ภาวะพาเรสทีเชีย (Paresthesia)

ความหมาย ภาวะพาเรสทีเชีย (Paresthesia)

Paresthesia (ภาวะพาเรสทีเชีย) คือ ความรู้สึกเหมือนโดนของแหลมทิ่ม รู้สึกคัน เสียว หรือแสบร้อน เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณมือ แขน ขา และเท้า โดยอาจเกิดจากการกดทับเส้นประสาทแบบไม่ได้ตั้งใจอย่างการนอนทับแขนหรือนั่งขัดสมาธิเป็นเวลานาน ซึ่งอาการเหล่านี้มักหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการเรื้อรังก็ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจมีสาเหตุมาจากโรคหรืออาการเจ็บป่วยบางชนิดได้

1811 Paresthesia rs

อาการของภาวะพาเรสทีเชีย

ผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยมีอาการที่พบได้บ่อย เช่น รู้สึกเหมือนโดนของแหลมทิ่มแทงผิวหนัง แสบร้อน รู้สึกเหมือนไฟช็อต เคลื่อนไหวบริเวณที่มีอาการลำบาก รู้สึกเหมือนมีบางอย่างอยู่ใต้ผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายในเวลาไม่กี่นาทีเมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนท่าทาง อย่างการยืนขึ้นหลังจากนั่งมาเป็นเวลานาน หรือตื่นขึ้นมาจากการนอนทับแขน

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ควรได้รับการรักษา หรืออาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเส้นประสาทกำลังได้รับความเสียหาย

  • รู้สึกชา เสียว หรือแสบร้อนโดยไม่ทราบสาเหตุ และเป็นอยู่นานหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
  • มีอาการบาดเจ็บที่หลัง ศีรษะ คอ และไม่สามารถเดินหรือเคลื่อนไหวได้
  • รู้สึกปวดอย่างรุนแรง
  • เวียนศีรษะ
  • สับสน
  • มีปัญหาในการคิดหรือการพูด
  • การมองเห็นผิดปกติ
  • กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้
  • หมดสติ

สาเหตุของภาวะพาเรสทีเชีย  

อาการ Paresthesia ที่เกิดขึ้นชั่วคราวมักมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทถูกกดทับในช่วงเวลาสั้น ๆ จนไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในบริเวณใดบริเวณหนึ่งและมีอาการดังกล่าวตามมา ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ในท่าทางใดนาน ๆ เช่น นอนหลับทับมือหรือแขน นั่งขัดสมาธิเป็นเวลานาน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากอาการต่าง ๆ ไม่หายไป หรือเกิดอาการแบบเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติหรือความเสียหายของเส้นประสาทได้ โดยอาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้

การเจ็บป่วย

  • ภาวะขาดวิตามินบางชนิด โดยเฉพาะวิตามินบี 12
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
  • โรคเบาหวาน
  • ผิวหนังได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจเกิดจากผื่นคัน การอักเสบ หรือการติดเชื้อ
  • โรคเรเนาด์ ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยสัมผัสกับอุณหภูมิที่หนาวเย็นจนทำให้ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนสี
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
  • โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
  • กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ เกิดขึ้นเพราะได้รับบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวร่างกายบริเวณข้อมืออย่างซ้ำ ๆ เป็นประจำ
  • อาการไซอาติก้า ซึ่งเป็นอาการปวดตามแนวเส้นประสาทไซอาติกที่อยู่บริเวณหลังส่วนล่าง สะโพก ต้นขา ยาวไปถึงปลายขาแต่ละข้าง มักเกิดขึ้นจากหมอนรองกระดูกหรือกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทนี้

สาเหตุอื่น ๆ

  • การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นเวลานาน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ยาต้านชัก เป็นต้น
  • การรักษาด้วยการฉายรังสี

การวินิจฉัยภาวะพาเรสทีเชีย

การวินิจฉัยอาการ Paresthesia อาจมีขั้นตอนดังนี้

  • การซักประวัติสุขภาพ แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ยาหรืออาหารเสริมที่ผู้ป่วยกำลังใช้ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผู้ป่วยทำเป็นประจำ
  • การตรวจร่างกายและระบบประสาท แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อทดสอบการทำงานของระบบประสาทว่าเป็นไปตามปกติหรือไม่
  • การตรวจเลือด อาจใช้ในผู้ป่วยบางราย เพื่อตรวจดูระดับวิตามินบีหรือระดับน้ำตาลในเลือด แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาวิเคราะห์หาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการนี้  
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เป็นการตรวจโดยใช้กระแสไฟฟ้า เพื่อบันทึกความเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อและเส้นประสาทรับความรู้สึก
  • การตรวจจากภาพถ่ายรังสี เช่น การเอกซเรย์ การทำ CT Scan การทำ MRI Scan เป็นต้น โดยแพทย์อาจฉีดสารทึบรังสีเข้าร่างกายก่อนทำการตรวจด้วย เพื่อให้เห็นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน   

การรักษาภาวะพาเรสทีเชีย

การรักษาอาการ Paresthesia จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่เป็นต้นเหตุ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยแต่ละรายปฏิบัติตามแนวทางต่าง ๆ เช่น

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยมักแนะนำให้ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนซ้ำ ๆ เป็นประจำหยุดพักกิจกรรมดังกล่าว รวมทั้งอาจต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กันด้วย
  • รับวิตามินบี เพื่อเพิ่มระดับวิตามินบีในเลือดให้สูงขึ้น
  • หยุดใช้ยาบางชนิดที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มากนักหากยาชนิดนั้นอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการ Paresthesia
  • หากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดภายใต้การดูแลของแพทย์
  • แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการ Paresthesia จากโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือเข้ารับการดามข้อมือ หรืออาจเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะดังกล่าวหากมีอาการรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะพาเรสทีเชีย

ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดแปลบ เสียว หรือรับรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้น้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บโดยไม่รู้สึกตัวเมื่อสัมผัสกับวัตถุอันตรายบางอย่าง เช่น วัตถุที่มีความร้อน วัตถุแหลมคม เป็นต้น ดังนั้น ในระหว่างที่มีอาการ ผู้ป่วยจึงควรระมัดระวังตนมากเป็นพิเศษ

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการ Paresthesia แบบเรื้อรัง หรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดผลกระทบหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น หากมีอาการอย่างเรื้อรังหรือรุนแรงจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาการนี้อาจมีสาเหตุมาจากภาวะเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายได้

การป้องกันภาวะพาเรสทีเชีย

อาการ Paresthesia ไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจเสี่ยงต่อการกดทับเส้นประสาท หรือกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวในท่าเดิมแบบซ้ำ ๆ และควรหยุดพักบ่อย ๆ ในระหว่างที่ทำกิจกรรมดังกล่าว
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ และไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคที่อาจเป็นสาเหตุของ Paresthesia
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมอง ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิด Paresthesia เป็นประจำ