Pneumococcal Disease

ความหมาย Pneumococcal Disease

Pneumococcal Disease คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงอย่างเป็นไข้ ไอ เจ็บหน้าอก ปอดบวม ไปจนถึงอาการรุนแรงมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเสียชีวิต เป็นต้น โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้แพร่กระจายผ่านทางน้ำลายหรือเสมหะจากการไอ จาม และการใช้ภาชนะร่วมกัน และเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

อาการของ Pneumococcal Disease

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายเป็นไข้ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกหนาว เหงื่อออกง่าย เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูงติดต่อกันเกิน 3 วัน ง่วงซึมหรือสับสน ปากซีด คอแข็ง เสมหะมีเลือดปน มือเท้าเย็นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย หายใจถี่ ชัก เป็นต้น เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของ Pneumococcal Disease หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ส่วนอาการที่เกิดในเด็กอาจแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ แต่หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยด่วน

  • ร้องไห้ผิดปกติ
  • หงุดหงิดง่าย
  • เด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • เด็กอายุระหว่าง 3-6 เดือน มีไข้สูงเกินกว่า 39 องศาเซลเซียส
  • เด็กอายุมากกว่า 2 ปี มีอาการป่วยต่าง ๆ นานเกิน 3 วัน

1827 IPD rs

สาเหตุของ Pneumococcal Disease

Pneumococcal Disease เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae ซึ่งมีมากกว่า 90 สายพันธุ์ โดยแบคทีเรียชนิดนี้มักอาศัยอยู่ในลำคอและโพรงจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ และแพร่กระจายจากคนสู่คนจากน้ำลายหรือเสมหะผ่านการไอ จาม จูบ หรือการใช้หลอดดูดร่วมกัน

นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น เช่น

  • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
  • เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก
  • ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่กำลังรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด ผู้ป่วยเอดส์ เป็นต้น
  • ผู้ที่มีปัญหาน้ำไขสันหลังรั่ว
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น
  • ผู้ที่ถูกผ่าตัดนำม้ามออกไป หรือม้ามทำงานผิดปกติ
  • ผู้ที่รับการฝังประสาทหูเทียม

การวินิจฉัย Pneumococcal Disease

เนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae สามารถอยู่ได้หลายส่วนในร่างกาย ทำให้การตรวจวิเคราะห์เพื่อหาเชื้อทำได้หลายวิธี ในขั้นแรกแพทย์มักจะตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยใช้หูฟังและสอบถามประวัติการรักษาโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วย หลังจากนั้นอาจตรวจด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • วัดความดันเลือด วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบค่าความดันเลือดของผู้ป่วยในขณะนั้น หากความดันเลือดต่ำลงมาก อาจบอกได้ว่ามีการติดเชื้อรุนแรงเกิดขึ้น
  • ตรวจเลือด โดยวิเคราะห์จากปริมาณเม็ดเลือดขาว หากมีปริมาณมากขึ้นหมายความว่าอาจมีเชื้อโรคในร่างกาย
  • เอกซเรย์ทรวงอก ในกรณีที่ต้องการดูความผิดปกติในร่างกาย เช่น ดูความผิดปกติของน้ำในช่องปอด เป็นต้น
  • เจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อวิเคราะห์จากปริมาณเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มมากขึ้นในน้ำไขสันหลัง ซึ่งบ่งบอกว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น

การรักษา Pneumococcal Disease

การรักษา Pneumococcal Disease นั้นทำได้หลายวิธี เบื้องต้นแพทย์อาจประเมินความรุนแรงของอาการ เพื่อดูว่าสามารถให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ที่บ้าน หรือจำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้พักดูแลอาการได้ที่บ้านด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมาก ๆ และแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งแม้อาการจะดีขึ้นหรือหายก่อนยาจะหมดก็ควรกินยาต่อไปให้ครบกำหนด เพราะอาจเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำอีกได้

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดและเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 7-10 วัน และอาจใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วยหากผู้ป่วยติดเชื้อที่ปอดอย่างรุนแรงจนทำให้ไม่สามารถหายใจได้เอง

เมื่อการรักษาเสร็จสิ้น แพทย์อาจนัดมาดูอาการอย่างต่อเนื่องประมาณ 6 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล เพื่อดูว่าเชื้อยังสร้างความเสียหายกับร่างกายหรืออวัยวะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างปอดหรือไม่

ภาวะแทรกซ้อนของ Pneumococcal Disease

ปกติแล้วเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae จะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่หากติดเชื้อบริเวณปอดหรือเยื่อหุ้มสมอง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิตได้

โดยเชื้อ Streptococcus Pneumoniae อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังต่อไปนี้

ไซนัสอักเสบและหูติดเชื้อ

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย มีอาการไม่รุนแรงและอาจเกิดซ้ำได้ แต่ในกรณีที่เป็นซ้ำบ่อยครั้ง อาจต้องผ่าตัดเพื่อใส่ท่อขนาดเล็กที่แก้วหู เพื่อช่วยระบายอากาศและป้องกันการสะสมของเหลวในหูชั้นกลาง

ปอดบวม

ปอดบวมหรือปอดอักเสบสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ติดเชื้อในกระแสเลือด

เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้เกิดอาการอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตัน หรืออวัยวะทำงานล้มเหลว ซึ่งนับเป็นภาวะที่อันตรายมาก เพราะหากรักษาไม่ทันเวลา อาจทำให้ไตวายและเสียชีวิตได้

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ  

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและพบได้มากที่สุด ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายต่อร่างกายในระยะยาวได้ เช่น ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า หรือสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น หากอาการรุนแรงมากก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae แบบไม่รุนแรงนั้น มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพียงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ

การป้องกัน Pneumococcal Disease

เนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae มีมากกว่า 90 สายพันธุ์ จึงทำให้ยากที่จะป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม อาจป้องกันการติดเชื้อในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังสัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อโรคติดอยู่ และไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยวัคซีนจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ วัคซีนสำหรับเด็กเล็ก โดยอาจใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 19 ปีที่มีอาการป่วยได้ และอีกชนิด คือ วัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป แม้การฉีดวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae ได้ทุกสายพันธุ์ แต่ก็สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงได้  
  • เลิกสูบบุหรี่ จากสถิติแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เป็นโรค Streptococcus Pneumoniae กว่าร้อยละ 60 เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ บุหรี่จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคได้ ซึ่งการเลิกสูบบุหรี่อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ และลดการเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอย่างโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วย

ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งเป็นเหตุให้เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น จึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากขึ้น