ความหมาย โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism)
Pulmonary Embolism หรือโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด เกิดจากลิ่มเลือดหลุดไปอุดกั้นหลอดเลือดปอด ทำให้ผู้ป่วยมักหายใจหอบเหนื่อย ไอ และเจ็บหน้าอก โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ เช่น อายุ พันธุกรรม โรคประจำตัว รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
อาการของโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปริมาณและขนาดของลิ่มเลือดที่ไปอุดกั้นในปอด ซึ่งอาการที่พบทั่วไป ได้แก่
- หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก ซึ่งมักเกิดขึ้นฉับพลัน และอาการมักแย่ลงเมื่อผู้ป่วยออกแรงหรือออกกำลังกาย
- เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงในขณะที่หายใจเข้าลึก ๆ เมื่อไอ รับประทานอาหาร ตอนที่โค้งหรืองอตัว อีกทั้งอาการจะแย่ลงเมื่อมีการออกแรง และอาการเจ็บหน้าอกจะไม่หายไปแม้นั่งพักแล้วก็ตาม
- ไอ ผู้ป่วยอาจไอแล้วมีเลือดปนมากับเสมหะ หรือไอเป็นเลือด
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ วิงเวียนศีรษะ มีเหงื่อออกมาก กระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ชีพจรเต้นอ่อน ผิวมีสีเขียวคล้ำ ปวดขาหรือขาบวม โดยเฉพาะบริเวณน่อง และอาจหน้ามืดเป็นลมหรือหมดสติ
โรค Pulmonary Embolism อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการหายใจเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ไอมีเลือดปนออกมาด้วย หรือสงสัยในอาการป่วยของตนเอง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาได้ทันท่วงที อาจทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ลดลงจาก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 2-8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
สาเหตุของโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
โรค Pulmonary Embolism มักมีสาเหตุมาจากลิ่มเลือดที่อุดตันบริเวณหลอดเลือดขาหลุดไปอุดกั้นหลอดเลือดปอด และบางครั้งอาจเกิดจากการอุดตันของไขมัน คอลลาเจน เนื้อเยื่อ เนื้องอก หรือฟองอากาศในหลอดเลือดปอดได้เช่นกัน
โดยปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ ได้แก่
- อายุ ผู้ที่มีอายุมากเสี่ยงเผชิญโรคนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้หรือมีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำมาก่อน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคได้มากขึ้น
- อุบัติเหตุ เช่น กระดูกหัก หรือกล้ามเนื้อฉีก อาจทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายจนเกิดลิ่มเลือดได้
- การเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โดยเฉพาะภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งอื่น ๆ ที่มีการแพร่กระจายของเซลล์เนื้อร้าย
- การรักษาโรค เช่น การผ่าตัดใหญ่ หรือการทำเคมีบำบัด อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดได้เช่นกัน
- ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เช่น การนอนบนเตียงเนื่องจากความเจ็บป่วยหลังการผ่าตัดหรือหลังได้รับอุบัติเหตุ การใส่เฝือก การนั่งโดยสารเครื่องบินหรือรถยนต์เป็นเวลานาน รวมถึงมีอาชีพที่ต้องนั่งเป็นเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ เพราะอาจทำให้เลือดไหลเวียนช้าลงและเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด
- การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เสี่ยงต่อโรคนี้และเสี่ยงเผชิญปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย
- ภาวะน้ำหนักตัวเกิน รวมถึงโรคอ้วน อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ โดยเฉพาะผู้หญิงอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินที่สูบบุหรี่หรือมีความดันโลหิตสูง
- การตั้งครรภ์ น้ำหนักของทารกในครรภ์อาจไปกดทับเส้นเลือดดำบริเวณกระดูกเชิงกราน ทำให้เลือดไหวเวียนได้ช้าลงจนเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด
- การใช้ฮอร์โมนเสริม ความเสี่ยงในการเกิดเลือดแข็งตัวจนเป็นลิ่มเลือดอาจเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือเทสโทสเตอโรน ซึ่งอาจมาจากการใช้ยาคุมกำเนิดหรือการใช้ฮอร์โมนทดแทน และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากเป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือสูบบุหรี่
การวินิจฉัยโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติและอาการของผู้ป่วย เช่น หายใจหอบเหนื่อย มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ หัวใจเต้นเร็ว มีหลอดเลือดโป่งที่คอ พบลิ่มเลือดอุดตันที่ขา มีเส้นเลือดขอด หรือเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น มีอายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติการเกิดลิ่มเลือดมาก่อน
Pulmonary Embolism เป็นโรคที่วินิจฉัยยาก เนื่องจากอาการของผู้ป่วยจะแตกต่างกันออกไปซึ่งอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ ได้ด้วย ดังนั้น แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติม ดังนี้
- การตรวจเลือด เพื่อหาค่าดีไดเมอร์ (D-Dimer) ซึ่งเป็นค่าที่บอกถึงการมีลิ่มเลือดในหลอดเลือด แต่ปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจส่งผลต่อค่าดีไดเมอร์ได้เช่นกัน รวมถึงตรวจระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด หากก๊าซเหล่านี้ลดต่ำลงแสดงว่าอาจมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
- การเอกซเรย์ทรวงอก แม้วิธีนี้จะไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ แต่จะแสดงให้เห็นถึงการทำงานของปอดและหัวใจ โดยบางครั้งอาจพบว่าเนื้อปอดบางจุดมีปริมาณหลอดเลือดลดลง ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยต่อไปว่าเกิดจากโรคนี้หรือไม่
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจความผิดปกติภายในหลอดเลือดแดงที่ปอด หรือแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธี V/Q Scan เพื่อตรวจอากาศและเลือดภายในปอด หากพบว่ามีอากาศแต่ไม่มีเลือดไปเลี้ยงในปอด อาจแสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรค Pulmonary Embolism ได้
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสร้างภาพอวัยวะภายในที่ต้องการตรวจ เหมาะสำหรับการวินิจฉัยโรคในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์
- การอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจหาลิ่มเลือดในหลอดเลือดบริเวณขาและหลังหัวเข่า
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว และอาจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บ่งชี้ถึงภาวะลิ่มเลื่อดอุดตันได้
- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ วิธีนี้จะแสดงให้เห็นว่าหัวใจห้องล่างขวาโต เบียดผนังกั้นหัวใจห้องล่างไปทางหัวใจห้องล่างซ้าย และอาจมีลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว ซึ่งบ่งบอกว่ามีความดันในปอดสูงที่อาจเกิดจากโรคนี้ นอกจากนี้ การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจยังสามารถใช้แยกสาเหตุอื่น ๆ ของการป่วยได้ด้วย
- การฉีดสีดูหลอดเลือดปอด เป็นวิธีการวินิจฉัยที่แม่นยำและชัดเจน แพทย์มักเลือกใช้วิธีการนี้เมื่อไม่สามารถวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่น ๆ แต่การฉีดสีดูหลอดเลือดปอดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะชั่วคราว หรือสีที่ใช้อาจส่งผลให้ไตเกิดความเสียหายสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของไต
การรักษาโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
การรักษาโรคนี้ในเบื้องต้น ได้แก่ การฟื้นฟูกู้ชีวิต ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการช็อกหรือหัวใจวาย และการรักษาลิ่มเลือดที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดใหม่และไม่ให้ลิ่มเลือดเก่ามีขนาดใหญ่ขึ้น หากรักษาได้ทันท่วงทีจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้
แนวทางการรักษาโรค Pulmonary Embolism มีวิธีการดังต่อไปนี้
- การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาเฮพาริน ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำหรือใต้ผิวหนัง นิยมใช้คู่กับการรับประทานยาวาร์ฟารินเป็นเวลาหลายวันจนกว่าจะเห็นผล อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีเลือดออกง่าย เป็นต้น
- การใช้ยาสลายลิ่มเลือด แม้ลิ่มเลือดมักสลายไปเองได้ แต่ยาสลายลิ่มเลือดจะเร่งให้ลิ่มเลือดสลายตัวเร็วขึ้น โดยยาสลายลิ่มเลือดอาจทำให้มีเลือดออกมากผิดปกติได้ ดังนั้น ยาชนิดนี้จึงถูกนำมาใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิตเท่านั้น
- การสอดท่อเข้าทางหลอดเลือด ในกรณีที่ลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่และเป็นอันตรายต่อชีวิต แพทย์จะสอดท่อเข้าทางหลอดเลือดเพื่อกำจัดลิ่มเลือดที่อุดตัน
- การใช้ตะแกรงกรองลิ่มเลือด เพื่อกรองลิ่มเลือดไม่ให้ไปอุดกั้นที่ปอด โดยแพทย์จะใส่ตะแกรงบริเวณหลอดเลือดดำใหญ่อินฟิเรียร์เวนาคาวา ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่ส่งตรงจากขามาสู่หัวใจห้องขวา เหมาะสำหรับรักษาผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดได้ หรือรับประทานยารักษาแล้วไม่ได้ผล
- การผ่าตัด แพทย์จะผ่าตัดกำจัดลิ่มเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอาการช็อก ไม่สามารถใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้ หรือรักษาด้วยการใช้ยาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
ภาวะแทรกซ้อนของโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
เมื่อเกิดโรค Pulmonary Embolism หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อผลักดันให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่หลอดเลือดที่มีลิ่มเลือดอุดกั้นอยู่ จึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ ความดันเลือดในปอดหรือหัวใจห้องซ้ายสูง ซึ่งจะส่งผลให้หัวใจอ่อนกำลังลงได้ และเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะความดันในปอดสูงเรื้อรัง ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันการณ์
การป้องกันโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่ขา รวมถึงการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาจช่วยป้องกันการเกิดโรค Pulmonary Embolism ได้ ซึ่งสามารถปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- ควบคุมน้ำหนักตัว รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีไขมันต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคอ้วนหรือการมีน้ำหนักตัวเกินซึ่งเสี่ยงเกิดการอุดตันของไขมันและลิ่มเลือด และเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อระบบต่าง ๆ
- เตรียมตัวก่อนการเดินทางที่ต้องนั่งโดยสารเป็นเวลานาน เช่น ดื่มน้ำเยอะ ๆ ลุกขึ้นเดินบ้างหลังจากนั่งเป็นเวลานาน งอเข่าหรือบริหารเข่าและข้อเท้าในระหว่างนั่งโดยสารทุก ๆ 15-30 นาที เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด
- เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกายบริหารขาด้วยการเดิน หรือนอนราบแล้วใช้หมอนรองเพื่อยกก้นให้สูงขึ้นประมาณ 4-6 นิ้ว ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เพิ่งผ่าตัดเสร็จ เพราะนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ด้วย
- ใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ใช้ถุงน่องแบบรัด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยและมีราคาย่อมเยา หรือใช้เครื่องบีบเค้นด้วยลม เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณขาให้ดีขึ้นและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- เลิกสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้จึงควรละเว้นพฤติกรรมดังกล่าว
- รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด แพทย์มักให้ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดรับประทานยานี้ก่อนและหลังการผ่าตัด รวมถึงผู้ป่วยภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งด้วย