แรนิทิดีน (Ranitidine)

แรนิทิดีน (Ranitidine)

Ranitidine (แรนิทิดีน) เป็นยาในกลุ่มยับยั้งฮิสตามีนชนิดที่ 2 (Histamine-2 blockers) ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ภาวะกรดไหลย้อน อาการอาหารไม่ย่อย อาการแสบร้อนกลางอก หรืออาการอื่น ๆ ที่เกิดจากการไหลย้อนของกรดกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร 

รวมถึงใช้รักษากลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปจากการเกิดเนื้องอกบริเวณตับอ่อนหรือลำไส้เล็กส่วนต้น และใช้รักษาอาการแสบร้อนกลางอกหรือระคายเคืองกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการรับประทานยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวดชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นเวลานานด้วย     

Ranitidine

เกี่ยวกับยา Ranitidine

กลุ่มยา ยาต้านฮีสตามีนชนิดที่ 2 (Histamine-2 Blockers)
ประเภทยา ยาที่หาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ แต่ยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่ามีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา เช่นเดียวกันกับผู้ที่กำลังให้นมบุตร เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าตัวยาสามารถซึมผ่านน้ำนมมารดาและก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกหรือไม่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

 

คำเตือนของการใช้ยา Ranitidine

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Ranitidine รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่าตัวยามีความปลอดภัยต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบุหรี่ในช่วงที่รับประทานยานี้ เพราะอาจลดประสิทธิภาพของยาได้

การใช้ยา Ranitidine อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดบวม หากมีสัญญาณของโรคปอดบวมในระหว่างที่ใช้ยา เช่น มีไข้ ไอ เสมหะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว เจ็บหน้าอก และหายใจไม่อิ่ม ควรไปพบแพทย์

ปริมาณการใช้ยา Ranitidine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Ranitidine ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้

แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer)

ตัวอย่างการใช้ยา Ranitidine เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

เด็กอายุ 1 เดือนถึง 16 ปี รับประทานยา 2–4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม จากนั้นรับประทานยาปริมาณเดิม วันละ 1 ครั้ง เพื่อควบคุมอาการ หรือฉีดยาเข้าเส้นเลือด 2–4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งให้ทุก 6–8 ชั่วโมง และปริมาณยาสูงสุดไม่เกินครั้งละ 50 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานยา 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง จากนั้นรับประทานยาปริมาณเดิม วันละ 1 ครั้งก่อนนอน เพื่อควบคุมอาการ โดยส่วนใหญ่ต้องใช้ยารักษาประมาณ 6 สัปดาห์

แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal Ulcer)

ตัวอย่างการใช้ยา Ranitidine เพื่อรักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น

เด็กอายุ 1 เดือนถึง 16 ปี รับประทานยา 2–4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม จากนั้นรับประทานยาปริมาณเดิม วันละ 1 ครั้ง เพื่อควบคุมอาการ หรือฉีดยาเข้าเส้นเลือด 2–4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งให้ทุก 6–8 ชั่วโมง และปริมาณยาสูงสุดไม่เกินครั้งละ 50 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานยา 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือ 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน หรือฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเส้นเลือด 50 มิลลิกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม

หลอดอาหารอักแสบและมีแผล (Erosive Esophagitis) 

ตัวอย่างการใช้ยา Ranitidine เพื่อรักษาอาการหลอดอาหารอักแสบและมีแผล

เด็กอายุ 1 เดือนถึง 16 ปี รับประทานยา 5–10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง

เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานยา 150 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง จากนั้นรับประทานยาปริมาณเดิม วันละ 2 ครั้ง โดยระยะเวลาในการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 48 สัปดาห์ หรือฉีดยาเข้าเส้นหรือกล้ามเนื้อ 50 มิลลิกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง

อาการจุกเสียดแน่นท้องจากโรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia)

ตัวอย่างการใช้ยา Ranitidine เพื่อป้องกันอาการจุกเสียดแน่นท้องจากโรคกระเพาะอาหาร

เด็ก รับประทานยา 75 มิลลิกรัมพร้อมน้ำ ควรรับประทานยาก่อนมื้ออาหาร 30–60 นาที โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 150 มิลลิกรัม และใช้ยาติดต่อกันสูงสุดไม่เกิน 14 วัน

ผู้ใหญ่ รับประทานยา 75–150 มิลลิกรัมพร้อมน้ำ ควรรับประทานยาก่อนมื้ออาหาร 3060 นาที และใช้ยาติดต่อกันสูงสุดไม่เกิน 14 วัน

การใช้ยา Ranitidine

ผู้ป่วยควรใช้ยาตามแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนด โดยทั่วไปผู้ที่เป็นแผลในทางเดินอาหารควรได้รับยาต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์หลังจากการใช้ยา หรือเกิดผลข้างเคียงจากการแพ้ยา ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ทันที

การรับประทานยาชนิดเม็ดสามารถรับประทานยาได้ทั้งก่อนหรือหลังมื้ออาหาร ควรรับประทานยาทีเดียวทั้งเม็ด ไม่ควรหัก บด หรือเคี้ยวยาก่อนกลืน หากเป็นยาชนิดน้ำ ควรตวงยาด้วยช้อนตวงยาหรือหลอดดูดยาเท่านั้น ไม่ควรใช้ช้อนทั่วไปในการตวงยาเพราะอาจทำให้ปริมาณยาคลาดเคลื่อน 

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนดให้ใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าหากนึกขึ้นได้ตอนที่ใกล้กับเวลาใช้ยาครั้งถัดไปให้ข้ามไปใช้ครั้งถัดไป ไม่ต้องใช้ยาซ้ำ 2 ครั้ง ส่วนการเก็บยา ควรเก็บยาในอุณหภูมิห้อง และเก็บให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสง

ปฏิกิริยาระหว่างยา Ranitidine กับยาอื่น

ยา Ranitidine อาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) 
  • ยาในกลุ่มเบนโซไดอะเซปีน (Benzodiazepine) เช่น ยามิดาโซแลม (Midazolam) ยาไตรอะโซแลม (Triazolam) และในกลุ่มยาซัลฟาอย่างยาไกลพิไซด์ (Glipizide) เพราะอาจเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมของยา
  • กลุ่มยาต้านเชื้อราและยาต้านเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาอะทาซานาเวีย (Atazanavir) และยาดีลาเวอร์ดีน (Delavirdine) เพราะอาจลดประสิทธิภาพในการดูดซึมของยา
  • ยาลดกรดชนิดอื่นในปริมาณสูง เช่น ยาซูคราลเฟต (Sucralfate) ปริมาณ 2 กรัม เพราะอาจอาจลดประสิทธิภาพในการดูดซึมของยา

ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยา Ranitidine เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ranitidine

การรับประทานยา Ranitidine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ปวดท้องหรือรู้สึกไม่สบายท้อง อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในช่วงแรกของการใช้ยาและหายได้เองภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ส่วนการใช้ยา Ranitidine ในรูปแบบยาฉีดอาจมีผลข้างเคียงคือเกิดอาการปวดหรืออาการคันบริเวณที่ฉีดยาได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ การใช้ยา Ranitidine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่

  • เกิดภาวะตับอักเสบ มีอาการเหนื่อยง่าย ปวดท้อง ปัสสาวะมีสีเข้ม อาจมีอาการตัวเหลือง ตาสีเหลืองหรือตาสีขาวร่วมด้วย
  • การทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความสับสน กระสับกระส่าย อาการหลอน มองเห็นภาพไม่ชัด หรือมีอาการซึมเศร้า
  • อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย และหายใจสั้น