งกรดแบบโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitor) โดยแพนโทพราโซลจะลดการหลั่งกรดภายในกระเพาะให้น้อยลง ยาชนิดนี้มักใช้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อน โรคแผลในกระเพาะอาหาร อาการกรดไหลย้อนเข้าหลอดคอ (Erosive Esophagitis) หรืออาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะ เช่น กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome) ซึ่งเป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดอย่างมากในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ แพนโทพราโซลยังใช้ในการบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn) อาการไอเรื้อรัง ปัญหาในการกลืน ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหารได้

Pantoprazole

เกี่ยวกับยา Pantoprazole

กลุ่มยา โปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitor)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ลดปริมาณการผลิตกรดภายในกระเพาะอาหาร
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ดรับประทาน ยาฉีดเข้าเส้นเลือด


คำเตือนในการใช้ยา Pantoprazole

  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาแพนโทพราโซล หรือยาที่มีลักษณะใกล้เคียง เช่น แลนโซพราโซล (Prevacid) โอเมพราโซล (Prilosec, Zegerid) อีโซเมพราโซล (Nexium) หรือราบีพราโซล (AcipHex)
  • ผู้ป่วยโรคตับร้ายแรง
  • ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) หรือโรคกระดูกบาง (Osteopenia) การใช้ยาแพนโทพราโซลอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเปราะแตกของกระดูกในบริเวณกระดูกสันหลัง ข้อมือ หรือสะโพก ทั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาแพนโทพราโซลคือสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปราะแตกของกระดูกหรือไม่ แต่อาการนี้เกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่ใช้ยาในปริมาณมากหรือในระยะยาว รวมทั้งผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่มีภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia) การใช้ยาแพนโทพราโซลจะทำให้ระดับแมกนีเซียมในกระแสเลือดลดลงมากกว่าปกติ
  • ห้ามใช้ยาแพนโทพราโซลในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
  • แม้ว่ายังไม่มีการยืนยันว่าแพนโทพราโซลส่งผลต่อสตรีมีครรภ์ แต่ก่อนการใช้ยาผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์อยู่หรือมีแผนที่จะมีครรภ์ในอนาคตควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ห้ามให้นมเด็กทารกหากมารดากำลังใช้ยาแพนโทพราโซล เนื่องจากยาชนิดนี้อาจปะปนออกมากับน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ก่อนใช้ยาผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ให้ทราบเกี่ยวกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ร่วมในช่วงเวลาที่ใช้แพนโทพราโซล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยใช้ยาแอมพิซิลลิน (Ampicillin) ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate Mofetil) ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) หรือยาคูมาดิน (Coumadin) ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) หรือยาเนวฟินนาเวียร์ (Nelfinavir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีหรือรักษาโรคเอดส์ รวมทั้งยาที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็กอย่างยาเฟอรัสฟูมาเรต (Ferrous Fumarate) ยาเฟอรัสซัลเฟต (Ferrous Sulfate) หรือยาเฟอรัสกลูโคเนต (Ferrrous Gluconate) และอื่น ๆ

ปริมาณการใช้ยา Pantoprazole

การรักษากรดไหลย้อนเข้าหลอดคอ (Erosive Esophagitis)

  • เด็ก (อายุ 5 ปีหรือมากกว่า) สำหรับยาชนิดเม็ดให้ในปริมาณ 20 มิลลิกรัมต่อ 1 วัน สำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 15-น้อยกว่า 40 กิโลกรัม ในขณะที่เด็กที่มีน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมให้ใช้ในปริมาณ 40 มิลลิกรัมต่อ 1 วัน เป็นระยะเวลาทั้งหมด 8 สัปดาห์ ทั้งนี้เป็นการรักษาและบรรเทาอาการในระยะสั้นสำหรับผู้ป่วยเด็กที่เป็นกรดไหลย้อนเข้าหลอดคอและผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน (GERD)
  • ผู้ใหญ่ ยาชนิดเม็ดให้ในปริมาณ 40 มิลลิกรัมต่อ 1 วัน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ เป็นการรักษาระยะสั้นและบรรเทาอาการกรดไหลย้อนเข้าหลอดคอ หากผู้ป่วยยังไม่หายภายในเวลาที่กำหนด หรือหากอาการกลับมาอีกครั้งอาจต้องรับประทานยาต่ออีกเป็นเวลา 8 สัปดาห์

การรักษาโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)

  • เด็ก (อายุ 5 ปีหรือมากกว่า) สำหรับยาชนิดเม็ดให้ในปริมาณ 20 มิลลิกรัมต่อ 1 วัน สำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 15-40 กิโลกรัม ในขณะที่เด็กที่มีน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมให้ใช้ในปริมาณ 40 มิลลิกรัมต่อ 1 วัน เป็นระยะเวลาทั้งหมด 8 สัปดาห์ เพื่อเป็นการรักษาและบรรเทาอาการในระยะสั้นสำหรับผู้ป่วยเด็กที่เป็นกรดไหลย้อนเข้าหลอดคอและผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
  • ผู้ใหญ่ สำหรับยาชนิดเม็ดให้รับประทานในปริมาณ 40 มิลลิกรัมต่อ 1 วัน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ หากผู้ป่วยยังไม่หายภายในระยะเวลาที่กำหนดต้องรับประทานต่ออีก 8 สัปดาห์ ส่วนยาประเภทฉีดให้ใช้ในปริมาณ 40 มิลลิกรัมทางเส้นเลือดต่อ 1 วัน โดยให้ยาหยดทางเส้นเลือดดำช้า ๆ นานอย่างน้อย 2-15 นาที โดยใช้เป็นระยะเวลา 7-10 วัน ทั้งนี้การฉีดยาเข้าเส้นเลือดควรหยุดใช้เมื่อผู้ป่วยสามารถใช้ยาแบบเม็ดรับประทานได้ การใช้ยาเป็นการรักษาระยะสั้นสำหรับผู้ป่วยกรดไหลย้อน และยังลดการกำเริบของอาการแสบร้อนกลางอกทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนสำหรับผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่

การรักษาแผลในลำไส้เล็ก และแผลในกระเพาะอาหาร

  • ผู้ใหญ่ สำหรับยาชนิดเม็ดรับประทานให้รับประทานในปริมาณ 40 มิลลิกรัม ตอนเช้าทุกวัน เป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นแผลในลำไส้เล็ก และเป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร

ป้องกันกระเพาะอาหารอักเสบจากการใช้ยากลุ่มNSIAD

  • ผู้ใหญ่ สำหรับยาชนิดเม็ดรับประทานให้รับประทานในปริมาณ 20 มิลลิกรัม ตอนเช้าทุกวัน

การรักษากลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger- Ellison Syndrome)

  • ผู้ใหญ่ สำหรับยาชนิดเม็ดให้รับประทานในปริมาณ 40 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อ 1 วัน โดยให้ในปริมาณมากที่สุดได้ 240 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ส่วนยาชนิดฉีดกรณีที่ให้ในครั้งแรกใช้ในปริมาณ 80 มิลลิกรัมทางเส้นเลือดทุก ๆ 12 ชั่วโมง และให้ยาหยดทางเส้นเลือดดำช้า ๆ นานอย่างน้อย 2-15 นาที ในขณะที่การฉีดเพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่องให้ใช้ในปริมาณ 80 มิลลิกรัมทางเส้นเลือดทุก ๆ 12 ชั่วโมง โดยให้ยาหยดเข้าทางเส้นเลือดดำช้า ๆ นานอย่างน้อย 2-15 นาที โดยใช้ระยะเวลาให้ยาทั้งหมด 6 วัน และมีปริมาณสูงสุด 240 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้การฉีดยาเข้าเส้นเลือดควรหยุดใช้เมื่อผู้ป่วยสามารถใช้ยาแบบเม็ดรับประทานได้

การรักษาในผู้ป่วยโรคตับ

ปัจจุบันยังไม่มีผลทางการศึกษาในผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับตับสำหรับการใช้ยาในปริมาณที่มากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อวัน

การใช้ยา Pantoprazole

ผู้ป่วยควรใช้ยาชนิดนี้ตามใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น โดยห้ามใช้ยาในระยะเวลาหรือปริมาณที่มากเกินกว่าแพทย์กำหนด อีกทั้งก่อนการใช้ยาควรอ่านศึกษาคู่มือการใช้ยาให้เข้าใจและสอบถามแพทย์ผู้จ่ายยาหากพบข้อสงสัยหรือปัญหาในการใช้ การใช้ยารับประทานห้ามผู้ป่วยบดหรือเคี้ยวเม็ดยาโดยเด็ดขาด แต่ผู้ป่วยสามารถทานยาควบคู่ไปกับอาหาร เช่น การรับประทานคู่กับน้ำแอปเปิ้ล หรือแอปเปิ้ลซอสได้

เนื่องจากการจ่ายยาโดยแพทย์อาจแตกต่างกันไปตามแต่กรณีของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งอาจเกี่ยวกับพื้นฐานทางสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้การจ่ายยาในปริมาณและระยะเวลาที่แตกต่าง ผู้ป่วยต้องยึดการจ่ายยาของแพทย์เป็นหลักและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันที แต่ถ้าหากใกล้ระยะเวลาของยามื้อถัดไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและอย่าใช้ยาเกินขนาดโดยเด็ดขาด

ผู้ป่วยควรเก็บรักษายาไว้ในอุณหภูมิห้องโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับความชื้นหรือความร้อน สำหรับการใช้ยาแพนโทพราโซลเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี อาจก่อให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี12 หากผู้ป่วยพบว่ากำลังประสบปัญหาดังกล่าวให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไข นอกจากนี้การใช้ยาแพนโทพราโซลอาจทำให้ผลการคัดกรองยาเกิดความผิดพลาด ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบและต้องใช้ตัวอย่างปัสสาวะในการตรวจ โดยให้บอกกับผู้ตรวจว่ากำลังอยู่ในช่วงการใช้ยาแพนโทพราโซล

ผลข้างเคียงจากยา Pantoprazole

กรณีที่เกิดผลข้างเคียงในระหว่างการใช้ยาแพนโทพราโซล หากผู้ป่วยพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์โดยทันที ผลข้างเคียงโดยทั่วไปที่เกิดจากการใช้ยาอาจประกอบไปด้วยการมองเห็นไม่ชัดเจน ปากแห้ง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก อาการเจ็บปวดที่ท้อง ผิวแห้งหรือผิวแดง กลิ่นลมหายใจเหมือนกับกลิ่นผลไม้ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หิวอาหารหรือน้ำบ่อยกว่าปกติ มีปัญญาในการหายใจ น้ำหนักลดลงอย่างไม่สามารถอธิบายได้  นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหัวและท้องเสียเกิดขึ้นร่วมด้วย ในขณะเดียวกันผลข้างเคียงของยาในระดับอาการรุนแรงก็อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • ภาวะพร่องแมกนีเซียมในเลือด อาจแสดงอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหดตัวเรื้อรัง หรืออาการชัก (Seizures)
  • อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่ร้ายแรง หรืออาการท้องร่วง (Clostridium Difficile-Associated Diarrhea) ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์แก้ท้องเสียหรือยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotic Pain) เนื่องจากอาจทำให้อาการทางระบบทางเดินอาหารแย่ลง ดังนั้น หากพบว่าอาการท้องเสียยังไม่หายไป ร่วมกับอาการเจ็บปวดบริเวณท้องหรือกระเพาะอาหาร มีไข้ และมีเลือดหรือมูกในอุจจาระ ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันที
  • ภาวะขาดวิตามินบี12 อาจแสดงอาการ เช่น อาการเจ็บปวดที่ลิ้น รู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ รวมทั้งรู้สึกชาหรือเป็นเหน็บที่มือและเท้า
  • อาการภูมิแพ้รุนแรง แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยากแต่หากผู้ป่วยพบว่ามีผื่นลมพิษขึ้นที่ผิวหนัง รู้สึกคันโดยเฉพาะที่ใบหน้า ลำคอ และลิ้น วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของไต อาทิ ปริมาณของปัสสาวะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ผู้ป่วยควรรีบติดต่อแพทย์เพื่อรับคำปรึกษากับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการใช้ยาให้เร็วที่สุด