Pitavastatin (พิทาวาสแตติน)
Pitavastatin (พิทาวาสแตติน) เป็นยารักษาภาวะไขมันในเลือดสูงที่นำมาใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร โดยจะออกฤทธิ์ลดระดับคลอเรสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) และไตรกีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) ในขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มระดับคลอเรสเตอรอลชนิดที่ดี (High-Density Lipoprotein: HDL) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและภาวะหัวใจขาดเลือด นอกจากนี้ อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Pitavastatin
กลุ่มยา | ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statin) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาไขมันในเลือดสูง |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ยา Pitavastatin ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ สำหรับผู้ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและผลกระทบต่อทารกก่อนให้นมบุตร เพราะตัวยาอาจซึมผ่านน้ำนมแม่ไปสู่ทารก |
คำเตือนในการใช้ยา Pitavastatin
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Pitavastatin รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง อาทิ ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาเจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil) ยาโคลชิซิน (Colchicine) วิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin) และยาในกลุ่มไฟเบรต (Fibrates)
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางสุขภาพ โดยเฉพาะโรคไต โรคตับ โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือการดื่มสุราในปริมาณมาก
- ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดบ่อยครั้งตามคำสั่งของแพทย์
- แจ้งให้แพทย์ทราบขณะใช้ยาหากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทันตกรรมใด ๆ
- จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์หรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างถาวร โดยเฉพาะในช่วงที่รับประทานยา Pitavastatin เพราะอาจส่งผลให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์เพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพตับหรือตับถูกทำลายได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันหรือคอเลสเตอรอลสูงขณะใช้ยานี้ เพื่อป้องกันยามีประสิทธิภาพลดลงหรือใช้ไม่ได้ผล
- ผู้ป่วยสูงอายุอาจไวต่อผลข้างเคียงจากตัวยามากกว่าผู้ป่วยในช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะปัญหากล้ามเนื้อสลายตัว ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงภาวะไตวายได้
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ หากผู้ป่วยวางแผนจะตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพราะอาจต้องหยุดใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
- ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ในการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในระหว่างการใช้ยา นี้
- ผู้ป่วยที่ต้องให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยา Pitavastatin ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนให้นมบุตร
ปริมาณการใช้ยา Pitavastatin
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
ภาวะไขมันในเลือดสูง
ตัวอย่างการใช้ยา Pitavastatin เพื่อรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง
เด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป หากมีภาวะไขมันในเลือดสูงอันเนื่องมาจากพันธุกรรมให้เริ่มรับประทานยาปริมาณ 2 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 1–4 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากรับประทานร่วมกับยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1–2 มิลลิกรัม/วัน
การใช้ยา Pitavastatin
วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยมีดังนี้
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์ร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากแพทย์อาจปรับปริมาณการใช้ยาบ่อยครั้ง หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสมอ
- รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ แต่ควรรับประทานในเวลาเดียวกันของทุกวัน
- รับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
- หากต้องรับประทานยาลดคอเลสเตอรอลชนิดอื่น อย่างยาที่ไปจับกับกรดน้ำดี (Bile Acid Sequestrants: BAS) ผู้ป่วยควรรับประทานยา Pitavastatin อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก่อนรับประทานยาลดคอเลสเตอรอลชนิดอื่นหรืออย่างน้อย 4 ชั่วโมง หลังรับประทานยาชนิดดังกล่าวไปแล้ว เพราะอาจลดการดูดซึมยา Pitavastatin ได้
- ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องหยุดใช้ยาสักระยะหากรับประทานยา Pitavastatin แล้วพบปัญหาสุขภาพ เช่น อาการชักที่ไม่สามารถควบคุมได้ ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง การติดเชื้อหรืออาการป่วยที่รุนแรง ภาวะขาดน้ำ ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือการรักษาฉุกเฉิน เป็นต้น
- ผู้ป่วยควรรับประทานยาชนิดนี้ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนักตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ได้มากที่สุด
- หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดร่วมกับเกิดอาการที่รุนแรงอย่างหมดสติหรือมีปัญหาในการหายใจ ควรรีบพบแพทย์ทันที
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Pitavastatin
โดยทั่วไป การใช้ยาพิทาวาสแตตินอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ อาทิ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดแขนหรือขา ปวดหลัง ท้องเสีย หรือท้องผูก ซึ่งหากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อหาแนวทางการรักษาเพิ่มเติม และหากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์เช่นกัน
- สับสน มีปัญหาด้านความจำ
- กล้ามเนื้อสะโพก หัวไหล่ คอ หรือหลังอ่อนแรง
- มีปัญหาในการยกแขน การปีน หรือการยืน
- มีปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น อาเจียน ปวดบริเวณข้างลำตัวหรือหลังส่วนล่าง ปัสสาวะเพียงเล็กน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย บวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
- มีปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง เหนื่อยล้า ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีดคล้ายดินโคลน ดีซ่าน เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ทันที หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือพบได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น
- มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่น คัน ลมพิษ หายใจลำบาก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
- เกิดโรคเบาหวาน หรือทำให้อาการของโรคเบาหวานแย่ลง
- มีปัญหากล้ามเนื้อที่อาจนำไปสู่โรคไตวาย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ มีจุดกดเจ็บ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ เนื้อล้าผิดปกติ หรือมีปัสสาวะสีเข้มร่วมด้วย
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว