Pilocarpine (พิโลคาร์พีน)

Pilocarpine (พิโลคาร์พีน)

Pilocarpine (พิโลคาร์พีน) เป็นยาในกลุ่มโคลิเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Cholinergic Agonists) ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นระบบประสาทที่ตัวรับโคลิเนอร์จิก เพื่อเพิ่มการหลั่งน้ำลายในปาก ใช้รักษาอาการปากแห้งที่เกิดจากการฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ และอาการปากแห้งที่เกิดจากกลุ่มอาการโจเกรน ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการปากแห้งและตาแห้ง นอกจากนี้ อาจนำไปใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

เกี่ยวกับยา Pilocarpine

กลุ่มยา โคลิเนอร์จิก อะโกนิสต์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการปากแห้งที่เกิดจากการฉายรังสีและกลุ่มอาการโจเกรน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน สารละลาย
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์  Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า
ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอ
ในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

1957 Pilocarpine rs

คำเตือนในการใช้ยา Pilocarpine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้หรือยาชนิดอื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัวหรือประวัติการเจ็บป่วยก่อนใช้ยา  
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่ซื้อรับประทานเอง ยาตามใบสั่งแพทย์ วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพรใด ๆ เนื่องจากแพทย์อาจปรับเปลี่ยนปริมาณยาให้เหมาะกับการใช้ยาของผู้ป่วย และเฝ้าดูผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
  • ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ โรคหอบหืดที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือต้อหินชนิด Narrow Angle Glaucoma ไม่ควรใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้ทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้หรือไม่
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยานี้หากต้องการมีบุตร เนื่องจากยานี้อาจทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ในทั้งชายและหญิงลดต่ำลง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังให้นมบุตร แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้จะถูกส่งผ่านน้ำนมหรือเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังรับประทานยา Pilocarpine อยู่
  • ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการมองเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืนหรือในที่ที่มีแสงสว่างน้อย ผู้ป่วยจึงควรระมัดระวังหากต้องขับรถหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายในบริเวณที่มีแสงน้อย
  • ยานี้อาจทำให้มีเหงื่อออกมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ ผู้ป่วยจึงควรดื่มน้ำให้มาก ระวังไม่ให้ร่างกายเกิดความร้อนมากเกินไปขณะออกกำลังกายท่ามกลางอากาศร้อน หากมีปัญหาในการดื่มน้ำหรือสงสัยว่าร่างกายอาจขาดน้ำ ควรไปพบแพทย์ทันที

ปริมาณการใช้ยา Pilocarpine  

อาการปากแห้งจากการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งศีรษะและคอ
ตัวอย่างการใช้ยา Pilocarpine เพื่อรักษาอาการปากแห้งจากการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งบริเวณศีรษะและคอ

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และหากจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยา อาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาตามแพทย์สั่งหลังจากรับประทานยานี้ได้ 4 สัปดาห์ จนกว่าจะได้ผลการรักษาตามต้องการ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม โดยรับประทานยา วันละ 3 ครั้ง

อาการปากแห้งและตาแห้งจากกลุ่มอาการโจเกรน
ตัวอย่างการใช้ยา Pilocarpine เพื่อรักษาอาการปากแห้งและตาแห้งจากกลุ่มอาการโจเกรน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน และให้หยุดใช้ยาหากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากรับประทานยาไปแล้วเป็นเวลา 3 เดือน

โรคต้อหินมุมเปิด
ตัวอย่างการใช้ยา Pilocarpine เพื่อรักษาโรคต้อหินมุมเปิด  

ผู้ใหญ่ หยดสารละลาย Pilocarpine HCl หรือ Pilocarpine Nitrate ที่มีความเข้มข้น 0.5-4 เปอร์เซ็นต์ ลงบนตาข้างที่มีอาการ 4 ครั้ง/วัน และอาจปรับปริมาณยาตามการตอบสนองของผู้ป่วย

การใช้ยา Pilocarpine

  • รับประทานยาตามฉลากยาและตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยาให้
  • ห้ามรับประทานยาในปริมาณน้อยกว่า มากกว่า หรือนานกว่าที่แพทย์แนะนำ และไม่ควรหยุดรับประทานยาหากไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • รับประทานยาในเวลาเดิมและใช้ยาเป็นประจำ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
  • อาจรับประทานยานี้ในตอนท้องว่างหรือหลังจากรับประทานอาหารก็ได้       
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาที่ต้องรับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องรับประทานยาทดแทน
  • ยานี้ถูกใช้เพียงเพื่อควบคุมอาการของผู้ป่วย แต่จะไม่สามารถใช้รักษาโรคหรือภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้
  • เก็บยาไว้ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Pilocarpine

ผู้ป่วยที่รับประทานยา Pilocarpine อาจได้รับผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล หนาวสั่น ตามัว น้ำตาไหล อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ตัวอุ่นหรือตัวร้อน มีเหงื่อออกมาก ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ เหนื่อยล้าผิดปกติ เวียนศีรษะ ปวดท้อง มีผิวหนังแดงโดยเฉพาะบริเวณคอหรือหน้า ปวดข้อต่อ ปวดเมื่อยหรือเจ็บกล้ามเนื้อ มีอาการบวมที่มือ แขน ขาด้านล่าง เท้า หรือข้อเท้า หรือแสบร้อนกลางอก เป็นต้น ซึ่งหากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที

  • สับสน
  • มีอาการสั่น
  • ท้องเสีย
  • การมองเห็นเปลี่ยนไป
  • หัวใจเต้นช้าหรือเต้นเร็วผิดปกติ
  • หายใจไม่อิ่ม
  • ปวดตุบ ๆ บริเวณคอหรือหู
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • มีอาการแพ้ยา เช่น มีอาการบวมที่ใบหน้า ปาก ลิ้น หรือคอ หายใจลำบาก หรือเป็นลมพิษ เป็นต้น