Risperidone (ริสเพอริโดน)
Risperidone (ริสเพอริโดน) เป็นยาในกลุ่มรักษาอาการทางจิต (Antipsychotic) ทำงานโดยปรับปริมาณของสารส่งผ่านประสาทในสมองที่ไม่สมดุล ที่อาจเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ และโรคออทิซึม รวมไปถึงใช้รักษาปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ ในเด็กอายุ 5-16 ปีและวัยรุ่น เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลงฉับพลัน ทำร้ายตัวเอง หรือก้าวร้าว เป็นต้น
เกี่ยวกับ Risperidone
กลุ่มยา | กลุ่มรักษาอาการทางจิต (Antipsychotic) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | รักษาโรคจิตเภทและโรคไบโพลาร์ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่และเด็ก |
รูปแบบของยา | ยารับประทานขนิดเม็ดและน้ำ ยาฉีด |
คำเตือนการใช้ยา Risperidone
-
ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา หากเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้
- แพ้ยา Risperidone หรือยาตัวอื่น ๆ
- ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุครรภ์ใกล้คลอด ผู้ที่มีแนวโน้มจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ผู้ให้นมบุตรต้องหยุดให้นมอย่างน้อย 12 สัปดาห์หลังจากใช้ยา และหากตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพราะยาอาจส่งผลต่อทารกแรกเกิดได้ และห้ามหยุดใช้ยาเองเด็ดขาด
- ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือศัลยกรรม หรือหัตถการในช่องปาก
- ยาอาจส่งผลให้ผู้ใช้ปรับตัวต่ออากาศร้อนและหนาวได้ไม่ดีเหมือนปกติ
- ไม่ควรขับรถหรือใช้เครื่องจักร เพราะอาจได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาได้
- ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคดังต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
- เคยมีค่าเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ
- ภาวะขาดน้ำ
- ความหนาแน่นของกระดูกต่ำ
- โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria)
- โรคตับหรือโรคไต
- โรคพาร์กินสัน
- โรคเบาหวาน รวมไปถึงผู้ที่มีโอกาสเสี่ยง เช่น เป็นโรคอ้วนหรือมีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน
- โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง จังหวะการเต้นของหัวใจมีปัญหา หรือเคยหัวใจวายไม่นานก่อนต้องการใช้ยา
-
การใช้ยา Risperidone ร่วมกับยาบางชนิดอาจทำให้รู้สึกง่วง หายใจช้าลง หรืออาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาอื่น ๆ เช่น
- ยาแก้ไอตามใบสั่งแพทย์
- ยาระงับปวด
- ยาคลายกล้ามเนื้อ
- ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาลดภาวะซึมเศร้า
- ยาต้านชัก
ปริมาณการใช้ยา Risperidone
-
ผู้ใหญ่
ยารับประทานปริมาณ 2-3 มิลลิกรัม วันละครั้ง
ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 25 มิลลิกรัม ทุก ๆ 2 สัปดาห์ -
ผู้สูงอายุ
ยารับประทานปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 25 มิลลิกรัม ทุก ๆ 2 สัปดาห์ -
เด็ก อายุ 10 ปีขึ้นไป
ยารับประทานปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง
-
ผู้ใหญ่
ยารับประทานปริมาณ 2 มิลลิกรัม วันละครั้ง
ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 25 มิลลิกรัม ทุก ๆ 2 สัปดาห์ -
ผู้สูงอายุ
ยารับประทานปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 25 มิลลิกรัม ทุก ๆ 2 สัปดาห์ -
เด็ก อายุ 13 ปีขึ้นไป
ยารับประทานปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง
-
เด็ก อายุ 5 - 17 ปี
- ยารับประทานปริมาณ 0.25 มิลลิกรัม วันละครั้ง (น้ำหนักตัวมากกว่า 15 กิโลกรัมแต่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม)
- ยารับประทานปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง (น้ำหนักตัวมากกว่า 20 กิโลกรัม)
การใช้ยา Risperidone
- ควรใช้ยาตามปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรกำหนดอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้มากกว่าหรือน้อยกว่าปริมาณที่กำหนด และห้ามใช้ยานานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
- อาการอาจแย่ลงหากไม่ใช้ยาหรือหยุดใช้ยากระทันหัน
- หากใช้ยารับประทานชนิดน้ำ ควรใช้อุปกรณ์ เช่น หลอดดูดยา แก้วยาน้ำหรือช้อนยา (Dosing Spoon) เพื่อให้ได้ปริมาณยาที่แม่นยำ
- หากใช้ยารับประทานชนิดเม็ดที่มากับบรรจุภัณฑ์ พร้อมแผ่นฟอยล์ปิดอยู่ด้านหลัง ให้ค่อย ๆ เปิดฟอยล์ และใช้มือที่แห้งสนิทหยิบยาออกมา ห้ามดันยาให้ทะลุฟอยล์ออกมาโดยเด็ดขาด เพราะยาอาจได้รับความเสียหายได้
- ควรใช้ยาทันทีหลังจากนำยาออกมาจากบรรจุภัณฑ์
- ห้ามผสมยารับประทานชนิดน้ำกับน้ำอัดลมหรือชา
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างใช้ยา
- ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้องหรืออุณหภูมิ 15-25 องศา ให้พ้นจากความชื้น ความร้อนและแสง
- ควรเก็บยาในบรรจุภัณฑ์ที่มากับตัวยา ปิดให้สนิท และเก็บให้พ้นจากเด็ก
- ห้ามนำยาไปแช่แข็ง
- หากลืมกินยาหรือกินยาไม่ตรงตามเวลา อาจทำให้ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ยาไม่สมบูรณ์
- หากลืมกินยา ให้กินยาทันทีเมื่อนึกได้ แต่หากห่างเพียงไม่กี่ชั่วโมงจากเวลากินยาครั้งต่อไป ให้ข้ามยาที่ลืมไป และไม่ควรเพิ่มปริมาณยาครั้งต่อไปเพื่อทดแทน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
- หากกินยาเกินขนาด อาจปรากฏผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม ใจสั่น เคลื่อนไหวได้ช้ากว่าปกติ เป็นลมหรือชัก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ให้ทิ้งยาเมื่อไม่ต้องใช้ยาแล้วหรือยาหมดอายุ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Risperidone
ผลข้างเคียงบางอย่างจากยา Risperidone เช่น ปากแห้ง ปวดหัว เจ็บคอ ท้องเสีย น้ำหนักขึ้นหรือง่วงซึม อาจไม่จำเป็นต้องใช้การรักษาทางการแพทย์ เพราะเมื่อร่างกายคุ้นชินกับตัวยาแล้ว อาการอาจหายไปเอง แต่ถ้าผู้ใช้รู้สึกกังวลหรือยังปรากฏอาการอย่างต่อเนื่อง อาจต้องไปปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะหากปรากฏอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- คันหรือมีผื่นผิวหนัง
- เดินซอยเท้า
- ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย ไม่ยอมอยู่กับที่ อยู่นิ่งไม่ได้
- มีพฤติกรรมก้าวร้าว
- วิตกกังวล
- หน้าตาไม่แสดงอารมณ์
- เห็นภาพไม่ชัดหรือการมองเห็นเปลี่ยนไป
- ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวดวงตาได้
- มีปัญหากับการนอน พูดหรือกลืน
- มีปัญหากับการปัสสาวะหรือปัสสาวะมากผิดปกติ
- มีปัญหากับการจดจำ
- นิ้วสั่น มือสั่น
- แขนหรือขาเมื่อยล้าหรือไม่มีแรง
- มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก บริเวณ หลัง คอและใบหน้า หรือกระตุกเมื่อเคลื่อนไหว
- สูญเสียการทรงตัว