กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS)

ความหมาย กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS)

PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) หรือกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ คือ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง รังไข่จึงมีขนาดโตขึ้น และอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้น ขนดก หรือมีบุตรยาก โดยมักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นหลัก

PCOS

อาการของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

ผู้ป่วย PCOS มักมีอาการหรือรู้สึกถึงความผิดปกติภายหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลัก ๆ ดังนี้

  • การตกไข่ผิดปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติและมีบุตรยาก
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนานหลายเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานานและอาจมามากหรือน้อยผิดปกติ
  • มีบุตรยาก เนื่องจากการตั้งครรภ์ต้องอาศัยการตกไข่ ซึ่งผู้ป่วย PCOS บางราย อาจมีภาวะไม่ตกไข่ในบางเดือน หรือบางรายอาจไม่ตกไข่เลย จึงส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยาก
  • ระดับฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อลักษณะทางกายภายของผู้ป่วย เช่น มีขนขึ้นตามหน้าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีสิวขึ้นมากผิดปกติ เสียงเปลี่ยน หรือเป็นโรคศีรษะล้านทางพันธุกรรม (Male-Pattern Baldness) ซึ่งทำให้ผมร่วงและผมบาง
  • อาการอื่น ๆ ผู้ป่วย PCOS อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเกิดความรู้สึกหดหู่ จากอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

สาเหตุของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

งานวิจัยทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด PCOS ได้ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจส่งผลให้เกิด PCOS

  • ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล ทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันถึงสาเหตุ ที่ส่งผลให้ฮอร์โมนอยู่ในภาวะไม่สมดุล แต่เป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากความผิดปกติของรังไข่เอง ต่อมผลิตฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย หรือสมองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน รวมถึงภาวะดื้ออินซูลิน ที่ทำให้ฮอร์โมนมีปริมาณเปลี่ยนไป ความผิดปกติของฮอร์โมนที่มักพบในผู้ป่วย PCOS คือ
    • ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนมีปริมาณสูงกว่าปกติ เทสโทสเทอโรน คือฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่ง โดยปกติจะถูกผลิตขึ้นในร่างกายของเพศหญิงปริมาณเล็กน้อย ระดับเทสโทสเทอโรนที่สูงมากกว่าระดับทั่วไปส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้
    • ฮอร์โมนลูทิไนซิง หรือแอลเอชมีปริมาณสูงกว่าปกติ ลูทิไนซิง คือฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการตกไข่ ซึ่งหากมีปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลให้รังไข่ทำงานไม่ปกติ
    • Sex Hormone Binding Globulin หรือ SHBG มีปริมาณต่ำกว่าปกติ SHBG คือโปรตีนในเลือดชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ช่วยควบคุมปฏิกิริยาของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่มีต่อร่างกาย ปริมาณ SHBG ที่ต่ำลงจึงส่งผลให้ร่างกายผิดปกติจากฮอร์โมนเพศชายที่สูงขึ้น
    • ฮอร์โมนโพรแลกตินมีปริมาณสูงกว่าปกติ โพรแลกตินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมหลั่งน้ำนมในหญิงตั้งครรภ์ หากมีปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ และพบในเฉพาะหญิงสาวบางรายเท่านั้น
  • ภาวะดื้ออินซูลิน อินซูลินคือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นภายในตับอ่อน นอกจากมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลินยังทำหน้าที่กระตุ้นให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เทสโทสเทอโรน ผู้หญิงที่มีภาวะดื้ออินซูลิน หรือภาวะที่เซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองกับปริมาณอินซูลินปกติ ทำให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนมากขึ้นไปด้วย โดยปริมาณอินซูลินและเทสโทสเทอโรนที่มากผิดปกติ จะกระทบต่อการสร้างถุงน้ำในรังไข่ การตกไข่ ลักษณะทางกายภาพ และน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ดังนั้น ภาวะดื้ออินซูลิน จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิด PCOS
  • พันธุกรรม บุคคลที่มีคนใกล้ชิดทางสายเลือดเป็น PCOS จะมีความเสี่ยงต่อการเป็น PCOS มากกว่าบุคคลอื่น ในปัจจุบัน นักวิจัยกำลังศึกษาถึงยีนส์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของ PCOS แต่ยังไม่มีผลลัพธ์ออกมาเป็นที่ชัดเจน

การวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

ทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็น PCOS ต้องวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติเช่นเดียวกับ PCOS ร่วมกับมีปัจจัยเข้าข่ายอย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อดังต่อไปนี้

  • รอบระดูห่างหรือขาดไป
  • มีลักษณะทางกายภาพจากฤทธิ์ของฮอร์โมนแอนโดรเจนมากกว่าปกติ ได้แก่ หน้ามัน มีสิวมาก ขนดกมากกว่าปกติ หรือตรวจสารชีวเคมีในเลือดพบระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงกว่าปกต
  • อัลตราซาวด์พบว่ามีรังไข่อย่างน้อย 1 ข้างมีถุงน้ำรังไข่จำนวนมาก

โดยการวินิจฉัยไม่มีวิธีการหรือการใช้เครื่องมือเฉพาะ แต่จะใช้การสอบถามถึงอาการ ร่วมกับการตรวจสอบอื่น ๆ ซึ่งวิธีการวินิจฉัย PCOS มีรายละเอียดดังนี้

  • สอบถามประวัติทางการแพทย์ ขั้นแรกแพทย์จะสอบถามถึงอาการทั่วไปกับผู้ป่วย เช่น ระยะเวลาการมีประจำเดือน รอบประจำเดือน น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออาการอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง
  • การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก และความดันโลหิต
  • การตรวจภายใน แพทย์มักตรวจสอบอวัยวะของระบบสืบพันธุ์อย่างละเอียด เพื่อหาสัญญาณความผิดปกติ
  • การตรวจเลือด แพทย์จะนำเลือดมาตรวจสอบระดับฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ เนื่องจากระดับฮอร์โมนแต่ละชนิดจะบ่งชี้ถึงโรคต่าง ๆ ได้
  • อัลตราซาวด์ คือการใช้เครื่องมือส่งคลื่นเสียงเพื่อจำลองภาพอวัยวะภายในร่างกายที่ต้องการตรวจสอบลงบนจอคอมพิวเตอร์ วิธีการนี้ช่วยให้แพทย์ทราบถึงลักษณะของรังไข่ และความหนาของผนังมดลูก เช่น ตรวจดูว่ารังไข่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

การรักษากลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

การรักษา PCOS มักแตกต่างกันไปตามอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล เช่น โรคอ้วน ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือภาวะมีบุตรยาก ซึ่งวิธีหลัก ๆ มีดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) แล้วผลลัพธ์มีค่ามากกว่า 24.9 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ควรหันมาออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมันและแป้ง เนื่องจากการลดน้ำหนักลงได้แม้เพียงเล็กน้อย จะช่วยบรรเทาอาการป่วยและป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้
  • รับประทานยา ชนิดของยาที่ต้องรับประทานจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาการที่ปรากฎในผู้ป่วยแต่ละราย
  • ผู้ป่วยที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเป็นส่วนประกอบ) หรือยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียว (มีเพียงฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเป็นส่วนประกอบ) โดยตัวยาจะช่วยทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • ผู้ป่วยที่มีการตกไข่ผิดปกติ การตกไข่ที่ผิดปกติ เช่น ตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่ ส่งผลให้มีบุตรยาก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานโคลมีฟีน ซึ่งเป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน และช่วยให้การตกไข่เป็นไปตามปกติ ทั้งนี้ แพทย์จะให้ยาเมทฟอร์มินเสริมหากผู้ป่วยรับประทานยาโคลมีฟีนแล้วการตกไข่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ

ผู้ป่วยที่ใช้โคลมีฟีนและเมทมอร์ฟินแล้วไม่ได้ผล อาจต้องเปลี่ยนวิธีการรักษามาเป็น การฉีดโกนาโดโทรปิน ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ของฮอร์โมนฟอลลิเคิลสติมิวเลติง (FSH) และฮอร์โมนลูทิไนซิง (LH) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยตกไข่ปกติ ทั้งนี้การฉีดโกนาโดโทรปินเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์แฝด

  • ผู้ป่วยที่มีอาการขนดกหรือผมร่วง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ยาฟลูตามิไดน์ (Flutamidine) และยาฟิแนสเทอไรน์ (Finasteride) ที่มีฤทธิ์ช่วยควบคุมการทำงานของฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน เพื่อบรรเทาอาการผมร่วง อย่างไรก็ตาม ยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ยาฟลูตามิไดน์ (Flutamidine) และยาฟิแนสเทอไรน์ (Finasteride) ไม่เหมาะกับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นแจ้งแพทย์ก่อนรับการรรักษาทุกครั้ง ส่วนผู้ป่วยที่มีขนดก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ใช้ยาอีฟลอร์นิทีน ซึ่งมีลักษณะเป็นเนื้อครีม ใช้สำหรับทาผิวหนัง เพื่อชะลอการเกิดขนบนใบหน้า
  • ผ่าตัด แพทย์จะใช้การผ่าตัดจี้รังไข่ (Ovarian Drilling) ซึ่งเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยใช้ความร้อนหรือเลเซอร์ทำลายเนื้อเยื่อรังไข่ส่วนที่ใช้ผลิตฮอร์โมนเพศชาย เพื่อลดระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน และช่วยให้การตกไข่กลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ การผ่าตัดจี้รังไข่เป็นการรักษาที่ส่งผลเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น
  • เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ได้แก่ เด็กหลอดแก้ว (Invitro Fertilization with Single Ovum Transfer: IVF) แพทย์อาจพิจารณาถึงวิธีนี้ในกรณีที่ใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือมีพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน หรือมีความผิดปกติของฝ่ายชายร่วมด้วย
  • วิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ห่วงอนามัยช่วยป้องกันภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ การกำจัดขนด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การโกน การถอน การแวกซ์ ซึ่งวิธีเหล่านี้ได้ผลเพียงระยะสั้น หากต้องการกำจัดขนอย่างถาวร อาจใช้ไฟฟ้าหรือการจี้ทำลายรูขุมขน แต่อาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นและรอยคล้ำ

ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

ผู้ป่วย PCOS ที่เกิดอาการอื่นร่วม ส่วนใหญ่อาจเป็นผลมาจากอาการหลักที่ปรากฎอยู่ เช่น โรคอ้วน โดยภาวะแทรกซ้อนที่มักพบมีดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ความดันโลหิตสูง หรือภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องจากตั้งครรภ์
  • มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงอย่างต่อเนื่อง
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
  • กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคตับอักเสบ ซึ่งเกิดจากการสะสมของไขมันในตับ
  • ภาวะมีบุตรยาก คลอดก่อนกำหนด หรือแท้งบุตร
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
  • โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า

การป้องกันกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

การป้องกัน PCOS ยังไม่มีวิธีที่แน่นอน เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยใดออกมายืนยันถึงสาเหตุที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วย PCOS ควรปรับพฤติกรรมและเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังเป็นประจำ และงดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน