Rivastigmine (ไรวาสติกมีน)
Rivastigmine (ไรวาสติกมีน) เป็นยารักษาโรคความผิดปกติของระบบประสาท ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทในสมองที่มีผลต่อการทำงานของสมอง ความจำ และการเคลื่อนไหวร่างกาย นำมาใช้รักษาภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง โรคพาร์กินสัน หรือโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยา Rivastigmine มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Rivastigmine
กลุ่มยา | ยารักษาโรคความผิดปกติของระบบประสาท |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และโรคพาร์กินสัน |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
คำเตือนในการใช้ยา Rivastigmine
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากเคยเกิดอาการแพ้ทางผิวหนังหรือมีอาการแพ้อื่น ๆ จากการใช้ยานี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพรใด ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ เช่น ยาในกลุ่มเดียวกับยา Rivastigmine ยาอะซีบูโทลอล ยาอะทีโนลอล และยาไบโซโปรลอล เนื่องจากจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง เป็นต้น
- แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
- หลีกเลี่ยงการขับรถและทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัว จนกว่าจะแน่ใจว่ายานี้ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ
- การรับประทานยา Rivastigmine เป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้ หากผู้ป่วยพบอาการที่บ่งบอกถึงภาวะดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ทันที เช่น กระหายน้ำ ผิวแห้ง ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น
- หากต้องการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียก่อนใช้ยาเสมอ
ปริมาณการใช้ยา Rivastigmine
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
รักษาภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 1.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง สามารถเพิ่มปริมาณยาได้อีก 1.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ตามการตอบสนองต่อยา โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
การใช้ยา Rivastigmine
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- รับประทานยา Rivastigmine ในมื้อเช้าและมื้อเย็น
- ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม โดยใช้ยาในเวลาเดิมทุกวัน และไม่ลืมใช้ยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา แต่หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังจากใช้ยา
- หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บรักษายาที่ถูกต้อง และวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Rivastigmine
การใช้ยา Rivastigmine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย น้ำหนักลด ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย แสบร้อนกลางอก มีเหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย และวิตกกังวล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือมีอาการแพ้ยาดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง มีเม็ดพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้เกิดอาการบางอย่าง เช่น มีไข้ ปวดท้องส่วนล่าง เจ็บบริเวณเชิงกราน ปัสสาวะมีเลือดปน เจ็บหรือแสบเมื่อปัสสาวะ รู้สึกต้องปัสสาวะบ่อย หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เป็นต้น
- มีปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย สมดุลร่างกายเปลี่ยนแปลง มีอาการกระตุก มีปัญหาในการพูดหรือการกลืน เกร็ง สั่น หรือมีปัญหาในการเคลื่อนไหว
- รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียอย่างรุนแรง
- มีปัญหาในการได้ยินหรือการมองเห็น
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- ระคายเคืองผิวหนัง
- สับสน ซึมเศร้า
- หัวใจเต้นช้า
- อาเจียนเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำตาลเข้ม
- อุจจาระเป็นสีดำ สีคล้ายน้ำมันดิน หรือมีเลือดปน
- เวียนศีรษะรุนแรง หมดสติ
- ชัก
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน