Polymyxin B (โพลีมัยซินบี)
Polymyxin B (โพลีมัยซินบี) เป็นยารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในส่วนต่าง ๆ ร่างกาย เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่ดวงตา หรือการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ยาชนิดนี้ใช้รักษาได้เฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ฆ่าและป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัส ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ให้หายได้
เกี่ยวกับยา Polymyxin B
กลุ่มยา | ยาปฏิชีวนะ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด ยาหยอดตา |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | ยังไม่มีการระบุหมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ สำหรับผู้ที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้ยาก่อนเสมอ เพราะยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์มากพอจะบอกได้ว่ายานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ รวมถึงซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อเด็กหรือไม่ |
คำเตือนในการใช้ยา Polymyxin B
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังใช้ยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิด เพราะตัวยาอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนเกิดผลข้างเคียงหรือมีประสิทธิภาพลดลง
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางด้านสุขภาพหรือกำลังมีปัญหาสุขภาพอยู่โดยเฉพาะโรคไตระยะรุนแรง
- ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดบ่อยครั้งตามคำสั่งของแพทย์
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ขณะที่ใช้ยา Polymyxin B
- ผู้ป่วยอาจต้องงดรับประทานอาหารบางชนิดตามคำแนะนำของแพทย์ขณะใช้ยา เพราะตัวยาอาจทำปฏิกิริยากับอาหารชนิดนั้น
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียหลังหยุดใช้ยา และอาจมีอาการรุนแรงในผู้ป่วยบางราย ในช่วงที่มีการใช้ยา Polymyxin B จึงไม่ควรซื้อยาแก้ท้องเสียมารับประทานเอง เพราะยาดังกล่าวอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลงและคงอยู่นานขึ้น
- ห้ามใช้ยาโพลีมัยซินบีร่วมกันกับยาบางชนิดที่ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับไตหรือระบบประสาท เช่น ยาอะมิคาซิน ยาโคลิสติน ยาเจนตามัยซิน ยากานามัยซิน ยานีโอมัยซิน ยาพาโรโมมัยซิน ยาสเตรปโตมัยซิน ยาโทบรามัยซิน เป็นต้น
ปริมาณการใช้ยา Polymyxin B
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาอาจแตกต่างกันไปตามโรคของผู้ป่วย โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
ตัวอย่างการใช้ยา Polymyxin B เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
ทารก
เลือกใช้ยาได้ 2 รูปแบบ
- ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อในปริมาณ 25,000-40,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดทุก ๆ 4 หรือ 6 ชั่วโมง
- ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 15,000-40,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดทุก ๆ 12 ชั่วโมง
เด็กและผู้ใหญ่
เลือกใช้ยาได้ 2 รูปแบบ
- ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อในปริมาณ 25,000-30,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดทุก ๆ 4 หรือ 6 ชั่วโมง
- ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 15,000-25,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดทุก ๆ 12 ชั่วโมง
รักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ตัวอย่างการใช้ยา Polymyxin B เพื่อรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
- เริ่มฉีดยาเข้าช่องไขสันหลังในปริมาณ 20,000 ยูนิต วันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3-4 วัน หรือฉีดยาเข้าช่องไขสันหลังในปริมาณ 25,000 ยูนิต วันเว้นวัน จากนั้นฉีดยาเข้าข่องไขสันหลังอย่างต่อเนื่องในปริมาณ 25,000 ยูนิต วันเว้นวัน ผู้ป่วยควรใช้ปริมาณยานี้อย่างน้อย 2 อาทิตย์ หลังจากผลเพาะเชื้อของเหลวจากไขสันหลังเป็นลบและมีระดับน้ำตาลอยู่ในระดับปกติ
เด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่
- เริ่มฉีดยาเข้าช่องไขสันหลังในปริมาณ 50,000 ยูนิต วันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3-4 วัน จากนั้นฉีดยาเข้าช่องไขสันหลังอย่างต่อเนื่องในปริมาณ 50,000 ยูนิต วันเว้นวัน ผู้ป่วยควรใช้ปริมาณยานี้อย่างน้อย 2 อาทิตย์ หลังจากผลเพาะเชื้อของเหลวจากไขสันหลังเป็นลบและมีระดับน้ำตาลอยู่ในระดับปกติ
รักษาการติดเชื้อที่ดวงตา
ตัวอย่างการใช้ยา Polymyxin B เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ดวงตา
ผู้ใหญ่
เลือกใช้ยาได้ 2 รูปแบบ
- ใช้ยาหยอดตาหยดครั้งละ 1-3 หยด ทุก ๆ ชั่วโมง โดยอาจเว้นระยะการใช้ยามากกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
- ฉีดยาบริเวณเยื่อบุตาขาวในลูกตาในปริมาณ 100,000 ยูนิต/วัน
การใช้ยา Polymyxin B
วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้
- แพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้ฉีดยาโพลีมัยซินบีให้กับผู้ป่วย โดยจะฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ กล้ามเนื้อ ดวงตา หรือช่องไขสันหลัง
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการงดรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม การทำกิจกรรมบางชนิด หรือยาที่กำลังใช้อยู่
- ควรมาพบแพทย์ให้ตรงตามนัดหมายทุกครั้ง และแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังจากใช้ยา
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Polymyxin B
ยาโพลีมัยซินบีอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย เวียนศีรษะ ง่วงซึม มีไข้ ปวดศีรษะ มีอาการชาหรือรู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทงตามมือหรือเท้า ปวดหลังส่วนล่างหรือข้างลำตัว สั่น เสียการทรงตัว คอแข็ง มีปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อและการประสานงานของอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น หากมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงที่รุนแรงก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เช่น
- อาการแพ้ยา โดยอาจทำให้มีอาการ เช่น เกิดผื่น ลมพิษ คัน ผิวหนังบวมแดงหรือพอง ผิวลอกที่อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอกหรือบริเวณลำคอ มีปัญหาในการหายใจ การกลืน หรือการพูด เสียงแหบผิดปกติ หรือมีอาการบวมบริเวณปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอ และใบหน้า เป็นต้น
- ท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรียคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile) โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้ยาหรือหลังหยุดยาไปแล้ว 2-3 เดือน จึงอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดท้อง ปวดเกร็ง ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายเป็นน้ำ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยห้ามรับประทานยาแก้ท้องเสียหรือรักษาอาการดังกล่าวด้วยตนเองหากไม่ได้รับคำแนะนำของแพทย์ เพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง
อย่างไรก็ตาม บางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หากมีความกังวลใจ พบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเช่นกัน