ความหมาย ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (Phimosis)
Phimosis หรือภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ คือภาวะที่ผิวหนังบริเวณปลายองคชาตหดตัวจนไม่สามารถดึงให้เปิดขึ้นได้ดังปกติ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหากความผิดปกติดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทว่าหากมีอาการปัสสาวะไม่ออก ปลายองคชาตอักเสบ รวมทั้งรู้สึกเจ็บปวดเมื่อองคชาตแข็งตัวหรือขณะปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ หนังหุ้มปลายองคชาติตีบทางสรีรวิทยา (Physiologic Phimosis) คือภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบที่มักเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อมีอายุ 5-7 ปี ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือหนังหุ้มปลายองคชาติตีบทางพยาธิวิทยา (Pathologic Phimosis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบ หรือการเกิดรอยแผลเป็น มักพบในผู้ชายวัยทำงานและจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที
อาการของภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ
โดยทั่วไป ภาวะ Phimosis มักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ทว่าปลายองคชาติที่รัดแน่นเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการปัสสาวะและการมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวทำความสะอาดได้ยากและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าวอาจมีอาการดังนี้
- ปลายองคชาตและหนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบ ทำให้มีอาการบวมแดงและรู้สึกเจ็บปวด
- ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะลำบาก
- รู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ
- รู้สึกเจ็บปวดเมื่อองคชาตแข็งตัว
สาเหตุของภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ
ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะหนังหุ้มปลายองคชาติตีบตั้งแต่แรกเกิดที่แน่ชัด ส่วนภาวะหนังหุ้มปลายองคชาติตีบที่เกิดขึ้นตอนโตนั้นอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อบริเวณปลายองคชาตหรือผิวหนังหุ้มปลายองคชาต หรือการเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นบริเวณองคชาตที่ทำให้ผิวหนังสูญเสียความยืดหยุ่นและแข็งกระด้าง จึงยากต่อการดึงให้เปิดขึ้น
ทั้งนี้ การมีอายุมากขึ้นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะนี้มากขึ้น เนื่องจากผิวหนังหุ้มปลายองคชาตมีแนวโน้มสูญเสียความยืดหยุ่นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีองคชาตแข็งตัวได้ยาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เสี่ยงเกิดภาวะปลายองคชาตอักเสบและติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปก็เสี่ยงเกิดภาวะนี้ตามมาได้เช่นกัน
การวินิจฉัยภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ
ผู้ที่มีภาวะ Phimosis และมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะลำบาก หรือรู้สึกเจ็บปวดบริเวณองคชาต ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ โดยในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามอาการและตรวจดูความผิดปกติขององคชาต เมื่อวินิจฉัยเรียบร้อยแล้วจึงจะพิจารณารักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป
การรักษา Phimosis
การรักษาภาวะ Phimosis นั้นขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของอาการ รวมถึงอายุของผู้ป่วยเป็นหลัก สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ร่วมด้วย แพทย์จะสอนผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีรูดเปิดผิวหนังหุ้มปลายองคชาตให้เด็กทีละน้อยเป็นประจำทุกวันจนกระทั่งเปิดได้เป็นปกติ หากปฏิบัติตามวิธีนี้แล้วไม่ได้ผลอาจให้ผู้ป่วยใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก เพื่อช่วยให้หนังหุ้มปลายนุ่มและรูดเปิดได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่ใช้ยาหรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการขลิบหนังหุ้มปลายซึ่งเป็นการผ่าตัดนำหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศออกและช่วยป้องกันการเกิดภาวะนี้ซ้ำ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการขลิบหนังหุ้มปลายอาจเข้ารับการผ่าตัดแยกหนังหุ้มปลายองคชาตออกจากปลายองคชาตแทน แต่ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบซ้ำได้
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ
ผู้ป่วยภาวะ Phimosis ที่มีหนังหุ้มปลายองคชาตตีบร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น เจ็บ บวมแดง หรือปัสสาวะลำบาก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดแผลเรื้อรังหรือมีเนื้อตายและสูญเสียองคชาตไปอย่างถาวร นอกจากนั้น ยังเสี่ยงเกิดมะเร็งองคชาตมากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย
การป้องกันภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ
ภาวะ Phimosis อาจป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นทุกวันในระหว่างอาบน้ำ รวมทั้งดึงหนังหุ้มปลายองคชาตให้เปิดออกอย่างช้า ๆ และล้างทำความสะอาดผิวหนังข้างใต้ แต่สำหรับทารกและเด็กเล็กนั้นไม่จำเป็นต้องดึงหนังหุ้มปลายองคชาตให้เปิดออกเพราะอาจทำให้เกิดแผลได้ เมื่อทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วควรเช็ดให้แห้งทุกครั้ง นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีน้ำหอมหรือมีส่วนผสมของสารเคมี รวมถึงการใช้แป้งฝุ่นหรือสารระงับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อป้องกันการระคายเคือง