Potassium Chloride (โพแทสเซียมคลอไรด์)
Potassium Chloride (โพแทสเซียมคลอไรด์) เป็นยาที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงใช้เพื่อชดเชยโพแทสเซียมที่สูญเสียไปเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคหรือการใช้ยาบางชนิด อาการท้องเสียอย่างรุนแรง อาเจียนอย่างหนัก เป็นต้น ทั้งนี้ การได้รับยาชนิดนี้ในปริมาณมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการฉีดยาเข้าเส้นเลือดที่ควรกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
โพแทสเซียมเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะการทำงานของหัวใจ ซึ่งโดยทั่วไปคนเราจะได้รับโพแทสเซียมจากอาหารที่รับประทานอย่างเพียงพออยู่แล้ว พบมากในเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว กล้วย ส้ม สัปปะรด เป็นต้น
เกี่ยวกับ Potassium Chloride
กลุ่มยา | เกลือแร่ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | ป้องกันและรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ด ยาฉีดเข้าเส้นเลือด |
คำเตือนของการใช้ Potassium Chloride
- ผู้ที่มีอาการแพ้โพแทสเซียมคลอไรด์ มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง หรือกำลังใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก (Potassium Sparing Diuretic) เช่น อะมิโรไรด์ ไตรแอมเทรีน และสไปโรโนแล็กโทน ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติป่วยเป็นโรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง ภาวะขาดน้ำขั้นรุนแรง เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ กระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน ท้องเสียเรื้อรัง หรือมีอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อเป็นบริเวณกว้าง เช่น แผลไฟไหม้ขั้นรุนแรง เป็นต้น
- ผู้ที่กำลังรับประทานอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีโพแทสเซียมหรือเกลือทดแทนซึ่งจะลดการเติมโซเดียมแล้วใส่โพแทสเซียมทดแทน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
- หญิงตั้งครรภ์ กำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาชนิดนี้
- ห้ามหยุดใช้ยาชนิดนี้ด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะการหยุดยากะทันหันอาจส่งผลให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
ปริมาณการใช้ Potassium Chloride
รักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำขั้นรุนแรง
- ผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 2.5 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร ให้ฉีดยาที่มีความเข้มข้นไม่เกิน 40 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร เข้าเส้นเลือดในอัตราไม่เกิน 10 มิลลิอิควิวาเลนท์/ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิอิควิวาเลนท์/วัน
- ผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่า 2 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร ให้ยาเข้าเส้นเลือดในอัตราไม่เกิน 40 มิลลิอิควิวาเลนท์/ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิอิควิวาเลนท์/วัน และตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจควบคู่ไปด้วย เนื่องจากการให้ยาในปริมาณสูงอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้นได้
รักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำที่ไม่รุนแรง
รับประทานยาชนิดเม็ดปริมาณ 40-100 มิลลิอิควิวาเลนท์/วัน โดยแบ่งรับประทานหากใช้ในปริมาณมากกว่า 20 มิลลิอิควิวาเลนท์/วัน
ป้องกันภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
รับประทานยาชนิดเม็ดปริมาณ 20 มิลลิอิควิวาเลนท์/วัน
การใช้ Potassium Chloride
- ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือใช้ยาติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์สั่ง
- รับประทานยาพร้อมน้ำเปล่าในระหว่างรับประทานอาหารหรือทันทีหลังจากรับประทานอาหาร
- ห้ามเคี้ยวยาหรือบดยานี้ก่อนใช้ ให้กลืนยาลงไปทั้งเม็ดหรือทั้งแคปซูลเพื่อให้ยาละลายทีละน้อยและออกฤทธิ์ช้า ๆ การเคี้ยวยาก่อนกลืนอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปากและลำคอได้
- ผู้ที่มีปัญหาในการกลืนยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผสมยากับน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้อย่างน้อย 4 ออนซ์ หรือประมาณ 120 มิลลิลิตร แล้วดื่มทีละน้อยจนหมดภายใน 5-10 นาที ทั้งนี้ ยาอาจหลงเหลืออยู่ภายในแก้ว หลังจากดื่มเสร็จจึงควรเติมน้ำลงไปเล็กน้อย คนเบา ๆ แล้วดื่มอีกครั้ง
- ก่อนรับประทานยาชนิดน้ำ ให้วัดปริมาณยาด้วยกระบอกฉีดยา ช้อนตวงยา หรือถ้วยตวงยาทุกครั้ง
- หากลืมรับประทานยาให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงครั้งถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานครั้งนั้น โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- ระหว่างใช้ยานี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือดและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(https://www.pobpad.com/ekgecg)เป็นระยะ เพื่อประเมินอาการและระยะเวลาที่ต้องใช้ยา
- แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่ใช้ยาชนิดนี้ควบคุมการรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ฟักทอง ผักโขม ถั่ว บร็อกโคลี่ แตงโม น้ำส้ม กล้วย แคนตาลูป นมหรือโยเกิร์ตไขมันต่ำ เป็นต้น
- ปิดฝาให้สนิทหลังใช้และเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยหลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ Potassium Chloride
การใช้ยาชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด จุกเสียดท้อง หรือสังเกตเห็นยาโพแทสเซียมคลอไรด์ปะปนออกมากับอุจจาระ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ทั้งนี้ หากอาการดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ และหากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก บวมตามใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
- มีภาวะโพแทสเซียมสูงเกินปกติ ทำให้มีอาการ เช่น คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดจังหวะ อ่อนเพลีย เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก เป็นต้น
- มีอาการที่บ่งบอกถึงการมีเลือดออกในช่องท้อง เช่น อุจจาระปนเลือด ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด
- ระคายเคืองลำคออย่างรุนแรง